กรมพัฒน์ฯเผย กฤษฎีการับทราบปัญหา กรณี IFEC แล้ว

09 พ.ค. 2561 | 10:59 น.
หลัง 3 หน่วยงานเข้าชี้แจงประเด็นข้อขัดข้องทางกฎหมายอย่างหมดเปลือก เบื้องต้นใช้ 2 แนวทางปลดล็อกปัญหาให้ IFEC สามารถเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมเตรียมกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิม สร้างบรรทัดฐานตลาดทุนไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) รับทราบข้อขัดข้องทางกฎหมายบริษัทมหาชนแล้ว หลัง 3 หน่วยงาน พค. ก.ล.ต. และ ตลท. เข้าชี้แจงรายละเอียดอย่างหมดเปลือก เบื้องต้นใช้ 2 แนวทางปลดล็อกปัญหา IFEC ที่เกิดขึ้นให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ บรรเทาความเดือดร้อนผู้ถือหุ้นรายย่อย พร้อมเตรียมกำหนดแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดประชุมของคณะกรรมการบริษัทมหาชนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิม หวัง!!! IFEC เป็นกรณีศึกษา...สร้างบรรทัดฐานใหม่ตลาดทุนไทย พร้อมฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “วานนี้ (วันที่ 8 พฤษภาคม 2561) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (พค.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เข้าชี้แจงข้อขัดข้องทางกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัดกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.)

โดยมี IFEC เป็นตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมาพิจารณา เพื่อหาทางออกแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น “เบื้องต้น แนวทางการแก้ปัญหาอาจดำเนินการได้ 2 แนวทาง ดังนี้ แนวทางที่ 1 ใช้มาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 เป็นข้อปลดล็อกให้ผู้ถือหุ้นสามารถเรียกประชุมผู้ถือหุ้น โดยการนำมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาใช้ในการดำเนินการจัดประชุม ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ 1) ความเป็นผู้ถือหุ้นมีครบจำนวน 10% โดยดูได้จากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น (มาตรา 61) หรือใบหุ้น (มาตรา 58) 2) กำหนดเรื่องที่ร้องขอให้ที่ประชุมพิจารณา และ 3) ผู้ถือหุ้นสามารถดำเนินการจัดประชุมได้ โดยคณะกรรมการต้องอำนวยความสะดวกตามสมควร เป็นต้น”

“แนวทางที่ 2 การประชุมผู้ถือหุ้นที่เรียกโดยคณะกรรมการ ที่มีประเด็นปัญหาทางข้อกฎหมายที่ได้ขอหารือกับ สคก. ขณะนี้ สคก. ได้รับทราบรายละเอียดข้อขัดข้องทางกฎหมายทั้งหมดแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น ซึ่ง สคก. จะเร่งพิจารณาข้อวินิจฉัยดังกล่าวให้ และคาดว่าจะตอบกลับกรมฯ ในเร็วๆ นี้”

“ทั้งนี้ หลังจาก สคก. ได้มีผลการพิจารณาและส่งกลับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว กรมฯ จะรีบแจ้งให้แก่ ก.ล.ต. และ ตลท. ทราบ และจะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อวางแนวทางปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนเร่งดำเนินในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยด่วนต่อไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นกู้ และให้หุ้นของ IFEC สามารถกลับมาซื้อ-ขายได้อีกครั้ง ซึ่งกรณีของ IFEC นี้ ถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญที่จะช่วยสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้แก่ตลาดทุนของไทย รวมถึง ผลการพิจารณาฯ ของ สคก. จะสามารถฟื้นความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้กลับมาอีกครั้ง”

“นอกจากนี้ กรมฯ เตรียมเดินหน้ากำหนดแนวทางปฏิบัติการจัดประชุมของคณะกรรมการบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อให้สอดคล้องกับผลการพิจารณาของ สคก. ต่อไป อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง สคก. ก.ล.ต. ตลท. และหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จนทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านพ้นไปได้” อธิบดีกล่าว