ล่าภาษีเฟซบุ๊ก-กูเกิล! ‘สรรพากร-เอ็ตด้า’ แก้ ก.ม. สกัดขนเงินออก-บี้จดทะเบียนในไทย

01 ต.ค. 2560 | 03:27 น.
“เฟซบุ๊ก-กูเกิล-ยูทูบ” หนาว! เอ็ตด้า เผย แก้ร่าง พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดจดทะเบียนตั้งบริษัทในไทย คู่ขนานกับ “สรรพากร” แก้ ก.ม.เก็บภาษีออนไลน์ สกัดเม็ดเงินโฆษณาดิจิตอลออกนอก 12,000 ล้าน ที่เฟซบุ๊ก-ยูทูบเขมือบเกือบครึ่ง

โฆษณาดิจิตอล หรือ โฆษณาออนไลน์ของไทย ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี โดยปีนี้คาดว่า จะมีมูลค่าสูงถึง 12,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินเกิน 50% ตกไปอยู่ในมือของผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่างประเทศ อย่าง “กูเกิล” ผู้ให้บริการเสิร์จเอ็นจินและวิดีโอออนไลน์ “ยูทูบ” ... “เฟซบุ๊กและไลน์” หลายประเทศ มีการเรียกเก็บ “ภาษีย้อนหลัง” จากผู้ให้บริการเหล่านี้ ขณะที่ “ไทย” หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกำลังแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เพื่อหาช่องทางจัดเก็บภาษีจากผู้ให้บริการเหล่านี้

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า กล่าวผ่านรายการ “ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ” ออกอากาศทางสปริงนิวส์ ช่อง 19 ว่า การเข้ามาของ “อี-มาร์เก็ตเพลสรายใหญ่” ของจีน เป็นภัยคุกคามสำหรับผู้ประกอบการของไทย แต่ที่ไทนกำลังเสียเปรียบมากสุด คือ “ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียรายใหญ่” ที่มีรายได้จากโฆษณาออนไลน์ อาทิ ไลน์, เฟซบุ๊ก, กูเกิล และยูทูบ ที่ไม่เข้าสู่ระบบเสียภาษีในไทย

ขณะนี้ เอ็ตด้ากำลังปรับแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ครอบคลุมการดูแลผู้ประกอบการ อี-คอมเมิร์ซ ในประเทศ และอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิตอล โดยวันนี้ผู้มีรายได้จากโฆษณาออนไลน์มากสุด แล้วไม่เสียภาษี คือ “กูเกิล” ซึ่งให้บริการเสิร์จเอ็นจินและวิดีโอออนไลน์ “ยูทูบ” และ “เฟซบุ๊ก” ซึ่งไม่มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทย โดยที่ผ่านมา เข้ามาตั้งเพียงสำนักงานสาขาเท่านั้น

ล่าสุด ร่าง พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับแก้ไข ได้ผ่านขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้องมาแล้ว โดยคาดว่า จะสามารถนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า คาดว่า หากร่างแก้ไขดังกล่าวผ่านการพิจารณาตามกระบวนการเสร็จเรียบร้อย จะมีผลบังคับใช้ปี 2561 สอดรับกับกฎหมายของกรมสรรพากร ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการเหล่านี้

ส่วนข้อถามที่ว่า การเรียกเก็บภาษีจาก “กูเกิลและเฟซบุ๊ก” จะมีผลต่อการลงทุนในไทยของผู้ให้บริการเหล่านี้หรือไม่นั้น มองว่า ไม่น่ามีผล เพราะผู้ให้บริการเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในประเทศ อีกทั้งในหลายประเทศ เช่น อังกฤษและอินโดนีเซีย ก็มีการแก้กฎหมาย เพื่อเรียกเก็บภาษีจาก “เฟซบุ๊กและกูเกิล”

ครึ่งแรกของปี 2560 มียอดการใช้จ่ายงบโฆษณาผ่านสื่อดิจิตอล 6,086 ล้านบาท คาดว่า ภายในสิ้นปี 2560 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 12,000 ล้านบาท เติบโต 29% จากปี 2559 โดยแพลตฟอร์มหลักที่ครองแชมป์โฆษณาสูงสุด คือ “เฟซบุ๊กและยูทูบ” ซึ่งมีสัดส่วนราว 50% ของการใช้จ่ายงบโฆษณาผ่านสื่อดิจิตอลทั้งหมด

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ


ร่าง ก.ม.ใหม่ จ่อ ครม.
สำหรับความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีจากการทำธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ... นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อยู่ระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากที่กรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) จากประชาชนทั่วไปแล้ว ปรากฏว่า มีเสียงคัดค้านเยอะมาก จึงต้องชี้แจงความคิดเห็นต่าง ๆ เข้าไปเพิ่มเติม แต่ในหลักการแล้ว ธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในไทย ผู้มีเงินได้มีหน้าที่เสียภาษี โดยจะเป็นการจัดเก็บภาษีเงินได้ ไม่ว่าจะเป็น นิติบุคคล, บุคคลธรรมดา และแวต ซึ่งหากคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบแล้ว จะเสนอ ครม. ต่อไป

แนวคิดของการจัดเก็บภาษี e-Business เกิดขึ้น เมื่อธุรกิจการค้ามีการเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการค้าขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ระบบออนไลน์ กันมากขึ้น โดย นายประสงค์ กล่าวว่า มีการประเมินกันว่า มูลค่าการทำธุรกรรมบนธุรกิจออนไลน์จะสูงหลักล้านล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว เช่น การจองตั๋วเครื่องบินผ่านระบบออนไลน์ หรือ การชำระเงินต่าง และที่ยังไม่อยู่ในระบบ เช่น การจ่ายค่าโฆษณาผ่านกูเกิล, ไลน์, เฟซบุ๊ก หรือ อูเบอร์ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้รับการชำระภาษีจากธุรกรรมใด ๆ เลย

“เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ถ้าธุรกรรมในไทย ไม่ว่าจะเป็น ซื้อหรือขายสินค้า หรือให้บริการ โดยเงินโอนในไทย แม้เขาไม่อยู่ในไทย ให้ถือว่า มีสถานประกอบการในไทย ซึ่งต้องเสียภาษี อาทิ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ต่าง ๆ” นายประสงค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม อัตราการจัดเก็บภาษีจะมีหลายอัตรา ขึ้นกับประเภทธุรกรรม ซึ่งในร่างกฎหมายจะมีการแยกประเภทของธุรกรรม ที่จะมีการจัดเก็บไว้อย่างชัดเจน และจะมีข้อยกเว้น หรือ ลดหย่อยภาษี ให้ เช่น กรณีที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศของผู้ทำธุรกรรม ส่วนเพดานการจัดเก็บ กำหนดไว้สูงสุดที่ 15% ของเงินได้ที่จ่าย จากเดิมที่มีแนวคิดจะจัดเก็บ 5% ของเงินได้ที่จ่าย ซึ่งจะอิงตามมาตรา 70 ของประมวลรัษฎากร ที่ระบุว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ที่ไม่ได้ประกอบกิจการในไทย แต่มีแหล่งเงินได้ที่เกิดขึ้นในไทย ที่เป็นเงินได้ที่พึงประเมินตามมาตรา 40(2)(3)(4)(5) หรือ (6) ที่จ่ายจากไทยหรือในไทย ไม่ว่าบุคคลใด ๆ ย่อมมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามแหล่งเงินได้ (Source Rule) กำหนดให้ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องนำภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยผู้มีเงินได้ไม่ต้องมีหน้าที่ปฏิบัติภาษีอื่นใดอีก

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1-4 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว