เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเป็นศาสตร์ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน โดยไม่ได้จำกัดแค่ในแวดวงวิชาเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่รวมไปถึงสาขา อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และการกำหนดนโยบายซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ด้วย
จุดแข็งของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คือ การใช้เหตุและผลมาอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ แต่แท้จริงแล้วถ้าพิจารณากันอย่างลึกซึ้ง ย่อมไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า มนุษย์นี่แหละเป็นสิ่งมีชีวิตที่ “ไม่มีเหตุผล” โดยสมบูรณ์ในตัวของมันเอง กระบวนการคิดและพฤติกรรมหลายอย่างจึงเกิดขึ้นอย่างไม่มีเหตุมีผล ก่อให้เกิดสาขาที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจึงเป็นกลุ่มคนที่พยายามมีความเข้าใจถึงกระบวนการคิดและพฤติกรรมที่ไม่มีเหตุมีผลของมนุษย์ โดยนำเอาวิธีคิดที่ใช้เหตุและผลมาอธิบายความไม่มีเหตุผลของมนุษย์เหล่านี้
แน่นอนว่า นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็ได้เอาวิธีคิดที่ใช้เหตุและผลมาอธิบายสิ่งที่ไม่มีเหตุผลในนามของ “ความรัก” ด้วยเพราะนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเข้าใจทั้งวิธี คิดแบบเศรษฐศาสตร์และความรักอันเป็นความรู้สึกอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติในคราวเดียวกัน
เมื่อนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียนรู้เบื้องหลังพฤติกรรมหลายอย่างของมนุษย์ พวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะรับเอาพฤติกรรมเหล่านี้มาใช้ ซึ่งบทความนี้จะนำเอาเบื้องหลังของพฤติกรรม 6 ประการที่ส่งผลทำให้นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมสามารถเป็น “นักรัก” ที่สมบูรณ์แบบ คือ
1. Anchoring Bias หมายถึง การตัดสินใจของมนุษย์นั้น จะมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่เขาเคยรับรู้มาก่อนในอดีตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเมื่อนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมีความรัก เขาจะไม่มีวันลืมรักแรกพบ (First Impression) ได้เลย เพราะรักแรกพบคือสิ่งที่เขาเคยรับรู้มาในอดีต และสิ่งนี้จะฝังอยู่ในใจจนเขาไม่มีวันลืมเลือนได้ตลอดไป เมื่อไหร่ก็ตามที่เขานึกถึงคุณ เขาก็จะมีความสุข นั่นก็ทำให้เขาจะนึกถึงคุณบ่อยๆ และยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป คุณยิ่งทำให้เขามีความสุขมากเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งลืมคุณไม่ได้และนึกถึงคุณด้วยความสุขมากขึ้นเท่านั้น
2. Confirmation Bias หมายถึง การที่มนุษย์พยายามหาข้อมูลหรือตีความข้อมูลให้สนับสนุนการตัดสินใจของตัวเอง และละเลยข้อมูลหรือเพิกเฉยต่อการตีความข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน หากขัดกับการตัดสินใจของตน เมื่อนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมีความรักแล้ว เขาจะตีความสิ่งที่คุณทำทุกอย่างเข้าข้างตัวเองด้วยความรู้สึกที่ดี และพร้อมจะไม่สนใจหรือให้อภัยกับสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกไม่ดีได้ ดังนั้นเขาจะรู้สึกดีกับคุณตลอดเวลา ตามทฤษฎีแล้ว Confirmation Bias จะเพิ่มมากขึ้นในคนคนหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไป นั่นหมายความว่า ยิ่งนานวัน เขาก็ยิ่งรู้สึกว่าการกระทำของคุณเป็นสิ่งวิเศษ สำหรับเขามากขึ้น และพร้อมจะละเลยการกระทำที่ไม่ดีของคุณง่ายขึ้นด้วย
3. Loss Aversion Bias หมายถึง การที่มนุษย์พยายามหลีกเลี่ยงความรู้สึกในทางลบ หรือความรู้สึกเสียใจ อันจะนำไปสู่การหลีกเลี่ยงการตัดสินใจในการเลือกทางเลือกใดก็ตามที่มีโอกาสเกิดผลลบ นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเมื่อมีความรัก เขาย่อมทะนุถนอมความรักที่มีให้ดีที่สุด และพยายามทำทุกอย่างที่คาดว่าจะเกิดผลในทางบวก รวมทั้งหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจส่งผลทำให้เกิดผลในทางลบ ในที่นี้ใช้คำว่า “อาจส่งผล” เพราะเขาไม่ต้องการให้มีความเสี่ยงในทางลบเลย นั่นหมายความว่า แค่เขาคิดว่าการกระทำใดก็ตามอาจจะทำให้คุณเสียใจเขาก็จะหลีกเลี่ยงการกระทำนั้นทันที ดังนั้นคุณจะได้รับแต่เฉพาะสิ่งที่เขาแน่ใจว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคุณเสมอ
4. Trend-chasing Bias หมายถึง การที่มนุษย์มีความเชื่อว่า ผลลัพธ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมีผลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เขาจึงคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากแนวโน้มของข้อมูลและผลลัพธ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เมื่อนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมทราบเช่นนี้แล้วสิ่งที่เขาพึงกระทำก็คือ เขาจะหมั่นสังเกตและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณว่า คุณชอบอะไร ไม่ชอบอะไร จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป เขาจะค่อยๆ ปรับการตัดสินใจของเขา เพื่อเลือกทำเฉพาะสิ่งที่คุณพึงพอใจ นอกจากนี้ หากเขาพบว่า สิ่งที่คุณเคยชอบได้เปลี่ยนไปแล้ว เขาก็จะปรับเปลี่ยนการตัดสินใจให้สอดคล้องกับสิ่งที่คุณชอบในปัจจุบันด้วยเช่นกัน จึงรับประกันได้ว่าคุณน่าจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวคุณเสมอ
5. Hindsight Bias หมายถึง การที่มนุษย์ใช้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไปอธิบายถึงสาเหตุที่เคยเกิดขึ้นในอดีต พวกเขาจึงคิดว่าสาเหตุที่เคยเกิดขึ้นในอดีตนั้น สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ในปัจจุบันได้ ทั้งที่จริงแล้ว ผลลัพธ์ในปัจจุบันสามารถเกิดได้จากสาเหตุอันมากมายในอดีต และมันเป็นไปได้ยากที่เราจะสังเกตเห็นสาเหตุที่แท้จริงได้ในตอนต้น เมื่อคุณทะเลาะกับนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม แน่นอนว่าเขาก็จะไม่ขุดเอาสาเหตุในอดีตหรือรื้อฟื้นการกระทำในอดีตของตัวคุณมาทำให้เป็นเรื่องใหญ่โต คุณจึงไม่ต้องหงุดหงิดใจกับเรื่องทำนองนี้เลย
6. Limited Attention Span บางครั้งเรียกว่า Bounded Rationality หมายถึง การที่มนุษย์มีสมองและมีเวลาจำกัด จึงไม่สามารถแสวงหาความรู้หรือข้อมูลได้ทุกเรื่องในชีวิต ความมีเหตุมีผลจึงถูกจำกัดอยู่แค่กับความรู้หรือข้อมูลที่เขาสนใจเท่านั้น เพราะมันเป็นสิ่งที่เขาได้ประโยชน์จากการทุ่มเทมากกว่าต้นทุนที่จะต้องเสียไปจากการทุ่มเทดังกล่าว นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่เข้าใจเรื่องนี้ดี เขาจะยอมทุ่มเทเพื่อคุณเพียงคนเดียว ในสายตาของเขาจะไม่มองใครอีก เพราะการหาข้อมูลของคนหลายๆ คนมีต้นทุนสูง และทำให้ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการทุ่มเทให้กับคนใดคนหนึ่งลดลง คุณจึงเป็นคนเดียวในสายตาของเขา
เห็นหรือยังครับว่าเหตุผลทั้ง 6 ข้อนี้ นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจึงเป็นนักรักที่สมบูรณ์แบบ และเมื่อคุณได้ลองรักเขาแล้ว คุณจะไม่มีวันเปลี่ยนใจอีกเลย
ใครที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์และยังโสด นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยนะครับ และใครที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์และยังโสด มาเรียนเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกันนะครับ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,340 วันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561