‘ไมย์เออร์’รุกหนักเครื่องครัว ปั้นน้องใหม่‘ฟาร์เบอร์แวร์’เจาะตลาดดันรายได้โต20%

28 มี.ค. 2561 | 14:38 น.
ไมเร็กซ์ ชี้สัญญาณบวกดันตลาดเครื่องครัวโต เปิดแผนลงทุน 5 ปีทุ่ม 100 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตลดจำนวนแรงงาน พร้อมปรับกลยุทธ์ออนไลน์ ชู “โกลบอลแพลตฟอร์ม” ปั้นน้องใหม่ “ฟาร์เบอร์แวร์” เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม หวังดันรายได้โต 20%

นายโจเซฟเคซี โล กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเร็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องครัวแบรนด์ไมย์เออร์, เพรสทีจ, อโนลอน, เซอคูลอน และฟาร์เบอร์แวร์เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แผนการลงทุนระยะยาว 5 ปี (ปี 2560-2564) บริษัทเดินหน้าเพื่อรองรับการเติบโตในตลาดเครื่องครัวเมืองไทยที่ส่งสัญญาณบวกมาตั้งแต่ต้นปี โดยปีนี้เตรียมงบลงทุน 100 ล้านบาท ในการเพิ่มเครื่องจักรระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีในไลน์การผลิตเพิ่มมากขึ้น เพื่อเข้ามาช่วยเรื่องการผลิตในส่วนที่ไม่สามารถใช้แรงงานคนได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดจำนวนการใช้แรงงานคนอีกด้วย

[caption id="attachment_271388" align="aligncenter" width="335"] โจเซฟเคซี โล กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเร็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด โจเซฟเคซี โล กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเร็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด[/caption]

พร้อมกันนี้บริษัทยังได้ปรับกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ใหม่โดยจะมีการนำแพลตฟอร์มโกลบอลเว็บไซต์เข้ามาใช้ในการทำตลาดออนไลน์เป็นแพลตฟอร์มเดียวกันทั่วโลก เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างทั่วถึง โดยจะแยกจัดส่งตามรายการสั่งซื้อสินค้าในแต่ละประเทศที่ลูกค้าต้องการให้จัดส่ง เช่น ลูกค้าสั่งสินค้าจากประเทศอังกฤษ และออร์เดอร์จัดส่งสินค้าที่ประเทศไทย ไมย์เออร์ (ไทยแลนด์) ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเรื่องการจัดส่งสินค้าตามพื้นที่ลูกค้าต้องการให้จัดส่ง เช่นเดียวไมย์เออร์ทั่วโลก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงและยังเป็นการทำตลาดที่สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิตอลซึ่งในปัจจุบันแต่ละประเทศยังใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เดิมอยู่

“เว็บไซต์ไมย์เออร์ กรุ๊ปที่จะใช้เป็นโกลบอลแพลตฟอร์มนั้น มีการระดมทีมนักการตลาดจาก 6 ประเทศ เพื่อวางกลยุทธ์และพัฒนาวางระบบแพลตฟอร์มที่คาดว่าจะพร้อมใช้ได้ภายในปีนี้ได้แก่ อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย ฮ่องกง และไทย ซึ่งทั้ง 6 ประเทศถือเป็นกลยุทธ์การตลาดสำคัญของไมย์เออร์ กรุ๊ป ปัจจุบันยังคงใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ผ่าน marketplace เดิมทุกประเทศทั่วโลก”

ทั้งนี้ปัจจุบันในประเทศไทยยังมีการจำหน่ายผ่านช่องทางรีเทลกว่า 600 สาขาทั่วประเทศและในช่องทางการจำหน่ายออนไลน์หลายช่องทางเช่น Lazada, Shopee, 11Street และ Central Group, The Mall Group เป็นต้น โดยมีสัดส่วนยอดขายออนไลน์ประมาณ 5% จากยอดขายรวม และตั้งเป้าหมายเติบโตทางด้านช่องทางออนไลน์ 15% หลังจากมีการนำเว็บไซต์โกลบอลแพลตฟอร์มมาใช้ ผ่านการใช้งบการตลาด 5% นอกจากนี้บริษัทยังได้นำเข้าแบรนด์รองในกลุ่มอย่าง Farberware (ฟาร์เบอร์แวร์) ลงทำตลาดในไทยเพิ่มในปีนี้เพื่อเจาะกลุ่มผู้ใช้เฉพาะกลุ่มมากขึ้น ขณะที่ในอนาคตยังมีแผนนำเข้าแบรนด์ใหม่ๆ มาทำตลาดในไทยเพิ่ม จากแบรนด์ในเครือของบริษัทที่มีทั้งสิ้นกว่า 20 แบรนด์

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ สำหรับปีที่ผ่านมายอดขายโดยรวมของบริษัทในภูมิภาคเอเชียไม่ได้เติบโตมากนัก ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตแบบทรงตัวจากปีก่อนหน้า รวมไปถึงในประเทศไทยที่มีการเติบโตหลักเดียวสอดคล้องกับตลาดภูมิภาค มีเพียงกลุ่มซีแอลเอ็มวีที่มีการเติบโตสูง เนื่องจากเพิ่งเข้าไปทำตลาด 2 ปีและมีฐานตลาดเล็กอยู่ ขณะเดียวกันมองว่าแนวโน้มในตลาดปีนี้น่าจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง เนื่องจากมีปัจจัยบวกในเรื่องของสภาพเศรษฐกิจรวม ค่าจีดีพีที่ดี กำลังซื้อฟื้นตัว รวมไปถึงการออกสินค้าใหม่ของผู้เล่นในตลาด

อย่างไรก็ตามบริษัทตั้งเป้าการเติบโตในไทยสิ้นปีนี้ 20% และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดเป็น 15% จากปีที่ผ่านมาที่มีส่วนแบ่งทางการตลาด 10% จากมูลค่าตลาดรวมเครื่องครัวในประเทศไทยที่ 8,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มตลาดระดับบน 20% และตลาดระดับกลางลงล่าง 80% แบ่งเป็น กลุ่มตลาดระดับบน 20% และตลาดระดับกลางลงล่าง 80% ปีนี้คาดว่าตลาดรวมจะโตขึ้น 7% มากกว่าปีที่แล้วที่โต 5% โดยประเทศไทยยังถือเป็นฐานผลิตที่ใหญ่ที่สุดจาก 3 ประเทศที่มีอยู่ คือ ไทย จีน และอิตาลี โดยไทยส่งออกเครื่องครัว 90% ไปสู่ 30 ประเทศทั่วโลกสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ที่สุดส่งออกมากถึง 70%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,351 วันที่ 25 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว