เสียงสะท้อน 'คลองไทย' สร้างเศรษฐกิจใต้ได้จริงหรือ?

01 มี.ค. 2561 | 12:03 น.
อัพเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2561 | 19:03 น.
1847

… เสียงเรียกร้องของคนในพื้นที่ภาคใต้เกี่ยวกับ ‘คลองไทย’ หรือ ‘คอคอดกระ’ เมกะโปรเจ็กต์นี้มีมานาน แต่จนถึงปัจจุบันโครงการนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล ...
“ฐานเศรษฐกิจ” เกาะติดเรื่องนี้ พร้อมนำเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่และผู้ที่เกี่ยวข้องบางส่วนจากเวทีเสวนา “คลองไทยสร้างเศรษฐกิจชาติ เศรษฐกิจใต้ ได้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ได้จริงหรือ?” จัดโดย สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา ร่วมกับสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมมารีไทม์ ปาร์ค แอนด์สปา รีสอร์ท จ.กระบี่ มานำเสนอ

ทั้งนี้ ข้อสรุปเบื้องต้นที่ได้จากสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน ที่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้ ระบุว่า ‘คลองไทยแนว 9A’ ซึ่งตัดผ่าน 5 จังหวัด คือ ตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ยาวประมาณ 135 กิโลเมตร โดยเริ่มจาก อ.สิเกา จ.ตรัง, จ.นครศรีธรรมราช และออกสู่อ่าวไทยที่ อ.ระโนด จ.สงขลา นั้น การพัฒนาทั้ง 2 ฝั่งคลอง จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าและท่าเรือ ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออก รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ช่วยร่นระยะเวลาขนส่งได้ประมาณ 2 วัน เพราะไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา เรือประมงไทยสามารถจับปลาได้ 2 ฝั่งทะเล ไทยมีอำนาจต่อรองราคาสินค้า รวมถึงการกำหนดราคาสินค้าในฐานะตลาดขนาดใหญ่ อาทิ ราคาน้ำมันและยาง เป็นต้น ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของสินค้าไทย ทำให้เกิดการจ้างงานในแขนงต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 2 ล้านตำแหน่ง เป็นต้น

พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป นายกสมาคมคลองไทย ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการคลองไทยลงพื้นที่มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้นำชุมชน กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ที่ตื่นตัวอยากให้โครงการคลองไทยเกิดขึ้นในพื้นที่

“โครงการนี้นับเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดขึ้นด้วยตัวของเขาเอง เป็นความต้องการของคนในพื้นที่ ไม่ใช่จากการชี้นำ เนื่องจากเขาเห็นว่า น่าจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ประวัติศาสตร์น่าจะจารึกไว้ว่า รัฐบาลได้เห็นคุณค่าของโครงการที่ดี ๆ เช่นนี้ หากรัฐบาลบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วเดินหน้า จะด้วยวิธีใดก็ตาม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ภาคประชาชนต้องการ” พล.อ.พงษ์เทพ กล่าวย้ำ


TP14-3339-2A

สอดรับกับความเห็นของ พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ นายกสมาคมชาวปักษ์ใต้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ชี้ว่า เสียงของคนในพื้นที่ อาทิ พัทลุง ตรัง กระบี่ และสงขลา มีความเข้าใจและต้องการในเรื่องนี้อย่างมาก เห็นด้วยที่จะให้โครงการนี้เกิดขึ้น สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่อยากเห็น อยากให้รัฐบาลรับเรื่องนี้ไปศึกษาเชิงลึก ดีก็ทำ ไม่ดีก็ไม่ทำ นี่คือ สิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการ

“อยากให้รัฐบาลเข้ามาศึกษาและเข้าใจเรื่องนี้ โดยตั้งคณะกรรมการแห่งชาติขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลองไทย วันนี้ชาวบ้านยังรอคำตอบจากรัฐบาลว่า คิดอย่างไรกับโครงการนี้ ซึ่งต้องรีบดำเนินการศึกษา เพราะยิ่งปล่อยเวลาล่วงเลยไป ยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น”

ทั้งยังให้มุมมองเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงที่หลายฝ่ายมีข้อกังวล ว่า วันนี้มันหมดยุคไปแล้ว ที่การขุดคลองจะทำให้ความมั่นคงขาดไป จะเป็นการแบ่งแยกดินแดนคงไม่ใช่ ไม่เกี่ยวกัน มันคนละเรื่อง อยากให้คิดถึงมิติของเศรษฐกิจ มิติเรื่องของความร่วมมือร่วมกัน ไม่ใช่รบกันได้ง่าย ๆ แบ่งแยกกันจะทำได้ง่าย ๆ วันนี้รบกันทางด้านเศรษฐกิจ ประเทศไหนเศรษฐกิจดีก็ชนะไป เราต้องทำให้เห็นว่า เรื่องนี้ทำให้เศรษฐกิจใต้ เศรษฐกิจปักษ์ใต้ดีขึ้น เรื่องนี้สำคัญ

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

รศ.ดร.ธีรวุฒิ โศภิษฐิกุล นักวิชาการอิสระและผู้อำนวยการ โครงการผลิตและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเมืองพัทลุงและลุ่มน้ำทะเลสาบ กล่าวยอมรับว่า แม้ว่าโครงการนี้จะก่อประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ประเทศและคนไทย คนใต้ ขณะเดียวกัน คนใต้ในเขตคลองก็จะต้องได้รับผลกระทบในทางลบด้วยเช่นกัน สูญเสียพื้นที่สำหรับการประกอบอาชีพและการอยู่อาศัย ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากแบบเดิม มาเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ ต้องรับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษจากการเดินเรือและการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องรับความเสี่ยงจากภาวะน้ำเค็มที่จะเข้ามายังพื้นที่ภายใน รวมทั้งผลประทบต่อความมั่นคงของชาติและประชาชนคนภาคใต้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อันเนื่องมาจากการจัดสรรรายได้และผลประโยชน์จากการขุดคลอง รวมทั้งการบริหารจัดการโครงการที่ไม่ลงตัว

“การจัดสรรรายได้และผลประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมระหว่างเจ้าของทุน ทั้งจากนอกและในประเทศ ในฐานะเจ้าของคลองไทย และการกระจายรายได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมระหว่างคนภาคใต้ คนในพื้นที่ขุดคลอง กับคนส่วนอื่นของประเทศไทย รวมทั้งความเสมอภาคในการใช้คลองไทย การมีส่วนร่วมในโครงการจะช่วยป้องกันมิให้เกิดปัญหาในอนาคตแบบที่เคยเกิดขึ้นจากกรณีการขุดคลองปานามา และต้องไม่ให้ระบบการบริหารจัดการคลองเข้าไปอยู่ในระบบระหว่างประเทศ อันจะทำให้เกิดปัญหาแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นกับคลองสำคัญหลัก ๆ ของโลกในอดีต ทั้งคลองสุเอซ คลองปานามา และคลองคีล ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง” รศ.ดร.ธีรวุฒิ ระบุ

นายพิชัย มานะสุทธิ์ ประธานหอการค้า จ.ตรัง กล่าวสอดคล้องกันว่า ส่วนตัวมิได้ต่อต้านโครงการนี้ แต่มองว่า ทุกโครงการเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ที่ต้องมีทั้งบวกและลบ ส่วนตัวเห็นว่า ใครอยากได้คลองไทยคงต้องลงทุนเอง อาทิ เจ้าของบริษัทเรือต่าง ๆ ที่อยากให้เกิดเรื่องรายได้และผลตอบแทน ตลอดจนกระบวนการบริหารจัดการที่ต้องกำหนดให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการยอมรับและเกิดความเชื่อมั่นด้วย

“ที่ผ่านมา อาจไม่มีตัวแทนจากภาคเอกชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากอาจมองว่า จะกระทบกับการท่องเที่ยวทางเรือฝั่งอันดามัน คือ ตั้งแต่ภูเก็ตไปถึงสตูล จึงอยากเห็นข้อมูลในเรื่องเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น อาทิ เรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแนวปะการัง ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งเรื่องการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก” นายพิชัยตั้งข้อสังเกต


ad-bkk



‘คลองไทย’ เสริม ‘อีอีซี’
นายวิรวัฒน์ แก้วนพ วิศวกรคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา สะท้อนมุมมองว่า โครงการคลองไทยจะช่วยส่งเสริมโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ดังนี้

1.จะเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าเข้า-ออก ไปยังกลุ่มประเทศพัฒนาที่เข้าลงทุนอุตสาหกรรมชั้นสูงในพื้นที่อีอีซี ช่วยเรื่องต้นทุนให้อุตสาหกรรมในอีอีซีสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ช่วยประหยัดเวลาขนส่งได้ 1-2 วัน และหากเปรียบเทียบกับโครงการท่าเรือทวาย คลองไทยจะช่วยลดเวลาการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการขนส่งผ่านทางท่าเรือทวายที่ต้องลำเลียงด้วยรถ ทั้งในเรื่องของต้นทุนการขนส่งและระยะเวลา

 

[caption id="attachment_257981" align="aligncenter" width="377"] วิรวัฒน์ แก้วนพ วิรวัฒน์ แก้วนพ[/caption]

2.ลดกรรมวิธีทางศุลกากร เนื่องจากคลองไทยตั้งอยู่ในดินแดนของไทย กรรมวิธีผ่านศุลกากรจึงกระทำที่ปลายทาง หากหวังพึ่งพาเรือทวายให้เป็นจุดรับส่งสินค้าจากทางยุโรป อาจจะต้องเสียเวลากับการตรวจผ่านแดนของเมียนมา ประกอบกับการเมืองของเมียนมายังไม่เสถียรภาพเท่าที่ควร หากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในอนาคตอาจสร้างความยุ่งยากให้กับไทยได้

3.สามารถเชื่อมต่อระหว่างแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งอันดามันของไทย ที่มีนักท่องเที่ยวแต่ละปีมากถึง 20 ล้านคน เข้ากับเขตพื้นที่ท่องเที่ยวตามแนวอีอีซี ตามแผนการพัฒนาโครงการอีอีซี ที่มีแผนจะพัฒนาให้เขตพื้นที่พัทยากลายเป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติ และเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ให้เป็นเขตพื้นที่เชิงธรรมชาติที่จะรองรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 40 ล้านคน/ปี กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการ

4.ลดความแออัดของสังคมเมืองในภาคกลาง-ตะวันออก ที่ปัจจุบันประชากรกว่า 1 ใน 5 ของประเทศ อาศัยอยู่ในบริเวณอีอีซี หากโครงการอีอีซีทำสำเร็จจะยิ่งส่งผลให้จังหวัดเหล่านี้มีความแออัดสูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาโครงการคลองไทยจะช่วยกระจายความเจริญไปยังภาคใต้ลดความแออัดของพื้นที่อีอีซี

5.จากโครงการอีอีซีจะส่งผลให้ปริมาณสินค้าส่งออกของไทยเพิ่มสูงขึ้น ส่งเสริมให้กองเรือพาณิชย์ของไทยที่ปัจจุบันอยู่ในลำดับที่ 4 ของอาเซียน ขยายขนาดของกองเรือทั้งจำนวนและขนาดของเรือ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในอีอีซี หากมีคลองไทยที่สามารถเชื่อม 2 ฝั่งทะเลของไทยได้ กองเรือของไทยย่อมสามารถพัฒนาได้เหนือกว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย หรืออาจจะเทียบเท่าสิงคโปร์ เพราะสามารถเชื่อมต่อสู่ยุโรป เอเชียใต้ และจีน ได้ไวกว่าใช้ช่องทางของสิงคโปร์ถึง 2 วัน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,339 วันที่ 11-14 ก.พ. 2561 หน้า 14

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว