พ.ร.บ.อีอีซีขายชาติจริงหรือ? ‘คณิศ’แจงลงทุนต่างชาติมีกฎหมายกำกับ

28 ก.พ. 2561 | 04:40 น.
ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ไปแล้ว สำหรับร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ...และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในเร็วๆนี้ เพื่อประกาศบังคับใช้ในเดือนมีนาคม2561เป็นอย่างช้า ซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี

จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็มีอีกฝ่ายออกมาคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับกฎหมายอีอีซีดังกล่าว มุ่งโจมตีว่าเป็นกฎหมายขายชาติ เอื้อประโยชน์ให้กับต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนและทำงาน โดยที่ไม่ศึกษาในรายละเอียดของข้อกฎหมายทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร

TP12-3343-B ++ต่างชาติทั่วไปไม่ได้สิทธิ
จากข้อกล่าวหาดังกล่าว นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) ได้ออกมาชี้แจงถึงข้อบิดเบือน 4 ประเด็นหลักที่เกิดขึ้นว่า กรณีที่อนุญาตให้ต่างชาติซื้อที่ดินถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ 100% นั้น เป็นการเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง โดยพ.ร.บ.อีอีซี ในมาตรา 49 วรรค 1 ระบุ “ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน” ซึ่งหมายความว่า ผู้จะถือครองที่ดินได้ ต้องเป็นนิติบุคคล ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นคนทั่วไปที่เป็นคนต่างด้าว จะไม่ได้สิทธิ หรือหากเป็นบริษัท หรือ นิติบุคคลนั้นๆ ต้องถือเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นไม่สามารถถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้

อีกทั้งกิจการที่ได้รับอนุญาตต้องเป็นอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงโดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด

++มีกฎหมายกำกับดูแล
นอกจากนี้ มาตรา 49 วรรค 3ยังระบุให้ผู้ประกอบกิจการที่จะมีสิทธิ และจำนวนที่ดิน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแต่ต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือหมายความว่า จำนวนที่ดินจะถือได้ต้องไม่เกินกฎหมายส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายการนิคมอุตสาหกรรมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ที่สำคัญการถือครองสิทธิดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ โดยคนต่างด้าวสามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน100%ได้แต่ต้องเป็นผู้ประกอบกิจการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ให้การส่งเสริม หรือเป็นผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมและในกรณีที่ไม่ได้ประกอบกิจการภายในเวลา 3 ปี หรือหยุดประกอบกิจการในที่ดินดังกล่าว ต้องขายที่ดินภายในระยะเวลา 1 ปี

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ++ต่างดาวซื้อคอนโดฯไม่ได้
ส่วนกรณีการอนุญาตให้คนต่างด้าวซื้อและถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมนั้น ไม่ได้อนุญาตต่างด้าวทั่วไปซื้อคอนโดฯได้ แต่ต้องเป็นผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาทำอุตสาหกรรมเป้าหมายเท่านั้น การอนุมัติจึงไม่มาก และเป็นไปตามความจำเป็น และหากจะถือได้มากกว่า 49%ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายฯประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

ส่วนข้อบิดเบือนที่ว่า ให้สิทธิชาวต่างด้าวทำงานโดยไม่ต้องขออนุญาตและไม่จำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพนั้น มาตรา 55 จะให้สิทธิในการทำงานของคนต่างด้าว เฉพาะผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และให้เฉพาะผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารหรือผู้ชํานาญการ มีคุณสมบัติ และมีสิทธิทำงานตำแหน่ง ตามที่คณะกรรมการนโยบายฯกำหนดเท่านั้น เพื่ออำนวยความสะดวก และชักชวนผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษเข้ามาทำงาน และถ่ายทอดความรู้ให้คนไทย

อีกทั้งการประกอบวิชาชีพ ตามมาตรา 59 (1) คณะกรรมการนโยบายฯ จะประกาศให้ผู้ได้รับใบอนุญาต จดทะเบียนและรับรองวิชาชีพจากประเทศที่กำหนด ประกอบวิชาชีพในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด เพื่อให้สามารถรองรับผู้เชี่ยวชาญระดับสูงให้เข้ามาทำงานในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้

++ใช้เงินตปท.ได้ในเขตส่งเสริม
สำหรับข้อบิดเบือนประเด็น การโอนเงินข้ามชาติที่ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบใดๆนั้น มาตรา 58 กำหนด ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งได้รับสิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน มีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินทั้งหมดหรือบางส่วน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายฯกำหนด และสามารถใช้เงินตราต่างประเทศ เพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายฯกำหนด ซึ่งก็คือให้ผู้ประกอบการสามารถถือบัญชีเงินตราต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องรีบแลกเป็นเงินบาท และสามารถใช้เงินตราต่างประเทศนั้น ชำระค่าสินค้าและบริการภายในเขตส่งเสริมได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,343 วันที่ 25 - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว