KLSกางแผน3ปี ตั้งเป้าTop5 ตลาดรถสปป.ลาว

30 มิ.ย. 2561 | 02:51 น.
กรุงศรี ออโต้ ผู้นำธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ครบวงจร เครือธนาคารกรุง ศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศเดินหน้าลุยธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ใหม่ และสินเชื่อเช่าซื้อรายย่อย ในสปป.ลาวเต็มสูบ ภายใต้ บริษัท กรุงศรี บริการเช่าสินเชื่อ จำกัด หรือ “กรุงศรี ลีสซิ่ง” (KLS) หลังกรุงศรี กรุ๊ปได้ซื้อพอร์ตทั้งหมดจากบริษัทร่วมลงทุนเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้กรุงศรี กรุ๊ป ถือหุ้น 100% แบ่งเป็นการลงทุนของกรุงศรี ออโต้ 75% และกรุงศรี คอนซูมเมอร์ 25%  และขยายผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถยนต์มือสอง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาด้วย

พร้อมประกาศเดินหน้าแผนระยะกลาง 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2561-2563 ภายใต้พอร์ตสินเชื่อคงค้าง ณ ปี 2563 จะอยู่ที่ 9,990 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 31% ต่อปี และยอดสินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ 5,000 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 27% ต่อปี โดยที่ในปี 2561 จะมีอัตราการเติบโตของกำไรอยู่ที่ 50% จากปี 2560 มีกำไรอยู่ที่ 107 ล้านบาท และมีมาร์เก็ตแชร์ อยู่ใน 5 อันดับแรกของตลาด

[caption id="attachment_291461" align="alignright" width="335"] ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ไพโรจน์ ชื่นครุฑ[/caption]

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า บริษัทเข้ามาทำธุรกิจในนครเวียงจันทน์แล้ว 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2557 ภายใต้การลงทุนระหว่างกรุงศรี กรุ๊ปและบริษัท ยูนิตี้ แคปปิตอล จำกัดและขยายสาขาไปที่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ซึ่งพบว่า ตลาดสินเชื่อรถยนต์ในสปป.ลาวมีอัตราเติบโตต่อเนื่อง และพฤติกรรมเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่นในกลุ่ม CLMV เฉลี่ยที่ 7% และสูงกว่ากลุ่มประเทศ AEC ที่เติบโตเพียง 4% และการลงทุนโดยตรง(FDI) จากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนทั้ง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี รวมถึงรายได้ประชาชาติต่อหัวในกลุ่ม CLMV เฉลี่ยที่ 8 หมื่นบาทต่อคนต่อปี เทียบกับอาเซียนที่ 1.36 แสนบาทต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 5.8%

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขยอดขายรถยนต์ใน สปป.ลาว พบว่า ปี 2560 มียอดขายกว่า 2.2 หมื่นคัน แบ่งเป็นยอดขายจาก KoLao ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนของคนลาวและเกาหลีจัดจำหน่ายรถยนต์ กินส่วนแบ่งตลาดกว่า 50% และกลุ่ม Toyota 40% และแบรนด์อื่นๆ อีก 10% และถ้าดูยอดขายรถยนต์กระจายตัวในแขวงเศรษฐกิจสำคัญ แบ่งเป็น เวียงจันทน์ 48% สะหวันนะเขต 15% และจำปาสัก 10% โดยในเวียงจันทน์มีตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ 25 สาขา และนอกเวียงจันทน์ผ่าน Sub-Dealer เป็นส่วนใหญ่ โดยรถกระบะได้รับความนิยมสูงสุด ขณะที่สินเชื่อยานยนต์ปี 2560 อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท จากประชากร 7 ล้านคน

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ขณะที่การแข่งขันในสปป.ลาว จะมีผู้ให้บริการเช่าซื้อที่เป็น Captive finance และ Local Bank เป็นส่วนมาก โดยการแข่งขันจะเน้นเรื่องความสะดวกและการบริการ แต่ความน่าเชื่อถือ ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเป็นท้องถิ่นมากๆ ลูกค้าจะกังวลเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยและรถยนต์จะได้จริงหรือไม่ ซึ่งโดยเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าจะไม่แตกต่างจากไทยมากนัก เพราะจะคิดอัตราคงที่(Flat Rate)ที่ 8% แต่หากดูต้นทุนเงินฝาก หรือ Cost of Fund เฉลี่ยที่ 5% จะเหลือส่วนต่างประมาณ 3% แบ่งเป็น ต้นทุนบริหารจัดการ 1%  ต้นทุนหนี้สงสัยจะสูญ (Loss) อีก 1% จะเหลือผลตอบแทนเพียง 1% เท่านั้น

“แม้ว่าตลาดสินเชื่อยานยนต์ในสปป.ลาว จะค่อนข้างเล็ก แต่ยังเติบโตได้อีกมาก เพราะยังมีอีกหลายพื้นที่ที่สินเชื่อจะเข้าไปให้บริการได้อีก เพราะตลาดรถยนต์จะเติบโตตามเศรษฐกิจ ซึ่งสปป.ลาวกำลังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเป็นอานิสงส์ต่อความต้องการใช้รถยนต์ ทำให้ตลาดรถยนต์เติบโต”

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38| ฉบับ 3,376 ระหว่างวันที่ 21-23 มิ.ย.61

e-book-1-503x62-7