รื้อก.ม.พรรคการเมือง จบที่ศาลรธน.

30 ธ.ค. 2560 | 04:22 น.
หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 53/2560 แก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อคลายล็อกให้พรรค การเมืองเดินหน้าทำธุรการทาง การเมือง เพื่อเตรียมการเลือกตั้งที่รัฐบาลประกาศจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561

แต่ทันทีที่เห็นคำสั่งดังกล่าว ปรากฏมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคการเมืองอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเด็นการตรวจสอบสมาชิกพรรคและสมาชิกต้องจ่ายค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวถือว่าพ้นสมาชิกพรรค ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไปสำหรับพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ที่มีสมาชิกจำนวนมาก และกระจายอยู่ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันมีความเคลื่อนไหวเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยกเลิกคำสั่งมาตรา 44 ที่ออกมาเพื่อแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง

เรืองไกร ++“เรืองไกร” ยื่นศาลตีความ
ความพยายามต้านการออกคำสั่งดังกล่าว เริ่มขึ้นวันที่ 27 ธันวาคม โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้เข้ายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 81 และมาตรา 5 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจวินิจฉัยให้การกระทำของหัวหน้าคสช. สิ้นผลได้

นายเรืองไกร ระบุว่า กรณีคำสั่ง คสช.ให้สมาชิกพรรคการเมืองต้องทำหนังสือแจ้งการเป็นสมาชิกพรรค และต้องจ่ายค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 หากไม่ดำเนินการให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค การเมืองนั้น เป็นคำสั่งที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของตนในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 45 และไม่เปิดให้แสดงความคิดเห็น ผิดมาตรา 77 วรรคสอง หรือไม่

นอกจากนั้นแกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนต่างออกมาแสดงความเห็นอย่างเข้มข้น อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำสั่ง คสช.ที่ให้สมาชิกพรรคแสดงตนและจ่ายค่าสมาชิกทันทีว่า จะส่งผลให้สมาชิกพรรคเดิมหายไปจำนวนมากและไม่มีเหตุผล สวนกับความต้องการที่จะให้พรรคการเมืองเป็นพรรคมหาชน พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า “มีเจตนาแอบแฝงเพื่อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใหม่ที่ประกาศตัวสนับสนุนพรรคทหารหรือไม่”

สอดคล้องกับความเห็นของ นายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม และแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ฟันธงว่า คำสั่ง คสช.ดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อพรรคเล็ก ทั้งเป็นการเอาเปรียบกันทาง การเมือง ส่วนนายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.การต่างประเทศ มองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด พร้อมแนะว่า สิ่งที่ต้องทำคือปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ทันทีไม่มีข้อจำกัด เพราะพรรค การเมืองถูกห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองมากว่า 3 ปีแล้ว

tp12-3326-a ++ปชป.อัดใช้อำนาจพรํ่าเพรื่อ
ปฏิกิริยาต่อต้านกับการออกคำสั่ง ม.44 ปลดล็อกพรรค การเมืองทำกิจกรรมทางธุรการของพรรคเพื่อไทยดังกล่าว สอด คล้องกับท่าทีจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งมีสมาชิกมากที่สุดในประเทศคือกว่า 2.8 ล้านคน ทำให้สร้างภาระและตัดสิทธิสมาชิกพรรคหากแสดงหลักฐานการเป็นสมาชิกพรรคหลังกฎหมายกำหนดไว้เพียง 30 วัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. ถามกลับไปยังคสช.ต่อการออกคำสั่งนี้ว่า ถ้าการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จไม่มีความชัดเจนว่าจะบริหารจัดการสถานการณ์บ้านเมืองอย่างไร

Apisit-1 “ทำไมผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จไม่มีความตระหนักหรือรอบคอบเพียงพอที่จะรู้ว่าแผนการที่วางไว้เป็นขั้นตอนด้วยเหตุด้วยผลคืออะไร ผมไม่อยากจะเชื่อว่าไม่รู้ แต่กลายเป็นว่าอาจมีความต้องการอะไรบางอย่าง และถ้ามีความต้องการเลื่อนการเลือกตั้ง ทำไมไม่มีความต้องการที่จะบอกอย่างตรงไปตรงมา” นายอภิสิทธิ์ กล่าว และให้แง่คิดในการออกคำสั่งม.44 ว่า

“ยิ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเท่าใด ยิ่งต้องใช้ให้น้อยที่สุด อย่าใช้พรํ่าเพรื่อ อำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ไปปักอยู่บนขี้เลน มันไม่ได้แก้ปัญหา ไม่ได้ปฏิรูป ทั้งที่กฎหมายมาจาก คสช. และแม่นํ้า 5 สาย ทั้งนั้น มีอำนาจเบ็ดเสร็จแต่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ อยากให้ระมัดระวัง แล้วย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ว่า เวลาใช้อำนาจแล้วขาดความชอบธรรม ผลสุดท้ายผู้ใช้อำนาจเผชิญอะไร”

เช่นเดียวกับ นายราเมศ รัตนะเชวง ลูกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาจวกคำสั่งดังกล่าวว่า สร้างภาระ ตัดสิทธิสมาชิก และขัดรัฐธรรมนูญ เตรียมหารือเป็นการส่วนตัวกับ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคและมือกฎหมาย เพื่อหาช่องทางยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกทางหนึ่ง

“ความน่ากลัวของผู้มีอำนาจคือการใช้อำนาจอย่างบ้าคลั่งโดยไม่ยึดหลักความเป็นธรรม” เป็นอีกเสียงสะท้อนจากลูกพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผมฝากถึง คสช.หวังให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งใหม่อีกครั้ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,326 วันที่ 28 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-10