หนุน 'โตโยต้า' ลุยไฮบริด! 'อุตตม' ยัน! ไม่เพิ่มสิทธิประโยชน์รถยนต์ไฟฟ้า

17 ก.ค. 2561 | 00:19 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

"โตโยต้า-รัฐบาล" ประสานเสียงมุ่งไฮบริดอันดับแรก! เล็งเปิดตัว "คัมรี่ ไฮบริด" ในไตรมาส 3 ภายใต้แพ็กเกจลงทุน 2 หมื่นล้านบาท รับภาษีสรรพสามิตแค่ 4% จากปัจจุบันเสีย 16% ... เจ้ากระทรวงอุตสาหกรรม ยัน! ไม่มีแผนสนับสนันเงินคนซื้อรถพลังไฟฟ้า 'อีวี' เพิ่มเติม เชื่อเงื่อนไขครอบคลุมเพียงพอแล้ว

ค่ายใหญ่ 'โตโยต้า' ถือเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายแรกที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ภายใต้โครงการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (ไฮบริด , ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี) ด้วยมูลค่าการลงทุนทั้งแพ็กเกจ 2 หมื่นล้านบาท รวมโรงงานผลิตแบตเตอรี่และผู้ผลิตชิ้นส่วนในระบบ โดยมี 'ซี-เอชอาร์' ประเดิมเป็นโมเดลแรก

ทั้งนี้ ตามแผนงานของ 'โตโยต้า' เตรียมนำขุมพลังไฮบริด พร้อมแบตเตอรี่แบบนิกเกิลเมทัลไฮดราย ใส่ในรถยนต์ของตัวเองหลายรุ่น ตามการเปิดตัวโฉมใหม่ ซึ่งภายในเดือน ส.ค. ถึง ก.ย. นี้ มีแผนเปิดตัว "คัมรี่ โมเดลเชนจ์" ที่มาพร้อมรุ่นเครื่องยนต์เบนซินปกติและรุ่นไฮบริด


Toyota_Camry_Lineoff_07_52511531D6CC04F9D4D6A75653030CD27137EFD1

โดย "คัมรี่ โมเดลเชนจ์" มากับแพลตฟอร์มใหม่ TNGA-Toyota New Global Architecture ที่ใช้พัฒนาซับคอมแพ็กต์ซี-เอชอาร์ ที่เปิดตัวไปก่อนหน้า ส่วนคัมรี่ ไฮบริด จะวางเครื่องยนต์เบนซิน 2.5 ลิตร ประสานการทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้า ขณะที่ ช่วงล่างหลังเป็นแบบปีกนก 2 ชั้น ขณะเดียวกัน ด้วยการปล่อยไอเสียไม่เกิน 100 กรัม/กม. จะทำให้ "คัมรี่ ไฮบริด" เสียภาษีสรรพสามิตในอัตราพิเศษ 4% ตามเงื่อนไขของบีโอไอ (เพราะมีการลงทุนทำโรงงานประกอบแบตเตอรี่ในเมืองไทย) น้อยกว่าปัจจุบันที่ปล่อยไอเสีย 133 กรัม/กม. โดนภาษีสรรพสามิต 16% (ภาษีใหม่หลังคิดตามราคาขายปลีก)

"แผนการลงทุนอย่างต่อเนื่องที่โตโยต้าได้ประกาศไว้ อยู่ภายใต้คอมมอนแพลตฟอร์มที่วางไว้ คือ เริ่มต้นจากไฮบริดก่อน หลังจากนั้นอาจจะเป็นปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือจะเป็นบีอีวี หรือ ฟิวเซลล์ ก็ต้องดูต่อไปในอนาคต แต่เบื้องต้น คือ ไฮบริด โดยมีรถยนต์ที่ทำตลาด คือ โตโยต้า ซี-เอชอาร์ ไฮบริด และคัมรี่ ไฮบริด ขณะที่ ปิกอัพไฮบริดนั้น ไม่ได้อยู่ในแผนงานในระยะสั้น" นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวและว่า

รถยนต์ไฟฟ้าอุปสรรคที่แบตเตอรี่ที่ยังมีราคาแพง น้ำหนักเยอะ และระยะทางวิ่งได้ไม่ไกล เฉลี่ยวิ่งได้ประมาณ 180 กิโลเมตร และใช้เวลาชาร์จประมาณ 8-10 ชั่วโมง ตรงจุดนี้ ถือเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง แต่คาดว่า อีก 3-5 ปี เมื่อบริษัทต่าง ๆ มีการพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีราคาถูกลง น้ำหนักเบา วิ่งได้ในระยะที่ไกลขึ้น ก็จะส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้ามีภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน โตโยต้าลงทุนในประเทศไทยแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท และยังยืนยันจะลงทุนอย่างต่อเนื่อง


e-book-1-503x62

ปัจจุบัน โตโยต้ามีโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทย 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานสำโรง จ.สมุทรปราการ , โรงงานเกตเวย์ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา และโรงงานบ้านโพธิ์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งทั้ง 3 โรงงาน มีกำลังการผลิตรวมกัน 750,000 คันต่อปี และสามารถเพิ่มกำลังการผลิต (เพิ่มกะ) ได้สูงสุด 9 แสนคันต่อปี

ขณะที่ ตัวเลขยอดผลิตของโตโยต้าสามารถทำได้ 10 ล้านคัน โดยแบ่งออกเป็น ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ จำนวน 5.8 ล้านคัน และส่งออกจำนวน 4.2 ล้านคัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออกตั้งแต่ปี 2535 ถึง พ.ค. 2561 สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทยกว่า 2,589,000 ล้านบาท

 

[caption id="attachment_298449" align="aligncenter" width="503"] หนุน \'โตโยต้า\' ลุยไฮบริด! \'อุตตม\' ยัน! ไม่เพิ่มสิทธิประโยชน์รถยนต์ไฟฟ้า (ที่2และ3จากซ้าย) อุตตม สาวนายน-มิจิโนบุ ซึงาตะ[/caption]

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงทุนของโตโยต้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการรถไฮบริด จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในการที่จะก้าวไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต

สำหรับประเทศไทยกำลังมุ่งไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคตที่มีหลายรูปแบบและหลายค่าย ทั้งญี่ปุ่น , ยุโรป ก็ให้ความสนใจที่จะผลิต ซึ่งความคืบหน้าในตอนนี้ถือว่าเป็นไปตามแผน โดยบีโอไอมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและไม่ได้ทำงานช้า

"ขณะที่ รถยนต์ไฟฟ้า 'อีวี' จะได้เห็นเมื่อไรนั้น ยังไม่ได้มีการตั้งเป้าหมาย เพราะต้องดูความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ส่วนการสนับสนุนหรืออุดหนุนด้านราคาให้กับผู้บริโภคเหมือนต่างประเทศนั้น จะไม่มีการให้โดยตรง หรือไม่มีมาตรการใด ๆ เป็นพิเศษ เพราะมีการลดภาษีสรรพสามิตแล้ว โดยมองว่า หากผู้ผลิตสามารถพัฒนารถและตอบโจทย์ก็น่าจะเพียงพอ ส่วนหน้าที่ของรัฐก็จะมีการสื่อสารควบคู่กันไปกับผู้ประกอบการที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับรถอีวี" นายอุตตม กล่าวสรุป


……………….
เซกชัน : ยานยนต์ โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,383 วันที่ 15-18 ก.ค. 2561 หน้า 32

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โตโยต้าต่อยอดธุรกิจชุมชนพัฒน์
โตโยต้าต่อยอดธุรกิจชุมชนพัฒน์ ผลักดันชุมชนสร้างอาชีพเข้มแข็ง


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว