ประยุทธ์ยัน”มท.1”ไม่ได้หาปย.จาก”ขยะ”

28 ก.ค. 2561 | 06:00 น.
ประยุทธ์ยัน”มท.1”ไม่ได้หาปย.จาก”ขยะ”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า
“ประเด็นที่ผมอยากทำความเข้าใจให้ตรงกันในวันนี้ก็เกี่ยวกับ “การบริหารจัดการขยะ” ซึ่งถือเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นะครับ ที่จะต้องเป็นหน่วยปฏิบัติ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ เช่น พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร และพระราชบัญญัติบริหารราชการเมืองพัทยา

ซึ่งกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามที่กฎหมายกำหนดอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งไม่ใช้อำนาจในการบังคับบัญชา ในขณะที่สำหรับหน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นหน่วยงานกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ คำแนะนำ เพื่อให้ อปท.ต่างๆ นำไปปฏิบัติให้อยู่ในกรอบ อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ เพราะ อปท. นั้นดำรงฐานะเป็นนิติบุคคลด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินการตามกฎหมายต่างๆ ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถครอบคลุมประเด็นต่างๆ ในการบริหารจัดการขยะอย่างครบถ้วน จึงได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2560 เพื่อให้ครอบคลุมในทุกประเด็นที่มากกว่าการเก็บขนขยะและการกำจัดขยะ อาทิ ประเด็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ตาม หลัก 3Rs ได้แก่ การคัดแยกขยะ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ การหาประโยชน์จากการจัดการมูลฝอยโดยการทำเป็นธุรกิจ การให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย รวมถึงกลไกในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่เป็นเอกภาพ เป็นต้น

tusart

ส่วนประเด็นที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า รัฐบาลหรือกระทรวงมหาดไทย จะเข้าไปครอบงำกระบวนการจัดการขยะมูลฝอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการให้เอกชนเข้ามาดำเนินการหรือร่วมดำเนินการนั้น ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองฯ ได้อำนวยความสะดวกการให้เอกชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ ให้ยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

ทั้งนี้เพื่อความรอบคอบในการดำเนินการอย่างมั่นคงและยั่งยืนในการดำเนินการของเอกชน กฎหมายจึงกำหนดให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐมาประกอบการดำเนินการด้วย ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งประกาศที่เกี่ยวข้องกำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้น ในการพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการและอำนาจในการให้ความเห็นชอบนั้น เป็นอำนาจของรัฐมนตรีเจ้าสังกัด

ดังนั้น การที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองฯ ที่กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการที่จะมอบหมายให้เอกชนดำเนินการ หรือร่วมดำเนินการกำจัดมูลฝอย จึงเป็นไปตามหลักการเดียวกับกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุน ซึ่งไม่ใช่การเอื้อประโยชน์แก่บุคคลใดโดยเฉพาะ และหลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ก็จะเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกเอกชน โดยนำหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มาบังคับใช้โดยอนุโลม

was1

สำหรับประเด็น “การนำพลังงานจากขยะเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า” นั้น เรามีวิธีกำจัดขยะหลายวิธีนะครับ แต่ปัจจุบันมักใช้ “การฝังกลบ หรือเทกอง” ซึ่งไม่ใช่การจัดการขยะ ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะยังคงมีปริมาณขยะตกค้าง อยู่เป็นจำนวนมาก และใช้เวลานานในการย่อยสลาย ส่วน “การเผา” เพื่อลดปริมาณขยะนั้น นับเป็นวิธีที่จะทำให้การจัดการขยะ มีประสิทธิภาพ และ สามารถนำพลังงานที่เกิดจากการเผาขยะ ไปใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ จึงเป็นวิธีการที่เกิดประโยชน์สูงสุด และได้มีการกำหนดไว้ใน Roadmap การจัดการขยะมูลฝอย และขยะอันตรายรวมทั้ง แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 - 2564 แล้ว

ทั้งนี้ “การขายกระแสไฟฟ้า” ที่ผลิตได้เข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ นั้นจะเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งได้กำหนดโควต้า และอัตราค่าไฟฟ้า ในการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ เป็นพลังงานทดแทน ประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการจัดการขยะของประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พบเห็นอยู่เสมอ คือ เมื่อมีโครงการกำจัดขยะจะเกิดขึ้นที่ใด ก็จะมีการต่อต้านจากประชาชนอยู่เสมอ ในกรณีนี้ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการว่า “ขยะเกิดที่ไหน ต้องกำจัดที่นั่น” เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว รัฐบาลจึงได้มี “ข้อยกเว้น” ใน 2 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

1. การยกเว้นการปฏิบัติตามผังเมืองให้สามารถก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะ ในพื้นที่สีเขียวได้ เพราะสถานที่กำจัดขยะ จำเป็นต้องอยู่ห่างจากชุมชน ในระยะที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีการควบคุมการดำเนินงาน ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ หรือเหตุรำคาญแก่สภาพแวดล้อมโดยรอบอย่างเคร่งครัด ด้วย

2. การนำประมวลหลักการปฏิบัติสำหรับโครงการที่เข้าข่ายได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอย เป็นเชื้อเพลิง มาใช้เป็นการอำนวยความสะดวกให้การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามนะครับ ก็ยังคงมีมาตรการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วยนะครับ

ทั้งนี้การกำหนดเงื่อนไข ทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว เป็นหลักปฏิบัติที่ใช้เป็นการทั่วไป ไม่ได้ทำเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ใครโดยเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้า ต้องมีความเหมาะสมในการก่อสร้าง มีปริมาณขยะที่เพียงพอ เราคงไม่สามารถก่อสร้างได้ทุกๆ พื้นที่นะครับ และต้องมีการจัดกลุ่มให้ดี ระหว่างพื้นที่จัดตั้งศูนย์คัดแยก และโรงไฟฟ้า ให้เหมาะสม เราต่างเข้าใจตรงใจว่า “การจัดการขยะ เป็นเรื่องที่รอไม่ได้” เรามีขยะเกิดขึ้นทุกวัน มีอัตราการเกิดขยะเพิ่มขึ้น ตลอดเวลา เนื่องจากการเพิ่มจำนวนประชากร การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

ดังนั้น หากไม่เร่งแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนแล้ว ก็จะพอกพูนขึ้นไปเรื่อยๆ จนยากที่จะรับมือนะครับ “

e-book-1-503x62