‘ค่านิยมไทย’ ช่วยสร้าง ‘ไทยนิยม’ ให้ยั่งยืน

25 ก.พ. 2561 | 00:20 น.
Mp23-3342-1A จากการที่รัฐบาลประกาศ นโยบาย “โครงการไทยนิยมยั่งยืน” ด้วยการมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปทำงานในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ เมื่อผมเห็นคำว่า “ไทยนิยม” ก็ฉุกคิดถึงคำว่า “นิยมไทย” ขึ้นมา เพราะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ในฉบับนี้ผมจึงหยิบยกประเด็น“นิยมไทย” มาพูด โดยคำว่า “นิยมไทย” ที่ผมนำมาเล่าให้ฟังจะครอบคลุมการสร้างค่านิยมความเป็นไทยในเชิงพฤติกรรมที่จะสะท้อนผลกระทบสู่ระบบเศรษฐกิจ ฉะนั้นเพื่อให้ชัดเจนมีหลักการ ผมจึงนำหลักวิชาเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Economics) มาอธิบายว่าจะมีวิธีการใดบ้างที่จะทำให้เกิดค่านิยมความเป็นไทยกันอย่างจริงจัง

ก่อนจะเข้าสู่วิธีทำให้เกิดค่านิยมไทย ผมขอเล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับ “เศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม” เป็นพื้นฐานก่อนว่าคืออะไร

“เศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม” คือ การนำหลักเศรษฐศาสตร์กับจิตวิทยามาผสมกันเพื่อให้เข้าใจการตัดสินใจของบุคคลในเรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยศาสตร์นี้ได้ให้ข้อสรุปว่า “การตัดสินใจของบุคคลจะเป็นไปตามทัศนคติส่วนตัว โดยยึดเอาตามความพอใจ ความสะดวก และการเอาแบบอย่างของคนในสังคม” ด้วยเหตุนี้ “การตัดสินใจของบุคคลจะไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีที่สุดและจะโน้มเอียงไปในทางไร้เหตุผลมากกว่ามีเหตุผล” ดังนั้นการจะชักนำสังคมให้ไปในทางที่ปรารถนาจำเป็นต้องเข้าใจกระบวนการคิด การไตร่ตรองส่วนบุคคลว่าเป็นอย่างไร โดยทั่วไปกระบวนการตัดสินใจของบุคคลจะประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยหลักคือ 1. การรับรู้ (Perception) 2. ความพึงพอใจ (Preference) 3. สถาบัน (Institution) เรามาหาคำตอบร่วมกันว่า “จะทำอย่างไรให้คนไทยนิยมไทย?” ผ่านกระบวนการตัดสินใจทั้ง 3 ข้อนี้กันครับ

1. “การรับรู้” จะต้องให้ข้อมูล (Information) แก่สังคมว่าการนิยมไทยมีความสำคัญอย่างไร ถ้าใช้ของไทย เที่ยวเมืองไทย จะทำให้เศรษฐกิจดี เพื่อนร่วมชาติมีงานทำมีความอยู่ดีกินดีพร้อมกันนั้นการดำเนินการขั้นตอนนี้จะต้องสร้างภาพลวงตา(Illusion) และจัดฉาก(Framing) ให้สังคมได้รับรู้ข้อมูลไปในทิศทางที่อยากให้เป็น เช่น จัดให้บุคคลที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย อาทิ รัฐมนตรี อาจารย์ ผู้นำศาสนา ดารา นักแสดง นักคิด ฯลฯ เป็นพรีเซนเตอร์ออกมาสลับการพูดเรื่องนิยมไทยตามแบบฉบับที่ตนเองถนัดผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เพื่อสื่อสารไปยังสังคมให้รับรู้ว่า “การนิยมไทย” เป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนไทยทุกคนทำได้

2. “ความพึงพอใจ” โดยปกติความพึงพอใจของมนุษย์จะอยู่ภายใต้ 4 อิทธิพลของอารมณ์ ได้แก่ การใช้เกณฑ์หยาบๆ ในการตัดสินใจ (rules of thumbs) การกลัวการสูญเสีย (loss aversion) การมีความมั่นใจมากเกินไป (overconfidence) และสภาวะของจิตใจในขณะที่ตัดสินใจ (state of mind) ด้วยอิทธิพลเหล่านี้จะทำให้การตัดสินใจของคนโน้มเอียงไปในทางที่ไม่มีเหตุผลดังนั้นการทำให้ไทยนิยมไทยจะต้องหลีกเลี่ยงอิทธิพลของ 4 ข้อนี้ไม่ให้เกิดขึ้น เช่น การแก้ปัญหาคนไทยไม่พึงพอใจสินค้าไทยเนื่องจากมีภาพในใจว่าสินค้าไทยด้อยกว่าต่างชาติ จึงมักตัดสินใจด้วยการใช้เกณฑ์หยาบๆ ในการเลือกซื้อสินค้าของต่างชาติเป็นอันแรก วิธีแก้คือให้เปลี่ยนวิธีคิดนี้เสียด้วยการยกระดับสินค้าไทยให้มีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากลและผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ หากทำได้ในหลายชนิดสินค้า การใช้ความคิดโดยใช้เกณฑ์หยาบๆ นี้ก็จะเปลี่ยนไปเอง

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ 3. “สถาบัน” หมายถึง องค์กร (Organization) หรือ กลุ่มก้อนสังคม สถาบันค่อนข้างมีความสำคัญในกระบวนการตัดสินใจเชิงปัจเจกชนมากเพราะถ้ากลุ่มคนในสถาบันมีทัศนคติอย่างไร ทำสิ่งใด บุคคลที่อยู่ในสถาบันนั้นๆ ต้องปฏิบัติตาม เกิดเป็นกติกาการอยู่ร่วมกัน ดังนั้นการทำให้ไทยนิยมไทยจะต้องทำให้ทุกสถาบันของสังคมไทยเกิดความรักและนิยมความเป็นไทยไล่ไปตั้งแต่สถาบันระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ไปจนถึงสถาบันครอบครัว

จะเห็นว่าการทำให้ “ไทยนิยมไทย” จะต้องบริหารจัดการกระบวนการตัดสินใจของปัจเจกชนทุกคนในประเทศให้มีส่วนร่วมผ่านกระบวนการการรับรู้ที่สอดคล้องกับเป้าหมายให้ไทยนิยมไทย สร้างความพึงพอใจที่ถูกต้องและมีเหตุผล และที่สำคัญจะต้องสร้างความรู้สึกความมีส่วนร่วมของการอยู่ในสถาบันหรือสังคมนั้นๆ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับการสร้างให้คนไทยนิยมไทย ผมมองว่าทำได้ไม่ยากนักเพราะคนไทยมีจุดร่วมความเป็นไทยที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว เรามีประวัติ ศาสตร์ วัฒนธรรม ความเป็นชาติมาอย่างยาวนาน ท้ายสุดผมขอฝากข้อคิดสั้นๆ ครับ ถ้าทำให้คนไทย “นิยมไทย” แล้ว “ไทยนิยมยั่งยืน” สำเร็จได้ไม่ยากครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,342 วันที่ 22 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว