ผ่าแผนมะกัน! ช่วยเหลือเกษตรกร 12,000 ล้านดอลล์

29 กรกฎาคม 2561
290761-2126

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา นายซอนนี่ เพอร์ดิว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ประกาศแผนฉุกเฉินช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรอเมริกันที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการขึ้นภาษีตอบโต้กับประเทศคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็น จีน สหภาพยุโรป (อียู) แคนาดา หรือ เม็กซิโก ซึ่งส่วนใหญ่มีผลมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. แผนความช่วยเหลือครั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมทุ่มงบถึง 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 3.84 แสนล้านบาท)

ปฏิกิริยาตอบรับเกี่ยวกับเรื่องนี้มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หลายฝ่ายในภาคการเมือง รวมทั้งสมาคมเกษตรกรของสหรัฐฯ เอง มองว่า "กำแพงภาษี" ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ทุบยอดส่งออกสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ โดยตรง ราคาก็ถูกลง จึงอยากให้รัฐบาลหาทางเจรจากับประเทศคู่พิพาท เพื่อทำให้ภาษีลดลง มากกว่าที่จะมาให้เงินเยียวยาแบบนี้ แต่ทางกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เอง ก็ได้แถลงยืนยันแล้วว่า มาตรการที่ออกมานั้นเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น แก้ปัญหาจากผลกระทบเฉพาะหน้าไปก่อน หลังจากนี้ก็จะมีมาตรการระยะยาวตามมา


Screen Shot 2561-07-29 at 21.21.31

มาตรการ 'อุ้ม' เกษตรกรในลักษณะนี้ รวมทั้งในมูลค่าวงเงินความช่วยเหลือขนาดนี้ ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ผู้ที่คัดค้านให้เหตุผลว่า การหว่านเงินช่วยเหลือเสี่ยงที่จะให้ผลพวงตามมาอย่างที่ไม่ได้คาดคิด ซ้ำยังอาจขัดต่อกฎกติกาขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) โจเซฟ กลอเบอร์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ประจำกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ปัจจุบัน เป็นนักวิจัยอาวุโส ประจำสถาบันวิจัยนโยบายด้านอาหารระหว่างประเทศ ในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า แผนอนุมัติงบ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ที่ประกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (24 ก.ค.) สามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส มูลค่าวงเงินก็สูงมาก จากเดิมนั้นคิดว่าเป็นวงเงินช่วยเหลือระดับพันล้านดอลลาร์เท่านั้น แต่ที่ประกาศจริง ออกมาสูงถึง 12,000 ล้านดอลลาร์ เป็นเรื่องที่เหนือคาดอยู่มาก

"ในอดีต เคยมีการใช้มาตรการฉุกเฉินเฉพาะหน้ามาก่อนในรูปการได้รับเงินช่วยเหลือ เงินเยียวยาบรรเทาทุกข์ มูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์ แต่ครั้งนี้จำนวนตัวเลขสูงมาก มากจนน่าแปลกใจจริง ๆ" เป็นความเห็นของนักวิจัยอาวุโส ที่ทำงานกับกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ มากว่า 30 ปี รวมถึงการเป็นหัวหน้าคณะผู้เจรจาด้านการเกษตรของสหรัฐฯ

แถลงการณ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า วงเงินความช่วยเหลือสอดคล้องกับตัวเลขประมาณการณ์ความเสียหายจากการขึ้นภาษีอย่างไม่เป็นธรรมของประเทศคู่กรณี ที่จะมีผลต่อสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 11,000 ล้านดอลลาร์ การให้ความช่วยเหลือจะกระทำหลายรูปแบบ ภายใต้การดูแลของสำนักงานสินเชื่อสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodity Credit Corp ที่ก่อตั้งขึ้นมายาวนานมาก ตั้งแต่ยุคที่สหรัฐฯ เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (The Great Depression) เมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา หน่วยงานดังกล่าวสามารถให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่เกษตรกรโดยไม่ต้องรอความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ที่ผ่านมา ในอดีตก็ยังไม่เคยมีการให้ความช่วยเหลือในวงเงินหลักหมื่นล้านดอลลาร์มาก่อน

 

[caption id="attachment_301834" align="aligncenter" width="503"] ©pnmralex ©pnmralex[/caption]

ความช่วยเหลือจะมาในรูปของการจ่ายเงินโดยตรงให้กับผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภท เช่น ถั่วเหลือง ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ข้าวสาลี ฝ้าย ผลิตภัณฑ์นมเนย และสุกร นอกจากนี้ ยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการจัดจำหน่ายแก่ผู้ผลิตสินค้าที่สามารถนำเข้าสู่ระบบของธนาคารอาหารได้ง่าย ๆ เช่น ผลไม้ ถั่วต่าง ๆ ข้าว และเนื้อสัตว์บางประเภท สุดท้ายเป็นมาตรการช่วยหาตลาดใหม่ให้ในต่างประเทศ

สิ่งที่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นความเสี่ยง ก็คือ การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน หรือ การอุดหนุนจากภาครัฐ อาจบิดเบือนกลไกตลาด และสร้างผลพวงเชิงลบต่อภาคการเกษตรโดยรวม และที่ค่อนข้างจะแน่ชัด ก็คือ มันจะยิ่งทำให้ประเทศคู่ค้าที่กำลังมีปัญหาอยู่กับสหรัฐฯ เพิ่มมาตรการตอบโต้สินค้าส่งออกอื่น ๆ เป็นเป้าหมายใหม่ นอกจากนี้ มาตรการความช่วยเหลือทางการเงินลักษณะนี้มักจะเข้าข่าย "เงินอุดหนุนผู้ผลิต" ซึ่งมักเป็นตัวการทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดตกต่ำลง และนั่นก็อาจจะขัดต่อกฎกติกาของดับบลิวทีโอ

 

[caption id="attachment_301831" align="aligncenter" width="503"] โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ[/caption]

วอนรัฐแก้ปัญหาระยะยาว
แม้ว่าเกษตรกรจะต้องการความช่วยเหลือเยียวยาและตลาดก็มีปฏิกิริยาตอบรับในเชิงบวก โดยราคาหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร เช่น หุ้นบริษัท เดียร์ แอนด์ คอมปานี ผู้ผลิตรถแทรคเตอร์ "จอห์น เดียร์" ได้ปรับสูงขึ้นมากกว่า 3% แต่หลายเสียงก็เห็นว่า แนวทางที่ออกมาไม่ได้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซ้ำยังสร้างความไม่แน่นอน พวกเขาต้องการให้รัฐบาลหาทางเจรจากัน เพื่อลดภาษีลงมามากกว่าที่จะมานั่งรอรับเงินจากรัฐบาลทุก ๆ เดือน

สมาคมผู้ผลิตถั่วเหลืองอเมริกัน ได้ออกแถลงการณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ภาษีเป็นตัวการที่ทำให้การส่งออกลดลง และราคาถั่วเหลืองก็ตกต่ำลงมา มาตรการช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรที่ประกาศออกมาเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น สมาคมอยากเห็นมาตรการระยะยาวที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาปริมาณผลผลิตล้นเกินความต้องการ รวมทั้งพยุงราคาที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และขอให้ภาครัฐช่วยเจรจาหาทางให้ประเทศคู่ค้าลดเลิกภาษีลงมามากกว่า ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือน เม.ย. หลังจากที่จีนประกาศครั้งแรกว่าจะขึ้นภาษีตอบโต้ถั่วเหลืองสหรัฐฯ 25% ราคาถั่วเหลืองก็ดิ่งลงมาเกือบ 20%


Screen Shot 2561-07-29 at 21.20.41

แม้แต่นักการเมืองฝั่งพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเอง ก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการของรัฐบาลในเวลานี้ เช่น วุฒิสมาชิกแพท ทูมีย์ สมาชิกคณะกรรมาธิการด้านการเงินและการธนาคาร ของวุฒิสภา ออกมาระบุว่า มาตรการภาษีไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย และภาษีก็คือ เงินของประชาชน ภาษีที่สูงขึ้นสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค คนงาน และบริษัทต่าง ๆ ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ควรนำมาตรการภาษีมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรอง แต่จนถึงขณะนี้ ดูเหมือนทิศทางของสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะมีแต่รุนแรงยิ่งขึ้น ยากที่จะฉุดรั้ง จีนเองขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐฯ มา 2 ระลอกแล้ว


บาดเจ็บแถวหน้า คือ เกษตรกร
นับตั้งแต่เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตรา 25% คิดเป็นมูลค่ารวม 34,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในมูลค่าที่เท่าเทียมกันทันที โดยพุ่งเป้ามาที่สินค้าเกษตร ต่อมาสหรัฐฯ จึงได้ประกาศจะเก็บภาษีจากสินค้าจีนเกือบทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวม 500,000 ล้านดอลลาร์ โดยในวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้เผยรายชื่อสินค้าจีนที่เข้าข่ายจะถูกเก็บภาษีเพิ่ม 10% ออกมา แล้วคิดเป็นมูลค่ารวม 200,000 ล้านดอลลาร์ แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากยังอยู่ในกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

[caption id="attachment_301832" align="aligncenter" width="503"] สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน[/caption]

"เราต้องการค้าขาย ไม่ได้ต้องการเงินช่วยเหลือ" วุฒิสมาชิกรอน จอห์นสัน จากพรรครีพับลิกัน ให้ความเห็นแทนใจเกษตรผู้ปลูกถั่วเหลืองจากรัฐวิสคอนซิน การขึ้นภาษีตอบโต้กัน ทำให้เกษตรกรสหรัฐฯ ส่งสินค้าไปจีนได้น้อยลง สินค้าค้างสต๊อคมากขึ้น และราคาตกดิ่ง สถานการณ์เป็นเช่นเดียวกันกับแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งเป็นผู้ซื้อถั่วเหลือง เนื้อสุกร และสินค้าเกษตรอื่น ๆ จากสหรัฐฯ ในอันดับต้น ๆ

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ชี้ว่า ถึงแม้สหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่ขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลในแต่ละปี แต่สินค้าเกษตรเป็นสินค้าส่งออกเพียงไม่กี่ประเภทที่สหรัฐฯ สามารถเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า โดยในปี 2561 นี้ เคยมีคาดการว่า สหรัฐฯ จะได้ดุลการค้าสินค้าเกษตรราว 21,000 ล้านดอลลาร์ แต่เนื่องจากแคนาดา จีน และเม็กซิโก คือ ประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ (โดยมีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ รวมกันราว 43%) และในเวลานี้ ทั้ง 3 ประเทศ กำลังอยู่ในภาวะสงครามการค้ากับสหรัฐฯ จึงเป็นไปได้ว่า ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวจะปรับลดลง และนั่นหมายถึง ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ คือ ด่านหน้าที่ได้รับบาดเจ็บระนาวในแนวรบสงครามการค้าครั้งนี้


……………….
รายงานพิเศษต่างประเทศ โดย โต๊ะข่าวต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'พาณิชย์' ชี้ โอกาสทองไทยตีตลาดเครื่องประดับในสหรัฐฯ แทนสินค้าจีน
พาณิชย์มั่นใจตลาดข้าวหอมมะลิไทยในสหรัฐฯสดใส 6 เดือนแรกส่งออกเพิ่ม2.82%


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว