‘ดีแทค’ผนึก‘ไลน์’ตลาดโพสต์เพดกระเพื่อม

30 ก.ย. 2560 | 11:18 น.
อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ช่วงโค้งท้ายปี 2560 กำลังร้อนแรงกันเลย ทีเดียว เนื่องจากขณะนี้มีแบรนด์ “ไลน์ โมบาย” โดยใช้โครงข่าย DTN หรือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด

หลายคนตั้งคำถามว่า “ไลน์ โมบาย” เป็นโปรแกรมของแอพพลิเคชันแชต “ไลน์” ใช่หรือไม่

คำตอบ คือ เป็นการทำตลาดร่วมกันระหว่าง ดีทีเอ็น และ บริษัท ไลน์ พลัส คอร์ปอเรชั่น จำกัด

แม้ทั้ง 2 ค่ายออกมาให้คำตอบแบบครึ่งๆ กลางๆ หากแต่คนในวงการรับรู้ว่าเป็นแบรนด์ ของ “ดีแทค” บริหารจัดการภายใต้หน่วยงานดิจิทัลกรุ๊ป อยู่ในความรับผิดชอบของ นายแอนดรูว์ ควลเสท รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดิจิทัล

**ทุบตลาดโพสต์เพด
แม้ตอนนี้ กสทช.(สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) กำลังตรวจสอบสถานะของ “ไลน์ 
โมบาย” ว่าเข้าข่าย MVNO (Mobile Virtual Network Operater; แบบไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง) แต่ “ไลน์ โมบาย” กลับเชื่อมั่นว่าทำถูกต้องเพราะปฏิบัติตามกฎระเบียบของ กสทช. เนื่องจากทำภายใต้ทีมดิจิทัลกรุ๊ป ของ ดีแทค

นั่นจึงเป็นที่มาที่ “ไลน์ โมบาย” ได้ออกสปอร์ตโฆษณาผ่านสื่อทีวี เพราะมั่นใจแล้วว่าปฏิบัติตามกฎระเบียบของ กสทช. สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ นางสาวปวริศา ชุมวิกรานต์ ผู้บริหารฝ่ายการตลาด ไลน์ โมบาย ประเทศไทย ทุกอย่างปฏิบัติตามกฎของ กสทช. ซึ่งไลน์ โมบาย ในไทยเปิดให้บริการเป็นประเทศที่ 2 ก่อนหน้านี้มีในญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก

เมื่อคลิกเข้าไปดูโปรโมชัน ของ ไลน์ โมบาย ในเว็บไซต์ ปรากฏว่า ให้บริการแบบโพสต์เพด หรือ รายเดือนทั้งหมด และ จดทะเบียนตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ตุลาคม 2560 ได้รับส่วนลด 50% ใน 12 รอบบิล โดยธุรกรรมทุกอย่างผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น

“ไลน์ โมบาย เน้นกลุ่มลูกค้ารายเดือนเป็นหลัก เมื่อดูอัตราค่าบริการแล้วคิดค่าบริการตํ่าสุด 125 บาท และ ให้เล่นเน็ตในความเร็ว 1.5 กิกะบิตพร้อมโทรฟรี 100 นาที ที่สำคัญส่งผล
กระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมมือถือ เนื่องจากแบรนด์ ‘ไลน์’ ได้รับการยอมรับ”

MP20-3300-C **ดึงจุดแข็งไลน์ต่อยอด
แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นโยบายของ ดีแทค ขณะนี้ไม่จำเป็นต้องมีหลากหลายแบรนด์ เพราะการสร้างแบรนด์ใหม่แต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าให้องค์กรภายในปั้นแบรนด์ขึ้นมาใหม่ก็จะเป็นรูปแบบเดิมไม่มีความทันสมัย ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุด คือ หาแบรนด์ที่มีจุดแข็งเรื่องออนไลน์ และคำตอบก็มาจบที่ “ไลน์”

เนื่องจาก ไลน์ มีภาพลักษณ์สินค้า และบริการแอพ พลิ เคชันออนไลน์ที่ทันสมัย และ ในประเทศไทยมีผู้ใช้โปรแกรมแชต “ไลน์” เป็นอันดับหนึ่งอีกด้วย

“จริงๆ แล้ว ‘ไลน์’ คงอยาก ทำตลาด MVNO ในประเทศไทย แต่ถ้าทำจะมีผลกระทบ เพราะคู่แข่งในตลาดต้องออกมาสกัด ส่วน “ดีแทค” เองก็ไม่อยากเปิดให้คนอื่นมาใช้เครือข่ายร่วม แต่ก็ต้องหาวิธีสู้ เลยทำให้รูปแบบการตลาดออกมาให้เกิดคำถามแบบครึ่งๆ กลางๆ”

**ขายผ่านออนไลน์เป็นหลัก
ขณะที่ช่องทางการจำหน่ายสินค้าของ “ไลน์ โมบาย” ขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น ดังนั้นประโยชน์ที่ได้รับ คือ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เพราะไม่เสียค่าวางของและค่าคอมมิสชันในการจัดจำหน่ายสินค้าไว้หน้าร้าน สิ่งนี้เป็นวิธีที่ ดีแทค อยากทำเพราะต้องการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง

“ในเมื่อ ไลน์ โมบาย ทำรูปแบบนี้ได้ทั้ง เอไอเอส และ ทรูมูฟ เอช ก็ต้องทำตามเช่นกัน”

**ระยะสั้นได้ลูกค้า
แหล่งข่าวยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ผลประโยชน์ในระยะสั้นของ ดีแทค จะได้รับ คือ จำนวนลูกค้าโพสต์เพดภายใต้แบรนด์ “ไลน์ โมบาย” เพิ่มขึ้น แต่รายได้ก็จะหายไปเช่นเดียวกัน เพราะลูกค้าที่ลงทะเบียนใช้บริการไม่ได้ใช้เป็น “ซิม” เบอร์แรก ดังนั้นเมื่อหมดโปรโมชันต้องต่อโปรโมชันให้เช่นเดียวกัน

**คู่แข่งเปิดเกมสู้
ขณะที่ “ไลน์ โมบาย” เปิดตลาดสำหรับลูกค้าแบบรายเดือน ทาง 2 ค่ายมือถือ คือ เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ออกแคมเปญสำหรับลูกค้าระบบเติมเงินย้ายเข้ามาระบบรายเดือน จะได้รับสิทธิพิเศษเล่นเน็ตไม่อั้น ไม่ลดสปีด หรือ เลือกรับส่วนลดรายเดือน 50% หรือส่วนลดสมาร์ทโฟนได้อีกด้วย

กลยุทธ์ธุรกิจของ ไลน์ โมบาย และ ดีแทค ครั้งนี้ในอนาคตถ้า “ไลน์ โมบาย” แจ้งเกิดในอุตสาหกรรมมือถือ หากหมดสัญญาทำตลาดร่วมกัน 3 ปี “ไลน์” อาจจะดึงแบรนด์กลับมาทำตลาดเองทั้งหมด แล้ว ดีแทค จะมีแผนรับมืออย่างไร น่าติดตาม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,300 วันที่ 28 - 30 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1