อยู่กับปัจจุบัน : โมเดล ‘ถ้ำหลวง’ โอกาสการท่องเที่ยวยั่งยืน!?!?

19 ก.ค. 2561 | 08:47 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

6352655
“ถํ้าหลวงขุนนํ้านางนอน” วันนี้ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หลัง “สื่อ” ต่างประเทศหลายสำนัก เสนอข่าวและถ่ายทอดสด ภารกิจ “กู้ชีวิต 13 หมูป่าฯ” อย่างต่อเนื่อง กระทั่งทุกคนรอดปลอดภัยออกจากถํ้าได้ในที่สุด

ในวันที่สถานที่แห่งนี้ ถูกบันทึกว่า ณ ที่นี้ เกิดเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ระดับโลก รวมทั้งยังเป็น “กระแส” ให้มนุษยชาติทั่วโลก ต่างจดจำและให้ความสนใจเเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิบัติการ “ค้นหา-กู้ภัย-ส่งกลับ” ทีมหมูป่าตลอด 17 วันที่ผ่านมา

ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่มีผู้คนมากมายจากทั่วสารทิศ ทั้งพี่น้องคนไทยและชาวต่างประเทศได้เดินทางไปที่ “ถํ้าหลวงขุนนํ้านางนอน” เพื่อเข้าร่วมภารกิจการช่วยชีวิต 13 หมูป่าฯที่ติดอยู่ในถํ้าอย่างมืดฟ้ามัวดิน กล่าวคือ เกือบทุกคนที่เข้าร่วมภารกิจ เป็นจิตอาสาที่ไม่สนใจผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
3636565 ไม่ว่าจะเป็นทีมขุดเจาะนํ้าบาดาล ทีมสูบนํ้าที่เรียกตัวเองว่า “ท่อสูบนํ้าซิ่ง” เพื่อสู้กับนํ้าฝนที่ตกลงมาไม่ให้ไหลเข้าถํ้า ทีมเก็บกู้รังนกลิบง (จ.ตรัง) ทีมนักปีนเขา (จ.พังงา) ที่ร่วมด้วยช่วยกันสำรวจโพรงถํ้าในกรณีที่จะต้องเจาะบริเวณที่ 13 หมูป่าฯติดอยู่ในถํ้าหลวงฯ ทีมกู้ภัย(มูลนิธิร่วมกตัญญู-อื่นๆ) อาสาสมัคร จิตอาสาที่มาช่วยเป็น “กองหนุน” ด้านต่างๆ

นอกจากนั้น ก็ยังมี “หน่วยซีล” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการดำนํ้าจากกองทัพเรือ และนักดำนํ้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการดำนํ้าในถํ้าจากนานาชาติ อาทิ อังกฤษ ออสเตรเลีย สหรัฐฯ ฯลฯ ก็ได้เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจประวัติศาสตร์ครั้งนี้ด้วย

ส่วนหน่วยงาน “ภาครัฐ” ที่เข้าร่วม ก็ประกอบไปด้วย ทหาร ตำรวจและพลเรือนนับพันคน... ที่ช่วงแรกก็เกิดความสับสนในการปฏิบัติ “หน้างาน” ที่ไม่รู้ใคร?เป็นใคร เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีใจ“จิตอาสา” เดินทางมุ่งหน้าไป “ถํ้าหลวงฯ” เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจประวัติศาสตร์
12(118) ก่อนจะมีการรวมศูนย์เป็น ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายฯ หรือมีชื่อย่อว่า ศอร.ที่มี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าฯ เชียงราย เป็น “ผู้บัญชาการ” ทำหน้าที่ “บริหาร-จัดการ” ในการปฏิบัติภารกิจกู้ชีวิต 13 หมูป่าทั้งหมด

มาถึงวันนี้ เมื่อปฏิบัติการ “ค้นหา-กู้ภัย-ส่งกลับ” ทีมหมูป่า ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ โดยน้องๆ ทุกคนรอดปลอดภัยออก จากถํ้า และล่าสุดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ได้มีการประกาศปิด ศอร.อย่างเป็นทางการไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เรื่องราวต่างๆ ของ “ถํ้าหลวงขุนนํ้านางนอน” จะจบอยู่แค่นี้

เพราะการปฏิบัติภารกิจตลอด 17 วันที่ผ่านมานั้น นอกจากจะดังกระฉ่อนไปทั่วโลกแล้ว เหตุการณ์นี้ยังเป็นบทพิสูจน์ถึงความยากลำบากของการ “กู้ภัย” ในท่ามกลางสถานการณ์ท้าทายความสามารถของมนุษย์ เฉพาะอย่างยิ่งการระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนที่มาร่วมด้วยกันฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ

S__16048147-1024x683 เมื่อ “รัฐบาล-คสช.” มีธงหรือนโยบาย จะต่อยอดโมเดล “ถํ้าหลวงขุนเขานางนอน” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ก็ควรที่จะมีการศึกษาและมีแผนงานที่ชัดเจน ที่สำคัญ คืออย่าปล่อยให้ภาพประวัติศาสตร์ที่ทุกคนจดจำ หายวับไปกับกาลเวลา...

...เฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานเกี่ยวข้อง ควรเตรียมแผนและแนวคิดว่า จะฟื้นฟูถํ้าหลวงฯอย่างไร? ให้คงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด รวมทั้งพิจารณาสร้าง “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักท่องเที่ยวที่ไปเข้าชม และอย่าให้มีแต่ถํ้าเปล่าๆ โปรดเก็บเครื่องสูบนํ้า ท่อระบายนํ้า และชุดมนุษย์กบบางส่วน ไว้ที่นั่นด้วย

เก็บกล่องอาหารที่ลอยเข้าไปให้ “13 หมูป่า” ในถํ้า เก็บจดหมายที่ทุกคนเขียน รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ขุดเจาะนํ้า ถังออกซิเจน ผ้าห่มที่นำไปให้เด็กๆ รถจักรยาน รองเท้า เก็บ... เก็บ...เก็บ... สิ่งของต่างๆ มากมาย  ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจประวัติศาสตร์ครั้งนี้ให้ครบทุกอย่าง
 
|คอลัมน์ : อยู่กับปัจจุบัน 
|โดย : พงษ์ศักดิ์ ศรีสด
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 14 ฉบับ 3383 ระหว่างวันที่ 15-18 ก.ค.2561
e-book-1-503x62