ข้าพระบาท ทาสประชาชน : GPSC ซื้อ GLOW ใครได้ใครเสีย?ผูกขาดหรือแข่งขัน (2)

11 ก.ค. 2561 | 11:59 น.
566545844 การที่ GPSC เข้าซื้อกิจการของ GLOW ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จึงเท่ากับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ ที่ได้แปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทมหาชน ตามพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เป็นผู้เข้าเทกโอเวอร์ หรือเข้าครอบงำกิจการแบบเบ็ดเสร็จ 100% ในบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) นั่นเอง เพราะเป็นที่ทราบแล้วว่า GPSC ถูกครอบงำแบบเบ็ดเสร็จโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดังที่กล่าวมา จึงมีปัญหาว่า การดำเนินการในลักษณะนี้ของ ปตท.เป็นการดำเนินกิจการที่เป็นไปตามวัตถุ ประสงค์ในการจัดตั้ง ปตท.หรือไม่ เป็นประเด็นที่น่าสนใจและน่าศึกษา ทั้งมีข้อสงสัยจากสังคมอยู่ไม่น้อย

ย้อนดูประวัติความเป็นมา ก่อนที่ ปตท.จะกำเนิดขึ้นโดยพิจารณาเพียงสังเขปจะเห็นได้ว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.) จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2521 โดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบและส่งเสริมธุรกิจปิโตรเลียม รวมถึงดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการประกอบธุรกิจปิโตรเลียม เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดแก่เศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งในระยะเริ่มต้นก็ได้โอนเอากิจการของกรมพลังงานทหารและที่เกี่ยวกับโรงกลั่นนํ้ามัน กระทรวงกลาโหม องค์การเชื้อเพลิง และองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย มาเป็นของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
TP6-3380-A วัตถุประสงค์หลักของ ปตท.จึงเป็นกิจการอันเกี่ยวกับการปิโตรเลียมเป็นสำคัญ ส่วนรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจหน้าที่ในการผลิตไฟฟ้าใช้ภายในประเทศ เป็นเรื่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่ง กฟผ.ก็เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 โดยรวมเอาหน่วยงานด้านการผลิตและส่งพลังงานไฟฟ้า 3 แห่ง ได้แก่การไฟฟ้ายันฮี การลิกไนต์ และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเป็นหน่วยเดียวกัน ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2512 และนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา กฟผ.จึงเป็นรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานหลักในการผลิตไฟฟ้าของชาติ

ดังนั้น การที่ ปตท.มุ่งหน้าสู่ธุรกิจผูกขาดการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ ซี่งหากเป็นไปในทิศทางที่ ปตท.กำลังดำเนินการเช่นนี้ต่อไป คำถามก็คือ การดำเนินกิจการดังกล่าวใช่ภารกิจตามวัตถุประสงค์ของ ปตท.หรือไม่ และหากเป็นเช่นนี้ กฟผ. จะมีสภาพและสถานะอย่างไร เพราะ ปตท.บัดนี้ได้กลายเป็นบริษัทมหาชน เป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการแปรรูปไปแล้ว ขาหนึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกขาหนึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ถูกจัดอันดับเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ติดอันดับท็อป 100 ของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่มีเงินทุนมหาศาล และมีผลประกอบการกำไรนับแสนๆ ล้านต่อปี
20170808GPSC นอกจากนี้ การที่ ปตท. แม้ว่าจะได้รับการแปรรูปเป็นบริษัทจดทะเบียนไปแล้วตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม 2544 และเข้าทำการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อ 6 ธันวาคม 2544 เป็นต้นมาแล้วก็ตาม แต่โครงสร้างผู้ถือหุ้นข้อมูล ณ วันที่ 7 มีนาคม 2561 กระทรวงการคลังยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จำนวน 1,459,885,575 หุ้น คิดเป็น 51.11% โดยนอกนั้นเป็นบรรดากองทุนต่างๆ และเอกชนเป็นผู้ร่วมถือหุ้น โดยโครงสร้างการถือหุ้นดังกล่าว ทำให้ ปตท.ยังมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือกิจการของรัฐอยู่ด้วย

กรณีที่ GPSC เข้าซื้อหุ้น GLOW 100% และเข้าดำเนินธุรกิจไฟฟ้าอันเป็นการแข่งขันกับเอกชน จึงมีปัญหาว่าเป็นการกระทำที่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 75 ที่บัญญัติไว้หรือไม่

ซึ่งมาตรา 75 บัญญัติว่า “รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัญชาของเศรษฐกิจพอเพียง ขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือการจัดทำบริการสาธารณะ .........”
20170705_GPSC เมื่อ ปตท. ถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่จัดหาพลังงานนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อความมั่นคงของประเทศ เป็นภารกิจสำคัญ โดยมีลูกค้าหลักคือโรงไฟฟ้าทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนการจัดหาไฟฟ้า รัฐก็มี กฟผ. เป็นหน่วยงานจัดหาไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งรัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้าดำเนินกิจการโครงการไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงอีกทางหนึ่งแล้ว กรณีที่ ปตท.เข้ามาทำธุรกิจด้านไฟฟ้า จึงมีลักษณะเป็นการที่รัฐเข้าทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชน ใช่หรือไม่

ทั้งจะอ้างเพื่อความมั่นคงของรัฐ ก็ไม่อาจจะรับฟังได้ และถ้าหากกรณีนี้ทำให้ ปตท.โดย GPSC เข้ามาทำธุรกิจด้านไฟฟ้าโดยผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาด ย่อมเป็นกรณีที่รัฐส่งเสริมการผูกขาดและทำลายการแข่งขันที่เป็นธรรมเสียเองอีกด้วย อันเป็นการกระทำที่ขัดและแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งเอกชนที่ได้รับผลกระทบอาจฟ้องต่อศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญได้ ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานกำกับกิจการด้านพลังงาน พึงระมัดระวังและพิจารณาว่าจะเห็นสมควรอนุญาตให้กระทำได้หรือไม่
banner-01 ส่วนประเด็นเรื่องการแข่งขันทางการค้า นอกจากรัฐธรรมนูญจะบัญญัติห้าม ไม่ให้รัฐประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชนแล้ว กรณีนี้ยังเป็นการแข่งขันไม่เป็นธรรมอีกด้วย เพราะปตท.เป็นผู้ผูกขาดขายก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าทุกรายในประเทศไทย เมื่อ ปตท.มาทำธุรกิจโรงไฟฟ้าเสียเอง

จึงเท่ากับเป็นการควบรวมกิจการอันเป็นการกีดกันเอกชนผู้ประกอบธุรกิจไฟฟ้ารายอื่นๆ และทำให้ตนมีอำนาจเหนือตลาดทั้งในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติและอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศอีกด้วย เพราะปตท.ย่อมสามารถควบคุมและกำหนดแผนพัฒนาท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับธุรกิจตนได้ เอกชนรายอื่นก็จะอยู่ในลำดับความสำคัญรองลงไป ความไม่เป็นธรรมเช่นนี้อาจเกิดขึ้น และเท่ากับรัฐมิได้พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประชาชนและประเทศแต่อย่างใด


| คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน 
| โดย : ประพันธุ์ คูณมี
| หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3382 ระหว่างวันที่ 12-14 ก.ค.2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง...


[caption id="attachment_297141" align="aligncenter" width="503"] ข้าพระบาท ทาสประชาชน : GPSC ซื้อ GLOW ใครได้ใครเสีย? ผูกขาดหรือแข่งขัน (1) ข้าพระบาท ทาสประชาชน : GPSC ซื้อ GLOW ใครได้ใครเสีย? ผูกขาดหรือแข่งขัน (1)[/caption]

[caption id="attachment_297140" align="aligncenter" width="503"] บอร์ด GPSC มีมติเข้าซื้อหุ้น GLOW 69.11% มุ่งขยายธุรกิจไฟฟ้าอย่างยั่งยืน บอร์ด GPSC มีมติเข้าซื้อหุ้น GLOW 69.11% มุ่งขยายธุรกิจไฟฟ้าอย่างยั่งยืน[/caption]

web-01