'ฉาย บุนนาค' คนทำสื่อหรือนักลงทุน? (2)

04 มี.ค. 2561 | 09:00 น.
1339

“ฉาย บุนนาค” ประธานกรรมการบริหารกลุ่มสปริงนิวส์ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือ “วันนักข่าว ประจำปี 2561” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เเห่งประเทศไทย คอลัมน์ “‘ฉาย บุนนาค’ คนทำสื่อหรือนักลงทุน?”

การสัมภาษณ์ดังกล่าว กองบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจออนไลน์ ได้นำบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมาเผยเเพร่ โดยจะเเบ่งออกเป็น 3 ตอน ในการนำเสนอโดยไม่ตัดทอนต้นฉบับ ...


ยันไม่เอาธุรกิจสื่อ ทำให้รวยจากหุ้น

อยู่ในวงการหุ้น ตอนนี้เข้ามาดูธุรกิจสื่อด้วยตัวเอง มีการมองว่า จะใช้สื่อเข้ามาทำให้ตัวเลขหุ้นที่ถืออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ขึ้นลงหรือไม่
… ยกตัวอย่าง ‘ฐานเศรษฐกิจ’ เป็นบริษัทที่ผมถือหุ้นอยู่ ไม่เคยลงข่าวที่ผมถือหุ้นเลยแม้แต่ครั้งเดียว นอกจากนี้ความตั้งใจของผม คือ การลดการลงทุนในตลาดหุ้นลงและเปลี่ยนการลงทุนเป็นการลงทุนในระยะยาว ถามว่า ผมยังมีหุ้นที่ถือในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ มีแน่นอน แต่ผมไม่เคยเข้าไปแทรกแซงกองบรรณาธิการให้ลงข่าวบริษัทผมเอง ไม่เคยไปบอกให้เชียร์บริษัทตัวเองเพื่อให้หุ้นขึ้น

เราถามถึงนิยมความเป็นสื่อมืออาชีพในทัศนะของ ‘ฉาย บุนนาค’ คืออะไร เขาตอบว่า การเสนอข่าวมีคุณภาพ มีจิตสำนึกต่อสังคมประเทศชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นประโยชน์ต่อสังคม มีที่มาที่ไปไม่บิดเบือน ไม่มีอคติ เสนอข่าวต้องให้ทุกคนที่อยู่ในเนื้อหาข่าวได้มีโอกาสอธิบายชี้แจง ไม่เอาข่าวไปหาประโยชน์ส่วนตัว นั่นคือ หลักคิดของสื่อที่มีคุณธรรมและจริยธรรม

ปัจจุบันธุรกิจสื่อมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งการเมือง เรื่องโฆษณา เรื่องเรตติ้ง มองกันว่า ความเป็นสื่อมืออาชีพก็จะหายไป ในฐานะผู้บริหารสื่อมองอย่างไร
… สิ่งที่ผมตั้งมั่นตลอดแล้วก็คือ จะไม่เห็นผมหรือภรรยาหรือคนในครอบครัวลงเล่นการเมือง ไม่มีทาง อย่างที่บอกไปแล้วคือ ผมไม่ได้อยากทำธุรกิจสื่อ แต่ด้วยเหตุบังเอิญทุก ๆ อย่าง นำพาให้มาอยู่ตรงนี้ ซึ่ง ณ วันนี้ผมมีภาระหน้าที่ต้องพาให้องค์กรไปรอดกับพนักงานทั้งหมดที่อยู่ภายใต้บริษัทลูกกว่า 600 คน ก็เป็นภาระหน้าที่ที่ต้องทำให้สำเร็จ

ผมไม่เคยมีความต้องการที่จะไปประมูลทีวีดิจิทัลเลย แต่ภรรยาผมเขาไปคุยกับคณะกรรมการบริษัท เขาไปประมูล ซึ่งผมมีความคิดเห็นแตกต่างมาตลอด ผมว่าแพงเกินไป แต่วันนี้มีแล้วก็ต้องอยู่กับมัน ต้องทำให้มันไปได้


content-49



เป้าหมายการเป็นนักธุรกิจสื่อ?
เมื่อถามถึงเป้าหมายในการทำธุรกิจสื่อและการเป็นเจ้าของสื่อจำนวนหลายแห่งในเวลานี้ ‘ฉาย’ ออกตัวว่า สำหรับผมความท้าทายไม่ใช่การหาเงินแล้ว ไม่ใช่การเล่นหุ้นแล้ว ผมอายุ 36 ปีแล้ว ความมุ่งมั่นในการจะเดินไปในทางธุรกิจน้อยลงไปเยอะ ทั้งที่ความจริงจะต้องเต็มที่ แต่ผมเบื่อแล้ว ผมอยากจะพาองค์กรนี้ไปให้รอด ให้มีกำไรพอ ให้มีความมั่นคงกับพนักงานและผู้ถือหุ้นเท่านั้นเอง ไม่ต้องกำไรเยอะ ขอแค่นี้

วันนี้ถ้าผมทำให้ธุรกิจสื่อในเครือทั้งหมดไม่ขาดทุนได้ ผมคิดว่า ผมได้ทำหน้าที่ครบถ้วนแล้วเพื่อองค์กร และเพื่อผู้ถือหุ้นทุกรายที่อยู่ในบริษัทแม่ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ยากลำบาก ถ้าผมทำองค์กรให้ไปรอดอย่างมั่นคงได้ ผมคิดว่า นั่นคือ จุดมุ่งหมายบนหลักทางจริยธรรมของเนื้อหาสื่อที่ออกมา

ไม่ได้มองว่า ธุรกิจสื่อ คือ เรื่องของการลงทุน
… ผมทำสื่อ สิ่งที่ต้องการเห็น คือ 1.ผู้ถือหุ้นกับพนักงานต้องมีความมั่นคง 2.ต้องเป็นสื่อที่มีประโยชน์ต่อประเทศ

ถ้าทำสำเร็จ ก็ถือว่าสำเร็จครบถ้วนทุกอย่างแล้ว ผมไม่จำเป็นต้องกำไรปีละหลายร้อยล้าน ผมถือว่า ณ สถานการณ์ขณะนี้ไม่ทำให้บริษัทขาดทุน แล้วมีกำไรบ้าง มีเงินปันผลเล็กน้อย พนักงานมีทั้งโบนัสและความมั่นคง คอนเทนต์เนื้อหาที่ออกมามีประโยชน์ เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาทางสังคม ผมถือว่า ผมทำครบถ้วนแล้ว นั่นคือ เป้าหมาย ราคาหุ้นขึ้นหรือไม่ ผมไม่สนใจ ด้วยความสัตย์จริง ผมถือว่าผมลงทุนในระยะยาวได้

ผมคิดว่า คุณค่ากับคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า นั่นคือ Value ที่แท้จริงขององค์กร ถึงแม้ว่าจะไม่บุ๊กในตัวเลขทางบัญชี แต่จะบุ๊กในจิตสำนึกของคนทั้งสังคม

“วันนี้ใครจะพูดอะไร ผมไม่สนใจ ผมมีความเชื่อมั่นว่า อีก 1-2 ปี ผมพาองค์กรรอด โดยที่ผมไม่ต้องไปทำสื่อตบทรัพย์ใคร ผมพูดชัดเจนนะครับ แล้วไม่ต้องไปพึ่งพาหรือเอื้อประโยชน์นักการเมือง ไม่จำเป็น”

มองอย่างไรที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ของประเทศเวลานี้ เข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจสื่อจำนวนมาก ทั้งกลุ่มซีพี กลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี กลุ่ม นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ทั้งหมดเป็นเจ้าของสื่อหลายแห่ง โดยเฉพาะทีวีดิจิทัล
… เป็นเรื่องคนในอยากออก คนนอกอยากเข้า คงเป็นความหอมหวนมั้ง คนชอบคิดว่า สื่อเป็นศักดินาพิเศษ คือ เป็นทฤษฎีของมาสโลว์ คือ คนเราต้องการ Security ของชีวิต มีกินมีใช้ ต้องการเงิน แต่สุดท้ายอาจจะต้องการอำนาจ

ผมไม่รู้ว่าคุณเจริญหรือคนอื่นคิดอะไร เขาอาจจะมองว่า การลงทุนนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าก็ได้ ผมไม่ทราบ แต่ผมคิดว่า มันเป็นเกม ถ้าคุณไม่มีทุน คุณไม่สามารถทำทีวีดิจิทัลได้ แต่ถ้าคุณอยากเป็นสื่อ คุณสามารถทำเองได้บนเฟซบุ๊ก

ระดมทำ-คุมสื่อ เพื่อเป็นเจ้าพ่อสื่อ?


มีคนมองว่า ฉาย บุนนาค กำลังจะกลายมาเป็นเจ้าพ่อสื่อยุคใหม่
… (หยุดคิดก่อนย้อนถามว่า) มีประโยชน์หรือครับ ผมเป็นเจ้าพ่อสื่อที่ขาดทุน ผมคิดว่าเป็นทุกขลาภ เป็นทุกข์มากกว่าที่จะต้องมาแก้ปัญหา มาผ่าตัดองค์กรที่ขาดทุน

เคยมีคนพูดว่า ทำสิ่งพิมพ์เหมือนเผาเงินทิ้งถ้าขาดทุน แล้วทำทีวีตอนคุณนอนหลับ คุณยังขาดทุนตลอดเวลา

เพราะฉะนั้นผมถามว่า การเป็นเจ้าพ่อสื่อคืออะไร มีประโยชน์อะไรในเมื่อทุกคนเป็นสื่อได้หมด ถ้าผมทำสื่อมีคุณภาพ ผมคิดว่า คนก็เป็นเจ้าพ่อสื่อได้ ไม่จำเป็นต้องมาซื้อสื่อเยอะ ๆ วันนี้คือ การบริหารแบรนด์ของสื่อมากกว่า

Screen Shot 2561-03-04 at 15.48.34


รู้สึกกดดันหรือไม่ เพราะนักธุรกิจ นักลงทุนคนอื่น เช่น กลุ่มคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี หรือ นพ.ปราเสริญ ปราสาททองโอสถ หรือกลุ่มซีพี มาทำสื่อก็ไม่ตกเป็นเป้าจับตามองมาก แต่พอ ฉาย บุนนาค เข้ามา ธุรกิจสื่อกลายเป็นตำบลกระสุนตก โดนเพ่งเล็ง

… เพราะเข้าไปถือทีวีดิจิทัลช่องวาไรตี้เลยไม่กระทบคนอื่นมากกว่า ถ้าคุณเจริญไปซื้อมติชนอาจจะไปกระทบก็ได้ เพราะฉะนั้นเขาไม่ใช่สื่อ แต่เขามาลงทุนช่องวาไรตี้ เขาไม่ได้ลงทุนสื่อ เลยไม่ถูกเพ่งเล็งมาก

ผมคิดว่า นักข่าวก็จะสนใจในมุมที่แวดวงเขาเท่านั้น คุณเจริญไปถือหุ้นบริษัทลูกแกรมมี่ ก็ไม่ได้มีผลอะไรกับคนอื่น เพราะเขาลงทุนช่องวาไรตี้

Screen Shot 2561-03-04 at 15.51.53


ช่วงที่ผ่านมา มีคอลัมนิสต์บางคนในสื่อบางค่ายวิพากษ์วิจารณ์ ฉาย บุนนาค กับกรณีเนชั่น จะกลายเป็นศึกระหว่างค่ายสื่อหรือไม่
… คอลัมนิสต์เป็นคนคนเดียว โลกธรรมแปด คือ สรรเสริญกับนินทาอยู่คู่กัน สมมติว่า มีคนบ้าเดินมาด่าคุณ ถ้าคุณเก็บไปเป็นความทุกข์ คุณนั่นแหละเป็นคนบ้า จะโกรธทำไม

ผมถึงบอกว่า เราแก้ไขเรื่องในอดีตไม่ได้ แต่ผลงานในอนาคตเป็นตัวพิสูจน์ เพราะฉะนั้นผมไม่สนใจ ถ้าสมมติความตั้งใจของเราต้องไปอิงกับความคิดคนอื่น มันก็ไม่มีประโยชน์ ผมให้ความเคารพสื่อในทุก ๆ ค่าย กอง บ.ก. ทุก ๆ กอง รวมถึงเนชั่นหรือสื่อที่ไหนก็ตาม เราให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกันในวิชาชีพเสมอ ดังนั้น มันไม่ใช่สงครามระหว่างค่าย

“เรื่องที่ว่า เข้ามาล้างบาง คนก็พูดกันไปเรื่อย วันนี้จะปฏิเสธ จะพูดอะไรไป คนก็พูดไป”

ผมถึงบอกว่า ผลลัพท์ทุก ๆ อย่างจะเป็นตัวพิสูจน์เองว่า อะไรเป็นอะไร  ไม่ใช้เวลานานในการที่จะเห็น ปีนี้ก็เห็นแล้วว่า ในเครือนี้ (เนชั่น) ไปได้หรือไม่ อีก 6 เดือน ก็เห็นแล้วว่า เนชั่นไปได้หรือไม่ จะขายทรัพย์สินได้หรือไม่ จะแก้ไขปัญหายังไง ผู้บริหารชุดใหม่เป็นใคร อีกไม่กี่เดือนก็เห็น ส่วนบริษัทนิวส์ เน็ตเวิร์คฯ ก็คงเห็นเหมือนกันว่า จะไปได้หรือไม่

“ผมพยายามอย่างดีที่สุดที่จะทำให้องค์กรไปได้ ถ้าไปไม่ได้ก็คือ ไปไม่ได้ ผมไม่ใช่คุณเจริญ ผมไม่มีสายป่านยาวขนาดนั้น ผมยังต้องไปคุยกับบริษัทแม่ตลอดว่า ขอเงินมา ๆ ๆ ๆ ๆ บางทีมันต้องมีวันสิ้นสุด แต่ผมเชื่อว่า ไปได้”

ซึ่งผมไม่ต้องไปรู้เรื่องภายใน ผมดูงบการเงินบริษัทก็รู้แล้วว่า ไปได้หรือไม่ได้ ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนก็ไปไม่ได้ อันนี้หมายถึง ทุกคนที่ขาดทุน สื่อต้องปรับโมเดลธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องปรับกอง บ.ก. เพราะเป็นเรื่องของกอง บ.ก. ผมเห็นว่า เนชั่นก็สูญเสียคนดี ๆ ไปเยอะ ที่ลาออกมาในช่วง 5 ปีหลัง ดังนั้น ก็เป็นเรื่องภายในของเขาที่ต้องพัฒนากอง บ.ก. และคอนเทนต์ของเขา แต่เขาไปได้อยู่แล้ว ถ้าเขาปรับธุรกิจ

การเออร์ลีรีไทร์ในเครือเนชั่นเป็นสิ่งที่ผิดพลาดที่สุด เพราะหมายถึง คุณปิดโรงงาน เมื่อคุณปิดโรงงานแล้ว คุณจะเอาอะไรเป็นจุดขาย เพราะหลักคือ กอง บ.ก. ที่ผลิตข่าว คุณคอนโทรลข่าวให้มีคุณภาพ คอนโทรลของให้มีคุณภาพ ให้ของตอบโจทย์ลูกค้า ก็คล้าย ๆ กับหลักที่เป็นโรงงาน แต่เป็นโรงงานที่ QC ยากเท่านั้นเอง คุณให้พนักงานที่มีคุณภาพของคุณออก

Screen Shot 2561-03-04 at 15.55.24


มีแนวโน้มจะขยายธุรกิจในเครือหรือไม่
… น่าจะมีการปรับโครงสร้างมากกว่า ในเครือนี้ไม่มีนโยบายเอาคนออก เพราะไม่มีความจำเป็น พนักงานทั้งเครือประมาณ 600 คน แต่เราจะ Transform ทุกวันนี้ผู้ผลิตคอนเทนต์ นักข่าวที่มีคุณภาพ เรายินดีรับเพิ่ม เราต้องการคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ

ภูมิทัศน์สื่อในมุมมองผู้บริหารกลุ่มนิวส์ เน็ตเวิร์คฯ
‘ฉาย บุนนาค’ ให้ความเห็นถึงภูมิทัศน์สื่อในอนาคตว่า ทุกอย่างอยู่ที่คอนเทนต์ทั้งหมด ถ้าดีก็จะมีผู้อ่าน มีผู้เสพ แต่ถ้ามีแบรนด์ก็จะได้รับความน่าเชื่อถือ สื่อกระดาษจะลดความสำคัญลง เพราะทุกอย่างจะผ่านระบบมือถือ อินเทอร์เน็ต ระบบดิจิทัล ในอนาคตคอนเทนต์ดี ๆ ยาก นักข่าวที่ทำคอนเทนต์ได้เก่ง ๆ หมายความว่า จะบอกว่าข่าวที่คุณทำเป็นข่าวที่สดใหม่ ไม่จำเป็นต้องทำแล้ว คุณไม่สามารถทำข่าวให้สดเพื่อสู้ออนไลน์ได้แล้ว วันนี้สิ่งที่คุณต้องทำ คือ ทำอย่างไร ต้องวิเคราะห์เจาะลึกได้ นั่นคือ ต้องมีคนที่มีคุณภาพที่สุด ซึ่งก็หายาก

ส่วนสิ่งพิมพ์แม้ว่าจะไม่ตาย แต่ก็ไม่โต เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมคุยกับเจ้าของหนังสือพิมพ์จีน เขาบอกว่า คนอ่านหนังสือเขาตายทุกวัน ตายไปเรื่อย ๆ เหมือนเป็นมะเร็ง หนังสือพิมพ์ก็ตาย ๆ ๆ ๆ ๆ ทุกวันนี้มองไม่เห็นแล้ว หนังสือพิมพ์จีนอาจจะมีบ้างแต่น้อยมาก แล้วเปลี่ยนตัวเองไปอยู่บนออนไลน์แทน เขาก็ยังอยู่ได้ มันจะเป็นการ Transform นอกจากนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการหารายได้ด้วย ต้องมีการผสมผสานกัน ถึงต้องเป็นจุดลงตัวที่ยาก แต่ก็ต้องหาโมเดลที่ลงตัวให้ได้


content-53



มองว่า ถ้าเป็นสื่อมืออาชีพจริง ๆ ถึงจะอยู่ได้
… ใช่ครับ คอนเทนต์ต้องมีคุณภาพ ผู้บริโภคไม่โง่หรอกครับ เขาอ่านข่าว เขาก็รู้ว่า คนทำข่าวฉลาดหรือไม่ฉลาด

มองความแตกต่างธุรกิจสื่อ ตอนช่วงยังไม่เข้ามากับหลังเข้ามาแล้วอย่างไรบ้าง
… ธุรกิจสื่อมีทั้งมิติและผลกระทบมากกว่าธุรกิจอื่น เพราะกระทบต่อสังคมต่อความคิดของคนในสังคมเยอะ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมสูง เพราะฉะนั้นคุณต้องมีกฎกติกาชัดเจนและใช้หัวใจในการบริหาร

บางคนชอบมาบอกว่า คุณเข้ามาดูธุรกิจสื่อ คุณก็ใช้ข่าวประชาสัมพันธ์ตัวเองได้ คนที่พูดแบบนั้นแสดงว่า คุณดูถูกกอง บ.ก. มาก เพราะกอง บ.ก. คือ กลุ่มคนที่มีความรู้ สร้างสรรค์คอนเทนต์ออกมา โดยต้องยึดหลักจริยธรรมจรรยาบรรณ ดังนั้น สิ่งที่ยาก คือ การบริหารคน ให้องคาพยพทั้งหมดไปในทิศทางเพื่อผลประโยชน์ขององค์กร

บางคนเขามีเงินแล้วอยากมีสื่อเพื่อให้มีอำนาจ ฉาย บุนนาค เป็นแบบนั้นหรือไม่
… ไม่ครับ ทุก ๆ อย่างนำพามาให้เป็นถึงทุกวันนี้ เพราะวันนี้เงินไม่ใช่ส่วนที่สำคัญแล้ว ถ้าจะถามว่า สำคัญกับชีวิตครอบครัวความเป็นอยู่หรือไม่ ผมก็อยากมีเงินก้อนเหลือไว้ให้ลูกมากกว่านำเงินไปละลายในทีวีดิจิทัล วันนี้สิ่งที่ต้องการ คือ ทำให้ทั้งองค์กรมีความมั่นคง ผลิตสื่อออกมาให้มีคุณภาพต่อสังคม นั่นคือ เป้าหมายที่ต้องการให้เป็น

ไม่ได้คิดที่จะทำธุรกิจสื่อไปต่อยอดหรือ
… ก็บอกแล้ว ผมไม่ลงการเมืองแน่นอน และจะไม่เห็นแน่นอน ถ้าบริษัทอยู่ได้มีกำไร ผมอาจจะลาออกเลยก็ได้ เท่ากับผมได้พิสูจน์แล้วว่า ทำครบแล้ว วันนี้คอนเทนต์ เนื้อหา ผลงาน ผลลัพธ์ต่าง ๆ จะเป็นตัวบอก ภายใน 1-2 ปี แม้ว่าอาจจะเห็นการล้มหายตายจากของสื่อไปบ้าง

มองเส้นแบ่งระหว่างทุนธุรกิจกับสื่ออย่างไร
… ควรจะมีเส้นแบ่ง แต่ควรจะมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน สมมติบริษัทจะมีการจัดสัมมนาแล้วเอื้อกันในด้านการเชิญแขกมาร่วมงาน เพราะกอง บ.ก. จะรู้จักผู้ใหญ่จำนวนมาก ไม่ได้หมายความว่า จะต้องไปเขียนเชียร์ หรือขีดเส้นเลยว่า ห้ามมายุ่งกัน ก็จะทำให้บรรยากาศไม่ดี

Screen Shot 2561-03-04 at 15.56.47


เป็นเจ้าของสื่อแบบนี้ เคยมีนักธุรกิจ นักการเมืองต่อสายหรือร้องขออะไรหรือไม่ เช่น ให้เสนอข่าวบางข่าวเบา ๆ หน่อย
… จะบอกว่า ไม่มีเป็นไปไม่ได้ จะให้ผมทำยังไงได้ หลายคนก็โกรธผม หลายคน ก็ไม่พอใจผม แต่ผมบอกว่าเป็นเรื่องของ กอง บ.ก. ผมก็จะถามกอง บ.ก. ว่า ถ้าสมมติไปกระทบเขา แล้วให้พื้นที่เขาพูดได้หรือไม่ เราคอนโทรลในเรื่องของการให้พ้ืนท่ีทุกคน ถ้าไปกระทบเขามากกว่า ผมถูกใส่ร้าย ใกล้ชิดฝ่ายทักษิณ ชินวัตร

ต่อข้อถามถึงเสียงวิจารณ์ที่มีการมองกันว่า ฉาย บุนนาค มีคอนเนคชั่นท่ีดีกับนักการเมืองบางกลุ่ม เช่น คนในพรรคภูมิใจไทย หรือพรรคเพ่ือไทยบางคน ‘ฉาย’ ฟังคำถามแล้วตอบกลับทันที ส่วนตัวไม่เคยคุยกับ นายเนวิน ชิดชอบ เลย แม้แต่คำเดียวในชีวิต ไม่เคยสนิทกับเสี่ยหนู (อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้า พรรคภูมิใจไทย) แล้วผมจะสนิทกับคนของภูมิใจไทยได้อย่างไร

“คือ เป็นการใส่ร้ายผมตั้งแต่ในอดีตมา ผมไม่อยากพูด ถึงกับบอกว่า ผมเป็นทุนของคุณทักษิณ ทุนนั่นโน่นนี่ หรือบอกว่า แม่ผมสนิทกับน้องคุณทักษิณ มันไม่ใช่เรื่องจริง เขาไม่รู้จักกันเลย ผมมีเพื่อนทุก ๆ วงการ หลายสายงานอาชีพ เพราะฉะนั้นเรื่องการเมืองผมไม่สน ผมไม่มีความชื่นชมใครเป็นพิเศษ”

ตอนนี้ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ คิดว่าการนำเสนอข่าวทั้งสปริงนิวส์กับเครือเนชั่นหลังจากนี้ จะถูกเพ่งเล็งไปด้วยหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ก็มีสปอตไลต์ฉายมาตลอด
… ผมไม่รู้ว่า คำว่าถูกเพ่งเล็งคืออะไร อย่างที่บอกเป็นโลกธรรมแปด ทุกคนมีสิทธิคิดมีสิทธิวิจารณ์ อยากจะพูดอะไรก็พูด ภาษาในบทความมันบอกถึงความกักขฬะของคนอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องของความจริงมากกว่า ความจริงสมาคมนักข่าวมีฝ่ายจริยธรรมอยู่ แต่ผมคิดว่า ร้องเรียนไปก็เท่านั้น เพราะทุกคนมีสิทธิและใช้สิทธิ แต่ใครจะวิจารณ์ยังไงถ้าเป็นการวิจารณ์ที่เป็นประโยชน์ผมก็จะรับฟัง บางคำวิจารณ์ถ้าเป็นคำวิจารณ์ที่เป็นอคติ ผมก็ใช้สิทธิตามกฎหมายก็แค่นั้น ผมไม่จำเป็นต้องตอบโต้ ถ้าจะให้ผมมานั่งตอบโต้ทุกคนก็ไม่ต้องทำงานกันพอดี

ตอนนี้นิยามตัวเองว่าอย่างไร นายทุนสื่อ คนทำสื่อ เจ้าของสื่อ ผู้บริหารสื่อ
… ผมไม่ได้เติบโตจากสายบริหาร แต่วันนี้ผมเป็นผู้บริหารสื่อ และมีความตั้งใจว่า จะให้ไปรอด ผมคิดว่า ผมพาองค์กรไปได้

....................
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ฉาย บุนนาค' คนทำสื่อหรือนักลงทุน? (1)
'ฉาย บุนนาค' คนทำสื่อหรือนักลงทุน? (3)



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว