‘วิทัย’ ใต้ปีก กบข. ชูยุทธศาสตร์ "สมาชิกคือศูนย์กลาง"

25 พ.ค. 2561 | 05:10 น.
news-1337 ถูกยืมตัวไปฟื้นฟูธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์)เป็นเวลา 6 เดือน จนฐานะดีขึ้น สามารถมีกำไรจากการดำเนินงานได้สำเร็จ “วิทัย รัตนากร”กลับไปนั่งทำงานในฐานะ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้เพียง 15 วันก็มีอันต้องย้ายที่ทำงานอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่การยืมตัวระยะสั้น แต่มีวาระการทำงาน 4 ปี ในฐานะเลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)คนใหม่

“8 ปีก่อน ผมเคยทำงานที่นี่ จากนั้นย้ายไปกู้นกแอร์ครั้งแรก พอกู้ขึ้นมาได้ ก็พอดีถูกคุณชาติชาย พยุหนาวีชัย ชักชวนมาทำงานที่ออมสิน ก่อนจะถูกยืมตัวชั่วคราวไปฟื้นฟูไอแบงก์ ครบ 6 เดือนเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ก็กลับไปออมสิน วันที่ 15 เมษายน ก็ย้ายมากบข. ถือว่าช่วง 1 เดือน ทำงานถึง 3 ตำแหน่ง” วิทัยบอกเล่าที่มาที่ไป ซึ่งเหตุผลของการเข้ามาทำงานที่กบข.

วิทัยบอกว่า “กลับบ้านที่คุ้นเคย เพราะเป็นที่ที่อยู่นานที่สุด”

[caption id="attachment_282977" align="aligncenter" width="503"] วิทัย รัตนากร วิทัย รัตนากร[/caption]

“วิทัย” บอกว่า กบข.มีภารกิจหลัก 3 ด้านคือ 1.เป็นหลักประกันการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้ข้าราชการ 2.ส่งเสริมการออม และ 3.จัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิก ซึ่งที่ผ่านมา ไปมุ่งเน้นการบริหารผลตอบแทน แต่ไม่ได้เน้น 2 เรื่องหลัง ทำให้ความผูกพันระหว่าง กบข.กับสมาชิก มีแค่ช่วงเริ่มต้นของการสมัครสมาชิกกับการเกษียณอายุเท่านั้น จะมีปีละครั้งก็เป็นรายงานผลตอบแทนรายปี ทำให้คนที่เป็นสมาชิกบข.ไม่ได้รู้สึกแตกต่างจากการเป็นสมาชิกกองทุนอื่นๆเลย

จากนี้ไป จึงจะเป็นการเดินตามแผนยุทธศาสตร์ สมาชิกคือศูนย์กลาง เพื่อให้สมาชิกเกิดความรัก ความผูกพัน และภาคภูมิใจในการเป็นสมาชิกกบข.ควบคู่ไปกับการบริหารผลตอบแทนด้วย จากปัจจุบันที่มีสินทรัพย์รวม 860,782.71 ล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนส่วนสมาชิก 393,334.98 ล้านบาท และกองทุนสำรองจากรัฐบาลอีก 466,847.73 ล้านบาทจึงถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของตลาด ภายใต้สมาชิกทั้งหมด 1.04 ล้านคน และมีสมาชิกใหม่ที่เป็นข้าราชการปีละ 6 หมื่นคนที่จะถูกหักเงินเดือน 3% เข้ากองเหมือนๆกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเอกชน

“ปีที่ผ่านมา เราสามารถสร้างผลตอบแทนจากเงินลงทุนได้ 6.43% เฉลี่ย 3 ปีที่ 4.97% ขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 0.94% แต่ในอนาคตจะสื่อสารผลตอบแทนระหว่างปีน้อยลงเรื่อยๆ เพราะกบข.ถือเป็นนักลงทุนระยะกลางถึงระยะยาว แต่คนกลับไปโฟกัสระยะสั้นมากกว่า ดังนั้นจึงจะพูดถึงระยะ 3 ปี 5 ปีมากกว่าเป็นการค่อยๆปรับพฤติกรรมมากขึ้น”

ทั้งนี้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภายใต้ 3 ส่วนคือ 1.นำระบบงานดิจิตอลเป็นตัวหลักในการบริหารองค์กร เพื่อให้บริการสมาชิกเต็มรูปแบบ โดยจะพัฒนาแอพพลิเคชันให้บริการสมาชิกผ่านโทรศัพท์มือถือ ในการแจ้งเตือนสิทธิประโยชน์ต่างๆของสมาชิก เพื่อความใกล้ชิดกันมากขึ้นควบคู่กับช่องทางบริการเดิมๆ และจะใช้ประโยชน์เต็มที่จากฐานข้อมูลสมาชิก(Big Data) เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในผลประโยชน์ของสมาชิก เพราะการมีฐานข้อมูล จะวิเคราะห์เจาะลึกถึงสมาชิกแต่ละกลุ่มได้ว่าต้องการอะไร เพื่อจะได้หาสิทธิประโยชน์ได้ตรงกลุ่ม 2.กลยุทธ์การสื่อสารสมาชิกและสร้างการตระหนักรู้ด้านการวางแผนเกษียณ

โดยจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาการเงิน เพื่อเป็นที่พึ่งให้กับสมาชิก เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องการเงินใดๆ และ 3.กลยุทธ์การสร้างประสบการณ์ที่ดีด้วยสวัสดิการและสิทธิพิเศษสมาชิกทั้งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างมาตรการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ รวมเกษียณอย่างมีสุข เช่น ส่งเสริมการออมล่วงหน้าก่อนเกษียณ หรือเงินก้อนที่จะได้ 1.3 ล้านบาทต่อคนมาซื้อประกันเพื่อจ่ายเป็นรายได้ต่อเดือน จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเกษียณอายุ

“การเสริมสร้างความสุขในปัจจุบันและความมั่นคงในอนาคตคือ ภารกิจที่จะทำให้สมาชิกเห็นถึงคุณค่าของ กบข.ชัดเจนขึ้น ซึ่งที่สุดจะทำให้สมาชิกภาคภูมิใจที่ได้เป็นสมาชิกกบข. ซึ่งถือเป็นงานท้าทายที่ต้องขับเคลื่อนไปให้ถึงเป้าหมาย”

สัมภาษณ์ หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,368 วันที่ 24-26 พ.ค. 2561

e-book-1-503x62-7