ทางออกนอกตำรา : ประชาชน...ได้ยินบ่ เปิดอ้าซ่ารัฐวิสาหกิจใช้งบ...

28 ก.ค. 2561 | 18:43 น.
 

66566+5656 วันนี้ขออนุญาตพาทุกท่านมาสัมผัสกฎหมายฉบับหนึ่ง ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 โดยใช้เวลาการพิจารณาแค่ 2 ชั่วโมงเศษ ก็ลงมติเป็นเอกฉันท์ 178 คะแนน เห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป และผมเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะกลายเป็นปัญหาในการตรวจสอบงบประมาณ และกำกับดูแลองค์กรของรัฐในระยะยาว

กฎหมายที่ว่าคือ ร่างพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ….ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายเดิมที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2502 กฎหมายเดิมนั้นออกมาเพื่อกำกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณผ่านรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรของรัฐไว้รัดกุม แต่กฎหมายใหม่เปิดช่องให้มีการดำเนินการตั้งบริษัทลูก บริษัทหลาน บริษัทเหลน ไปทำธุรกิจ ลงทุนได้โดยมีการตรวจสอบที่น้อยลงจากเดิมมาก
5665965 กล่าวคือ ใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ พ.ศ.2502 ซึ่งมาตรา 4 บัญญัติคำนิยาม “รัฐวิสาหกิจ” ไว้อย่างรัดกุม โดยกำหนดไว้ 4 ชั้น

(ก) องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ

(ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ

(ค) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจ ตาม (ก) และ/หรือ (ข) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ

(ง) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจ ตาม (ค) และ/หรือ (ก) และ/หรือ (ข) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ

(จ) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจ ตาม (ง) และ/หรือ (ก) และ/หรือ (ข) และ/หรือ (ค) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ


หากหน่วยงานที่ว่าจะใช้งบลงทุนหรือเข้าไปทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด จะต้องถูกตรวจสอบโดยรัฐสภาหรือหน่วยงานของรัฐ

แต่กฎหมายวิธีการงบประมาณฉบับใหม่ที่ สนช.ทำคลอดออกมา ตัดวงจรของบริษัทเหลนออกไป โดยกำหนดนิยามความหมายของคำว่ารัฐวิสาหกิจ ดังนี้ 1. องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ

2. บริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกิน 50%

3. บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตาม (1) หรือ (2) หรือที่รัฐวิสาหกิจตาม (1) และ (2) หรือที่รัฐวิสาหกิจตาม (2) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกิน 50%

โดยระบุว่า ในเชิงการตรวจสอบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หน่วยงานของรัฐสามารถเข้าไปตรวจสอบบริษัทที่บริษัทลูกเข้าไปถือหุ้นเกิน 50% ได้อยู่แล้ว โดยตรวจสอบผ่านงบดุลของบริษัทแม่ในรัฐวิสาหกิจ

ยังไม่พอ มีบทเฉพาะกาลผูกมัดไว้อีก ในมาตรา 52/1 โดยกำหนดให้กฎหมายอื่นที่อ้างความหมายของคำว่ารัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ จะต้องดำเนินการปรับปรุงนิยามรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้ภายใน 3 ปี และหากไม่ได้แก้ไขให้เสร็จภายใน 3 ปี จะต้องใช้นิยามรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณฉบับใหม่

สมใจนึกบางลำพูดีแท้ครับพ่อเจ้าประคุณรุนช่อง สนช.

ท่านอาจจะนึกภาพไม่ออก ผมขออธิบายดังนี้ ท่านเคยรู้มั้ยว่างบประมาณของรัฐวิสาหกิจในประเทศไทยมีจำนวนเท่าใด ท่านนึกก็นึกไม่ออก ผมขอบอกว่า งบประมาณรัฐวิสาหกิจของไทยมีมากถึงปีละ 1.95 ล้านล้านบาท ยํ้า 1.95 ล้านล้านบาท เกือบ 70% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศที่มีอยู่ 3 ล้านล้านบาท

งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจของไทยมีมากถึง 8.5 แสนล้านบาท มากกว่างบลงทุนของรัฐบาลกลางของไทยที่สูงสุดไม่เกินปีละ 4.2 แสนล้านบาทถึง 5%

ท่านเห็นอะไรมั้ยครับ...ถ้าไม่เห็นลองจินตนาการดู เอากระทรวงคมนาคมแล้วกันมีรัฐวิสาหกิจเป็น 10 แห่ง ถ้ารัฐวิสาหกิจถือหุ้นบริษัทลูก 50% บริษัทลูกตั้งบริษัทหลานถือหุ้น 50% เข้าข่ายต้องตรวจสอบการใช้เงินโดยรัฐสภา แต่หากบริษัทหลานตั้งบริษัทเหลน ไม่เข้าข่ายกฎหมายวิธีการงบประมาณฉบับใหม่ แล้วอะไรจะเกิดขึ้นละครับ ก็จะเกิดบริษัทเหลนดังว่านี่แหละเขรอะไปหมด

เหตุผลที่ดีเพื่อให้มีประสิทธิภาพ แข่งกับเอกชนได้ เหตุผลที่ร้ายเพื่อหลบการตรวจสอบ เพื่อให้คนของตัวเองไปทำมาหากินได้ โดยไม่ถูกตรวจสอบ ง่ายมั้ยครับ..

ผมไม่ได้จินตนาการไปนะครับ ท่านไปตรวจสอบได้ บางรัฐวิสาหกิจ มีบริษัท ลูก บริษัทหลาน บริษัทเหลน บริษัทโหลน เต็มไปหมดที่ตั้งคนของตัวเองไปนั่งในปัจจุบันและทำธุรกิจแข่งกับเอกชน

ทางคุณรสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กรุงเทพฯ คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาบอกว่า เป็นการออกกฎหมายรับมือกับแผนการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจหรือซูเปอร์โฮลดิ้ง

แต่ผมสืบทราบมาว่า กฎหมายฉบับนี้เคยทำเข้ามาตั้งแต่คุณสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ เป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ในปี 2559 แต่ได้เลื่อนการเสนอร่าง พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ. ...ออกไปต่อที่ประชุม ครม. ในวันที่ 8 มีนาคม 2559 เพราะกระทรวงการคลังขอไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง ว่ากันว่ากฎหมายฉบับนี้จะล้อกันไปกับ ร่าง พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.... ซึ่งจะเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย ในระยะ 20 ปี

ไม่ว่ากฎหมายฉบับนี้จะผูกมัดกันไว้เป็นชั้นๆ อย่างไรผมไม่ว่า แต่ที่ต้องชวนให้มาตรวจสอบติดตามกันหลังจากนี้คือ การใช้รัฐวิสาหกิจเป็นแขนขาของรัฐบาลไปดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไร้การตรวจสอบจากรัฐสภาจะบานสะพรั่งแน่นอน...

การออกแบบกฎหมายอย่างนี้ นักการเมืองอาชีพชอบนักแล ครับนายกฯลุงตู่...ท่านฮู้บ่..

ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นความสำคัญของพ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ.2502 ว่าจำเป็นต้องยึดหลักการเพื่อควบคุมฝ่ายบริหารให้ตระหนักในการใช้งบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชน

เหตุเกิดที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 4 กุมภา พันธ์ 2547 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตอนนั้น รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (งบกลาง) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2547 จำนวน 135,500 ล้านบาท เป็นวาระเร่งด่วนให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภา บรรจุเข้าวาระ

พ.ต.ท.ทักษิณ นายกฯ ขณะนั้น ได้ลุกขึ้นแถลงหลักการและเหตุผลประกอบการเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างเชิดหน้าชูตาว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินในการดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ รวมทั้งปรับปรุงบริหารงานบุคคล สวัสดิการ และค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจให้ยั่งยืน

ผมจำได้แม่นเพราะไปทำข่าวนี้ด้วยตัวเองที่รัฐสภา ตอนนั้น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านขณะนั้น ได้ลุกขึ้นอภิปรายทักท้วงอย่างหนักหน่วง โดยระบุว่า รัฐบาลทำแบบนี้ขัดรัฐธรรมนูญ และขัดกฎหมายมาตรา 17 ของ พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ.2502 ที่เขียนไว้ชัดว่า การเสนองบประมาณเพิ่มเติมต่อรัฐสภา รัฐบาลสามารถทำได้ แต่ต้องแสดงเงินที่ได้มาในการใช้จ่ายของงบประมาณด้วย

แต่เอกสารที่รัฐบาลเสนอมาเพื่อขอใช้งบกลางปี 1.35 แสนล้านบาท มีแค่ 2 หน้า หน้าแรกบันทึกหลักการและเหตุผล หน้าที่ 2 เป็นร่างพ.ร.บ.ที่มีเพียงแค่ 7 มาตรา แต่ไม่มีรายละเอียดที่แสดงที่มาที่ไปในการจ่ายงบประมาณแต่อย่างใด

สิ้นเสียงผู้นำฝ่ายค้านอภิปราย ปรากฏว่าทั้งนายกฯ และบรรดารัฐมนตรีใน ครม.ทักษิณต่างหันหน้ามองหน้ากันทำหน้าเหลอหลา ไม่มีใครยกมือชี้แจง จนห้องประชุมนิ่งเงียบไปชั่วขณะ

กระทั่ง นายโภคิน พลกุล รองนายกฯ ได้ลุกตอบโต้ว่า นายบัญญัติอ้างถึงมาตรา 17 ของพ.ร.บ.วิธีงบประมาณนั้น รัฐบาลเข้าใจว่า สาระของ พ.ร.บ.นี้ถูกต้อง ส่วนการแสดงถึงที่มาของรายได้จะขอชี้แจงในห้องประชุมสภา

สิ้นเสียงชี้แจงของ นายโภคิน บรรดา ส.ส.ส่งเสียงโห่ดังลั่นห้องประชุม จนประธานสภา ต้องกดไมค์พูดปรามว่า การประชุมสภา ถ้าไม่พอใจอะไร อย่าโห่กัน แต่ส.ส.ก็โห่ไม่เลิก เพราะเห็นว่ารัฐบาลกำลังจะหาวิธีใช้เงิน 1.35 แสนล้านบาท ด้วยการทำผิดพ.ร.บ.วิธีงบประมาณ

นายโภคิน ถึงกับหน้าเสีย นั่งไม่ติด ต้องเดินออกจากห้องประชุม แล้วกลับเข้ามาอีกครั้ง พร้อมกับนายสมคิดจาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ก่อนจะยื่นกระดาษโน้ตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ

หลังอ่านโน้ตสั้นๆ นายกฯ ทักษิณ จึงลุกขึ้นกล่าวในสภา ขอถอนร่างพ.ร.บ.ตั้งงบพิเศษกลางปี กลับไปพิจารณาในเรื่องที่มาที่ไปของรายได้ที่พึงจ่ายตามกฎหมายที่ฝ่ายค้านยกมาคัดค้าน เรื่องจึงจบ แต่กำลังจะบอกว่า กฎหมายวิธีงบประมาณนั้นสำคัญในการใช้งบของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและไม่เลือกตั้งมากจริงๆ...

ประชาชน ได้ยินบ่...
...........................................
| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6  ฉบับ 3387 ระหว่างวันที่ 29 ก.ค.- 1 ส.ค.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว