ฐานโซไซตี : อุทาหรณ์ “เจ้าหน้าที่รัฐ” เอื้อค่ายมือถือ

03 เม.ย. 2561 | 06:03 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

5685 นับเป็น “อุทาหรณ์” อย่างดีสำหรับ “ข้าราชการ” และ “เจ้าหน้าที่รัฐ” จากกรณี “สุธรรม มลิลา” อดีตผอ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) เมื่อปี 2544 ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีโอที จำกัด เมื่อถูกศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 6 ปี กรณีใช้อำนาจทุจริตเอื้อประโยชน์บริษัทมือถือค่าย AIS พร้อมกับถูกศาลสั่งให้ชดใช้เป็นเงินกว่า 46,000 ล้านบาท

กรณีดังกล่าว สุธรรม ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดฐานแก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ 6) ให้ บริษัท แอด วานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด หรือ AIS ได้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์มือถือในแบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า หรือ Prepaid Card ในชื่อ “วันทูคอล” โดยมิชอบ
1522735579319 โดยศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกฟ้อง สุธรรม  เป็นว่า สุธรรม มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ, ทำ , จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต เป็นการสร้างความเสียหายแก่รัฐ จึงให้จำคุก 9 ปี แต่พยานหลักฐานที่จำเลย นำเข้าไต่สวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกรวม 6 ปี และให้จำเลยชำระเงินกว่า 46,855 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.2559 ให้แก่ บริษัท ทีโอที ผู้เสียหายคดีนี้

ศาลอุทธรณ์ฯ ได้ระบุถึงพฤติการณ์ความผิดสรุปความว่า สุธรรม ได้มีความเห็นและลงนามในสัญญา กรณี AIS ขอลดส่วนแบ่งรายได้จาก 25% เหลือ 20% ซึ่ง “ศาลฎีกานักการเมือง” เคยวินิจฉัยว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท AIS ไม่ใช่การทำเพื่อประโยชน์ของราชการ และทำให้ทีโอทีเสียหาย
1522735362144 เมื่อพูดถึง AIS ขณะนี้ก็มีกรณีที่กำลังผนึกกับค่ายมือถือ TRUE เรียกร้องไปยัง “คสช.” ให้ใช้ ม.44 ช่วยยืดชำระค่าประมูลสัมปทานคลื่น 4G ในงวดที่ 4 วงเงินรวม 1.3 แสนล้านบาท ออกไปเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ก็แทงเรื่องไปยัง กสทช. โดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาฯ กสทช.ได้เข้าชี้แจงต่อที่ประชุม คสช. ก่อนที่ คสช.จะตีกลับข้อเสนอดังกล่าว ด้วยเป็นห่วงอย่างที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ทักท้วงว่าการยืดระยะเวลาชำระค่าคลื่นให้กับผู้ประกอบการค่ายมือถือจะเป็นการ “เอื้อเอกชน”

ฐากร บอกว่า ได้พยายามตอบคำถามต่างๆ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยวาจาให้ดีที่สุดแต่ท่านให้เวลาอีก 1 สัปดาห์ เพื่อให้กลับมาตอบคำถามต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนอีกครั้งโดยให้เน้นเรื่องของผลประโยชน์ของรัฐกับประชาชนให้มากที่สุด

เรื่องการอุ้ม “AIS-TRUE” มีข้อมูลเห็นๆ ว่า จะทำให้รัฐต้องสูญเสียผลประโยชน์มากกว่า 3 หมื่นล้านบาท และจะเข้าทาง “เอกชน” ด้วยมูลค่าหุ้นที่จะเพิ่มขึ้น หาก กสทช.โดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ที่เป็น “ตัวชง” และ คสช.ที่เป็น “ตัวตบ” ยังดันทุรังเอื้อประโยชน์เอกชนต่อไป ก็ขอให้ดู “อุทาหรณ์” จากคดีของ สุธรรม มลิลา ไว้ก็แล้วกัน... แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

สนับสนุนเต็มที่กับกรณีที่ขณะนี้ 4 แบงก์ใหญ่ทั้ง “ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย-กรุงเทพ-กรุงไทย” ยกเลิกค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้กับลูกค้าของธนาคารที่ทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้หันมาใช้บริการ

รายละเอียดแต่ละธนาคารประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมการเงิน 5 ประเภท ที่ลูกค้าใช้บริการบ่อยๆ ได้แก่ 1.โอนข้ามเขต 2.โอนต่างธนาคาร 3.เติมเงินต่างๆ 4.จ่ายบิล 5.กดเงินโดยไม่ใช้บัตรข้ามเขต  บนการใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นเอสซีบีอีซี่ (SCB Easy) ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.นี้เป็นต้นไป

ธนาคารกสิกรไทย  ยกเลิกค่าธรรมเนียม สำหรับลูกค้ารายย่อยและลูกค้าผู้ประกอบการที่ใช้บริการช่องทางดิจิทัล 4 ช่องทาง ได้แก่ K PLUS, K PLUS SME, K-Cyber, K-Cyber SME และฟรีค่าธรรมเนียมบริการยอดนิยมที่ลูกค้าใช้บริการมากที่สุด ได้แก่ โอนข้ามเขต/ข้ามธนาคาร จ่ายบิลค่าสินค้า และบริการ เติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.เป็นต้นไป
15-3353 ธนาคารกรุงเทพ ยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม ทั้งช่องทางบริการผ่านโทรศัพท์มือถือ บัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง และช่องทางบริการทางอินเทอร์เน็ต บัวหลวง ไอแบงก์กิ้ง สำหรับลูกค้าที่โอนเงินข้ามเขต โอนเงินต่างธนาคารแบบทันที โอนเงินพร้อมเพย์ การชำระบิล ค่าสินค้าและบริการ และบริการเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2561 เป็นต้นไป ทั้งยังยกเว้นค่าธรรมเนียมเอทีเอ็มถอนเงินข้ามเขตและโอนเงินข้ามเขตจากบัญชีภายในธนาคาร และโอนเงินไปยังบัญชีต่างธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย.2561

ธนาคารกรุงไทย ไม่คิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต หรือโอนต่างธนาคารแบบทันที จ่ายบิล ค่าสินค้าและบริการ บริการเติมเงิน ผ่าน แอพพลิเคชั่น  KTB netbank  และออนไลน์แบงกิ้ง ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.จนถึงสิ้นปี 2561

นอกจาก 4 ธนาคาดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าเดี่ยวคงมีธนาคารอื่น ๆ ทำตามมาด้วย ไม่อย่างนั้น “ลูกค้า” คงหนีหายไปหมด ส่วนประชาชนทั่วไปก็ต้องศึกษาและมาใช้บริการ “ออนไลน์” ในการทำธุรกรรมกับธนาคารมากขึ้น เพราะจะได้ไม่ต้องเสีย “ค่าธรรมเนียม” ต่าง ๆ ทั้งการโอนเงิน หรือแม้แต่การจ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนบ้านต่าง ๆ ...อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ต้องปรับตัวเข้าสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” กันแล้ว

......................
คอลัมน์ :ฐานโซไซตี หน้า 4 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,353 ระหว่างวันที่ 1-4 เม.ย. 2561
e-book-1-503x62