ประกันสังคมแจงตัวเลขเลิกจ้างปี 61แนวโน้มว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง

01 ส.ค. 2561 | 13:44 น.
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผย ตัวเลขผู้ประกันตนมาตรา 33 เพิ่มขึ้น 17.11% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ประกันตนในปี 2557 ระบุ อัตราการลอยแพลูกจ้างมาตรา 33 ลดลง อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2561 ชี้สถานการณ์การจ้างงานในระบบแรงงานของประเทศไทยยังคงขยายตัวตามทิศทางของการพัฒนาประเทศ

sps

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์การว่างงานของผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม ว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 11,454,211 คน เพิ่มขึ้นถึง 17.11% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ณ วันที่ 1 มกราคม 2557 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 9,781,101 คน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์การจ้างงานในระบบแรงงานของประเทศไทย ยังคงขยายตัวตามทิศทางของการพัฒนาประเทศ

ขณะเดียวกันตั้งแต่ต้นปี 2561 สำนักงานประกันสังคมพบว่า อัตราการเลิกจ้างผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ยังได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง จำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มาขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างงานในเดือนมิถุนายน 2561 มีจำนวน 23,707 ราย คิดเป็นอัตราการถูกเลิกจ้างงานที่ 0.207% เทียบกับเดือนมกราคม 2561 ที่อัตรา 0.222% และจากการประเมินทางสถิติแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มการถูกเลิกจ้างงานของผู้ประกันตนในช่วงอนาคตระยะสั้น มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

suradej

 

ส่วนการขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 ณ เดือนมิถุนายน 2561 มีจำนวน 165,310 ราย ทำสถิติสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้จำนวนครั้งของการขอใช้สิทธิประโยชน์ว่างงานเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อสังเกตอัตราการเลิกจ้างงานของผู้ประกันตนควบคู่กันไปด้วยนั้น จะเห็นได้ว่าอัตราการเลิกจ้างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับในช่วงปี 2559-2560
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้าย สำหรับกรณีการออกจากงาน สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายสิทธิประโยชน์ ดังนี้
1. กรณีเลิกจ้าง ได้รับประโยชน์ทดแทน 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน
2. กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ได้รับประโยชน์ทดแทน 30% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน
3. กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยได้รับประโยชน์ทดแทน 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน

e-book-1-503x62-7