ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับพระราชกรณียกิจในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน

11 ต.ค. 2560 | 23:20 น.
TP7-3304-a พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดชฯ ไม่เพียงแผ่ไพศาลเฉพาะกับประชาชนชาวไทยเท่านั้น การสร้างความสัมพันธ์อันดีในฐานะประมุขและตัวแทนของปวงชนชาวไทย กับประชาคมโลกและประเทศเพื่อนบ้าน ก็เป็นอีกหนึ่งพระราชกรณียกิจสำคัญที่พระองค์ท่านสร้างและปูทางไว้ให้พวกเรา

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักดีว่าประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญและใกล้ชิดที่สุดกับประเทศไทยก็คือ สปป.ลาว และในหลายครั้งหลายโอกาสความเข้าใจผิดระหว่างเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกัน ก็ทำให้โอกาสของประเทศไทยในการที่จะทำการค้า ทำการลงทุนลดลง โดยเฉพาะเมื่อมีประเทศมหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในและความสัมพันธ์อันดีระหว่างพันธมิตร 2 ประเทศ ซึ่งในกรณีของไทยและสปป.ลาวนั้น ความเข้าใจผิดการสร้างภาพลักษณ์เชิงลบให้อีกฝ่าย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดช่วงทศวรรษ 1960-1980 หรือตลอดช่วงสงครามเย็นนั่นเอง

ต่อมาเมื่อถึงช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1980 ปลายของสงครามเย็น สปป.ลาว เริ่มต้นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจภายใต้นโยบายจินตนาการใหม่ใน พ.ศ.2529 ชาวลาวส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นทางเลยว่า สปป.ลาวจะกลายเป็นประเทศที่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการเป็น Land Lock หรือประเทศไร้ชายฝั่งทะเล โดยการเป็นประเทศที่เป็นจุดเชื่อมโยงของระบบ Logistic ได้อย่างไร แน่นอนว่า ชาวลาวทุกคนตั้งตารอคอยด้วยความหวัง เพราะเชื่อเหลือเกินว่าจินตนาการใหม่ของคุณลุงไกสอน พมวิหาร เลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคปฏิวัติประชาชนลาวคนแรก และนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศในระบอบใหม่ จะนำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งทุกคนรอคอยมาอย่างยาวนาน และก็ยาวนานพอๆ กับคำสาปที่ทำให้คนในลุ่มแม่นํ้าโขงหลายๆ คนเชื่อว่าดินแดนแห่งนี้คงยากที่จะพัฒนา นั่นคือคำสาปเรื่อง “หินฟูนํ้า งูเหล็ก พญาช้างเผือก”

ตำนานเรื่องนี้มีอยู่ว่า เวียงจันทน์เริ่มเป็นเมืองหลวงแทนหลวงพระบาง ตั้งแต่ พ.ศ. 2078 และเจริญขึ้นเรื่อยๆ จนถึง พ.ศ. 2237 สมัยพระเจ้าสุริยวงศา ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของอาณาจักรล้านช้าง แต่ก็เสื่อมลง เนื่องจากในตำนานเล่าว่า พระองค์มีสนมเอกชื่อ นางเขียวค้อม ซึ่งว่ากันว่าเป็นสาวงามที่เพียบพร้อมด้วย ทุกคุณสมบัติที่หญิงงามควรจะมี แน่นอนเจ้ามหาชีวิตสุริยวงศา ก็จะทรงรักและหวงนางอย่างมาก มากเสียจนสั่งฆ่าเจ้าราชบุตร เนื่องจากเข้าใจว่าพระราชโอรสกับนางเขียวค้อม ไปลักลอบได้เสียกัน เจ้าราชบุตรถูกนำตัวไปประหารชีวิตที่ท่าพลาญชัย (ปัจจุบันคือท่าหลักสี่) ก่อนตาย เจ้าราชบุตรได้อธิษฐานว่าถ้าเป็นชู้จริงขอให้เวียงจันทน์เจริญรุ่งเรือง ถ้าไม่จริงขอให้เวียงจันทน์และล้านช้างมีความเจริญรุ่งเรืองเพียงแค่ชั่ว “ช้างพับหู งู แลบลิ้น” และจะตกตํ่าเสื่อมโทรมลงเช่นนี้ไปตลอดจนกว่าจะปรากฏสิ่งวิเศษ 3 สิ่งขึ้นกลางลำนํ้าโขงนั่นคือ “หินฟูนํ้า งูเหล็ก พญาช้างเผือก”

แน่นอนว่าหลังจากนั้น เวียงจันทน์เกิดความวุ่นวายขึ้นเนืองๆ นางเขียวค้อมหนีไปบวชชี เกิดขบถและนำไปสู่การแทรกแซงของชาวเวียด จนทำให้หลวงพระบางแยกตัวจากอาณาจักรใน พ.ศ.2253 และต่อมาใน พ.ศ. 2256 จำปาศักดิ์ก็แยกตัวออกไป ประเทศลาวเองก็มีแต่เหตุการณ์ไม่สงบ ถูกรุกรานจากไทย จากฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา จนเกิดขบวนการลาวอิสระ ต่อด้วยขบวนการปะเทดลาว และก็ยุ่งยากต่อมาเมื่อหัวหน้าขบวนการเองก็มีข้อขัดแย้งระหว่างกัน ลาวไม่สงบและไม่สามารถพัฒนาทางเศรษฐกิจไปได้อย่างเท่าที่ควรจะเป็น

จนกระทั่ง ช่วงปลายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 2 ในปี 2533 ผู้คนในสปป.ลาวโจษขานกันมากว่า รัฐบาลออสเตรเลียจะให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินทุนจำนวนกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้ไทยและสปป.ลาวก่อสร้างสะพานข้ามแม่นํ้าโขงแห่งแรก ซึ่งจะข้ามจากเทศบาลเมืองหนองคายทางฝั่งไทยเข้ากับบ้านท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศ สปป.ลาว เนื่องจากสะพานแห่งนี้เป็นคอนกรีต และมีทางรถไฟซึ่งเป็น รางเหล็กอยู่ตรงกลางของ 2 ช่องจราจรบนสะพาน นั่นทำให้ในสายตาของชาวลาว “หินฟูนํ้า และงูเหล็ก” กลางลำนํ้าโขงกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ที่ “พญาช้างเผือก” ครับ มองไปในสปป.ลาวคนที่จะสามารถเป็นพญาช้างเผือกได้ก็คือเจ้ามหาชีวิต ซึ่งระบบเจ้ามหาชีวิตก็ไม่มีแล้วในสปป.ลาวมาตั้งแต่ พ.ศ.2518 มองไปที่เวียดนาม กษัตริย์องค์สุดท้ายของรางวงศ์เหวียนก็หมดพระราชอำนาจไปแล้ว กัมพูชาเอง แม้จะเป็นราชอาณาจักร แต่ เจ้านโรดม สีหนุ ในขณะนั้นเองก็ไม่มีช้างเผือกสำคัญคู่พระบารมี ระบบกษัตริย์ของพม่าเองก็ไม่มีแล้ว จะเหลือก็แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของประเทศไทย ซึ่งพระองค์มีพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เป็นพระยาช้างเผือกประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของพวกเราชาวไทย (ในขณะนั้น) ก็ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนต่างประเทศมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ ในพ.ศ. 2489 และเป็นธรรมเนียมของ พระมหากษัตริย์และประมุขของประเทศที่จะเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศในฐานะตัวแทนประชาชนของประเทศนั้น แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราท่านตั้งพระราชปณิธานไว้ว่า ท่านจะไม่เสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศจนกว่าท่านจะได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนดูแลทุกข์สุขของประชาชนของพระองค์จนครบทั้งประเทศเสียก่อน

นั่นทำให้กว่าพระองค์จะมีกำหนด การเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศก็เมื่อเข้าสู่ พ.ศ. 2502 หลังจากที่ท่านเสด็จฯไปจนครบทุกจังหวัดในประเทศไทยแล้ว โดยประเทศแรกที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปก็คือ ประเทศลาว หากแต่ในขณะนั้นสถานการณ์ในประเทศลาว ก็ยังมีสงครามไม่มีความสงบเรียบร้อยเพียงพอที่จะถวายการต้อนรับได้ ทำให้ประเทศแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินอย่างเป็นทางการ คือ ประเทศเวียดนามใต้ ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ต่อด้วยอินโดนีเซีย พม่า จากนั้นพระองค์ท่านก็เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีในนามของประเทศไทยในอีกกว่า 15 ประเทศทั้งในอเมริกาและยุโรป ในอาเซียนเองในหลวงของเราก็เสด็จพระราชดำเนินไปสหพันธรัฐมลายา (ตอนนั้นสิงคโปร์ยังไม่ได้แยกตัวเป็นประเทศ) และฟิลิปปินส์

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ แต่จนถึงพ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศ สปป.ลาว ก็ยังเป็นประเทศที่ท่านยังไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไป โดยเหตุผลที่ท่านทรงหยุดการเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศ พระองค์ท่านทรงมีพระราชปณิธานว่า “จะไม่เสด็จฯออกจากประเทศไทยอีก หากประชาชนของพระองค์ยังทุกข์ยากลำบาก”

นี่เองทำให้ความหวังของผู้เฒ่าผู้แก่ในสปป.ลาวที่จะได้มีโอกาสลบล้างความเชื่อเดิมๆ ยังไม่เกิดขึ้น
จนกระทั่งในปี 2537 หลังจากที่ในหลวงของเราไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 27 ปี หมายกำหนดการก็ออกมาว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินอย่างเป็นทางการไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน พ.ศ.2537

และนั่นแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งไม่เพียงแต่กับประชาชนชาวไทยเท่านั้น แต่กับประชาชนใน 2 ฝั่งของแม่นํ้าโขง
พระองค์ท่านก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ในหลวงของเราเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2537 เพื่อทรงร่วมในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่จังหวัดหนองคาย ร่วมกับนายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาว และเพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานตามโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว อันเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อจัดตั้งต้นแบบของการบูรณาการและเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้แก่ประเทศลาว

และนั่นก็ทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่และชาวลาวจำนวนมากเกิดความมั่นใจในการพัฒนาประเทศของตนพร้อมกับเกิดความซาบซึ้งใจอย่างยิ่งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงเป็นที่พึ่งให้กับทุกคนในภูมิภาคจริงๆ ไม่เพียงแต่ในประเทศ ไทยเท่านั้น

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาศักราชใหม่ของสปป.ลาวในการเป็นจุดศูนย์กลางของการเชื่อมโยงภูมิภาคก็เกิดขึ้น จากประเทศที่กลายเป็นพื้นที่ปิด ไม่มีใครอยากไปทำการค้า การลงทุน ปัจจุบันเวียงจันทน์และสปป.ลาวก็กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของการออกไปลงทุนของนักธุรกิจไทย

ณ ปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นในบริเวณรอบๆ กำแพงนครหลวงเวียงจันทน์แล้ว กว่า 5 แห่ง และทำให้เศรษฐกิจในสปป.ลาวเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเช่นเดียวกันที่ความสัมพันธ์ไทย-ลาว เพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดกันมากที่สุดในแทบจะทุกมิติก็กลับคืนมายั่งยืนและพัฒนาตลอดไป

ขอบคุณภาพ : ศูนย์สารสนเทศ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 จังหวัดเชียงใหม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,304 วันที่ 12 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1