“บิ๊กฉัตร"สั่งสทนช. แก้ปัญหาน้ำเบ็ดเสร็จ-สร้างความมั่นคงให้ EEC

15 ส.ค. 2561 | 11:32 น.
รองนายกฯ “ฉัตรชัย” เกาะติดการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด ให้ สทนช.เร่งขับเคลื่อน 4 อ่างฯให้แล้วเสร็จตามแผนยุทธศาสตร์น้ำของประเทศมั่นใจแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่จ.จันทบุรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งสามารถผันน้ำส่วนเกินไปสร้างความมั่นคงให้กับพื้นที่ EEC ได้อีกปีละ 100 ล้านลบ.ม. ด้าน สทนช.โชว์แผนน้ำ สนับสนุน-ป้องน้ำท่วม EEC

cht

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผย (15 ส.ค.61) เนื่องในโอกาสลงพื้นติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด ณ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ต.ขุนช่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ว่า การพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนดเป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพื่อการเกษตร การผลักดันน้ำเค็ม และบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ในเขต จ.จันทบุรี รวมทั้งช่วยเสริมความมั่นคงในเรื่องน้ำให้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC )

ทั้งนี้ ตามแผนการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนดให้เต็มศักยภาพนั้น จะต้องสร้างอ่างเก็บน้ำจำนวน 4 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำต้นทุนรวมกันได้ 308.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 249,700 ไร่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 3 แห่ง คือ 1.อ่างเก็บน้ำคลองประแกด ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี มีความจุในระดับกักเก็บ 60.26 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ปัจจุบันการก่อสร้างมีความก้าวหน้าร้อยละ 99.71 เริ่มเก็บกักน้ำแล้ว จะแล้วเสร็จภายในปี 2561 นี้อย่างแน่นอน

cht1

2.อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ต.ขุนช่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี มีความจุในระดับกักเก็บ 80.70 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันการก่อสร้างมีความก้าวหน้า23% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 นี้ และ 3.อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ บ้านบ่อชะอม ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี มีความจุในระดับกักเก็บ 68.10 ล้านลบ.ม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนหัวงาน และเขื่อนปิดช่องเขา มีความก้าวหน้า 44.70% คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2563 ส่วนอีก 1 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด บ้านวังสัมพันธ์ ต.ขุนช่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีความจุมากที่สุดในจำนวน 4 แห่งดังกล่าว คือ 99.50 ล้านลบ.ม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี

“หากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง พร้อมฝายคลองวังโตนดตามแผนการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนดแล้วเสร็จ จะทำให้ลุ่มน้ำคลองวังโตนดเป็นลุ่มน้ำตัวอย่างอีกลุ่มน้ำหนึ่ง ที่สามารถบริหารจัดการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และผลักดันน้ำเค็ม ได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ทั่วทั้งลุ่มน้ำ เสริมความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับลุ่มน้ำคลองวังโตนด ซึ่งเป็นแหล่งปลูกผลไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ไม่ว่า ทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ กล้วยไข่ สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 25,000 ล้านบาท นอกจากนี้สามารถผันน้ำส่วนเกินที่ส่งไปช่วยเสริมความมั่นคงให้กับพื้นที่ EEC ได้อีกถึงปีละประมาณ 100 ล้านลบ.ม.” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

cht2

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยว่า สทนช.ได้วางแผนในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ สนับสนุน EEC ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อรองรับใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆปี เนื่องจากมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว โดยในระยะแรก (10 ปี) ได้วางเป้าหมายที่จะจัดหาแหล่งน้ำและจัดสรรนํ้าเพื่อการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม ให้สมดุลกับภาคการเกษตรที่จะเจริญเติบโตควบคู่ไปด้วยกันทั้งใน ปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการป้องกันนํ้าท่วมในพื้นที่สําคัญของ EEC ด้วย โดยมีแนวทางในการพัฒนา ดังนี้

1.ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม โดยการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีศักยภาพ 7 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำมาบประชัน อ่างเก็บน้ำบ้านบึง อ่างเก็บน้ำคลองหลวง และ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด รวมแล้วสามารถเก็บกักนํ้าได้เพิ่มอีก 102 ล้าน ลบ.ม. จากความจุเดิม 770 ล้าน ลบ.ม.

2.พัฒนาอ่างเก็บนํ้าแห่งใหม่ ในลุ่มนํ้าคลองวังโตนด จ.จันทบุรี จำนวน 4 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และ อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด โดยจะส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มนํ้าวังโตนด 170 ล้าน ลบ.ม./ปี และสามารถบริหารจัดการนํ้าเพื่อผันนํ้า ส่วนเกินในฤดูฝนด้วยระบบท่อ คลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่ EEC ได้ 100 ล้าน ลบ.ม./ปี

cht3

3.เชื่อมโยงแหล่งนํ้าและระบบผันนํ้า ในระยะ 5 ปี จะทําการเชื่อมโยงแหล่งน้ำและผันนํ้าภายในประเทศให้เต็ม ศักยภาพ โดยการปรับปรุงคลองพานทองให้สามารถผันมาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระให้ได้อีก 20 ล้าน ลบ.ม. จากปัจจุบันที่ผันได้ปีละ 30 ล้าน ลบ.ม. และพัฒนาท่อผันนํ้า อ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำหนองค้อ-อ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายเพิ่มเติมเพื่อการบริหารจัดการและรองรับนํ้าต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการผันมาจากลุ่มนน้ำคลองวังโตนด

4.สูบกลับน้ำท้ายอ่างเก็บนํ้า เป็นการบริหารจัดการปริมาณนํ้าท้ายอ่างเก็บนํ้าให้สามารถมีนํ้าใช้การได้เพิ่มขึ้นโดยมีแผนงานสูบนํ้าจากคลองสะพานไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้น้ำ 50 ล้าน ลบ.ม./ปี และ ปรับปรุงระบบสูบน้ำกลับท้ายอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลได้นํ้า 5 ล้าน ลบ.ม./ปี

5.การป้องกันนํ้าท่วม มีแผนการป้องกันน้ำท่วมเมืองระยอง โดยการก่อสร้างสถานีสูบและท่อระบายนํ้าหลาก จากคลองทับมาสู่ทะเลเพื่อลดปริมาณน้ำหลากที่เกิดจากคลองทับมา และแผนงานป้องกันน้ำท่วมพื้นที่อุตสาหกรรม อ.พนัสนิคม และอ.พานทอง จ.ชลบุรี โดยการปรับปรุงคลอง ก่อสร้างประตูระบายน้ำเพื่อ บรรเทานํ้าท่วมพื้นที่ชุมชนและอุตสาหกรรม และ6.แหล่งน้ำสํารองภาคเอกชน บริษัท East Water มีแผนดําเนินการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม โดยการพัฒนาบ่อดินในพื้นที่เอกชน และการขุดสระทับมา มีความจุรวม 77 ล้าน ลบ.ม.

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

“ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่จะทำให้แผนพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุน EEC นั้น เราดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นโครงการที่ทำได้ก่อน ทำทันที ทำให้การเก็บกักน้ำบางส่วนเพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง รวมไปถึงการหารือร่วมระหว่าง 2 กระทรวง จึงทำให้มีการเร่งรัดการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ ๆ ที่อยู่ในแผน ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดสรรน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน ต้องมีความชัดเจนถึง ปริมาณ ช่วงเวลา และสถานที่ที่จัดสรรน้ำให้ และต้องมีการจัดทำข้อตกลง กฎ กติกา การใช้น้ำร่วมกันผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วม”

สำหรับแนวทางดําเนินการเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในระยะยาวของพื้นที่ EEC ซึ่งจําเป็นต้องจัดหาปริมาณนํ้าต้นทุนเพิ่มอีกประมาณ 220 ล้านลบ.ม.ต่อปีนั้น สทนช. ให้ความสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดหาน้ำต้นทุนในทุกรูปแบบทั้งน้ำผิวดิน น้ำบาดาล น้ำทะเล รวมถึงการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า และความเหมาะสมในทุกมิติ และต้องสอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบันและในอนาคตด้วย โดยปัจจุบัน สทนช. อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าวตอนท้าย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว