‘บีเอซี’เท1.2พันล.ผลิตนักบิน ยึดอีสานผุด3อะคาเดมี-ซื้อเครื่องบินใหม่ 50 ลำ

21 ต.ค. 2560 | 11:16 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“บีเอซี” เท่งบ 1.2 พันล้านยึดอีสานจ่อผุด 3 อะคาเดมี โคราช บุรีรัมย์ และสกลนคร ดันไทยฮับผลิตนักบิน จับตาหลังปลดธงแดง แอร์ไลน์ไทย-เทศ กลับมาเปิดศึกซื้อตัวนักบิน

การขยายการลงทุนครั้งใหม่ของธุรกิจการบินหลังปลดธง ผนวกกับแอร์ไลน์จากตะวันออก กลาง เอทิฮัด เอมิเรตส์ จะกลับมาซื้อตัวนักบินของไทยอีกครั้ง “บีเอซี” จึงขยายการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการนักบินที่
เพิ่มขึ้น

นท.ปิยะ ศรีกาลนนท์ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด (บีเอซี) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าได้ใช้งบประมาณในราว 1,200 ล้านบาท เพื่อผลิตนักบินเพิ่ม โดยเป็นการลงทุน บีเอซี อะคาเดมี แห่งใหม่ที่จังหวัดนครราชสีมา ใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท ขณะนี้กำลังก่อสร้าง คาดจะแล้วเสร็จในปีหน้า

หลังจากนั้นจะขยายการลงทุนในลักษณะเดียวกันที่บุรีรัมย์ และสกลนคร เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตบุคลากรด้านการบินของภูมิภาค เนื่องจากปัจจุบันกำลังการผลิตนักบินทั้งประเทศทำได้ปีละ 450 คนเท่านั้น ขณะเดียวกันยังได้สั่งซื้อเครื่องบิน Cessna ใหม่อีกจำนวน 50 ลำ มูลค่าร่วม 800 ล้านบาท
(ลำละ 16 ล้านบาท) ใช้ในการฝึกบิน ซึ่งจะทยอยรับมอบภาย ใน 3 ปี จากเดิมมีเครื่องฝึกบินอยู่แล้ว 47 ลำ

MP22-3306-B ทั้งนี้ บีเอซี อะคาเดมี นครราชสีมา จะเป็นศูนย์การเรียนการสอนนักบิน เหมือนโรงเรียนประจำ มีบริการครบวงจรมีทั้งที่พัก สันทนาการ รถรับส่ง และศูนย์ซ่อมบำรุง บนที่ดิน 13 ไร่ อยู่ห่างจากสนามบิน 5 กิโลเมตร ปัจจุบันมีนักศึกษาอยู่แล้ว 80 คน และใช้สนามบินนครราชสีมาเป็นที่ฝึกบิน และเช่าโรงแรมให้นักศึกษาพักชั่วคราว เมื่อโครง การนี้แล้วเสร็จจะสามารถขยายการรองรับนักศึกษาได้ 300 คนต่อปี รวมกับที่บีเอซีรังสิตคลอง 15 จะผลิตนักบินได้ปีละ 600 คนในปี 2561 คิดค่าเล่าเรียนคนละ 2.5 ล้านบาทต่อปี

“เหตุที่เลือกลงทุนนคร ราชสีมา เพราะกรมท่าอากาศยาน(ทย.) ได้อนุญาตให้บีเอซี ใช้สนามบินในการฝึกบิน และยกเว้นค่าธรรมเนียมการจอดเครื่องบิน อีกทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสภาพภูมิประเทศและอากาศที่เหมาะสำหรับการฝึกบินได้ทั้งปี แต่ละจังหวัดมีสนามบินทย.ที่สร้างไว้แล้ว แต่ไม่มีเครื่องบินไปใช้บริการ มีรันเวย์ขนาดใหญ่ อุปกรณ์พร้อม สามารถฝึกบินในเวลากลางคืนได้”

อย่างไรก็ดีหลังองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ปลดธงแดง สายการบินจากตะวันออกกลางจะหันกลับมาเปิดรับสมัครนักบินของไทยอีกครั้ง ประกอบกับสายการบินเหล่านี้มีนักบินไทยร่วมงานอยู่กว่า 100 คน พวกเขาจะกลับมาชักชวนเพื่อนนักบินให้ไปร่วมงานด้วย ขณะเดียวกันสายการบินในประเทศมีการเพิ่มเที่ยวบิน ขยายเส้นทางบิน และสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่ม ทำให้เกิดความต้องการนักบินเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก หลังจากชะงักมากว่า 2 ปีช่วงไทยติดธงแดง

“การแข่งขันของสายการ บิน และคาดการณ์ว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะมีผู้โดยสารเติบโต 30-40 ล้านคนใน 5 ปี แสดงว่าต้องมีเครื่องบินขนคนเข้ามาอีกมหาศาลและมากกว่าครึ่งต้องเป็นสายการบินที่จดทะเบียนในไทยใช้นักบินไทย โดยประเมินคราวๆ หากเพิ่มจำนวนเครื่องบิน 300 ลำใน 3 ปีต้องรับนักบินเพิ่มอีก 4,500 คน แต่ปัจจุบันไทยผลิดได้เพียง 450 คนต่อปีเท่านั้น ปัญหาซื้อตัวนักบินจะกลับมาอีกในไม่ช้านี้” ประธาน บีเอซี กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว