ผู้ถือหุ้นบีซีพีจีไฟเขียวลงทุนโรงไฟฟ้าใต้พิภพ

13 มิ.ย. 2560 | 11:15 น.
ผู้ถือหุ้นบีซีพีจี อนุมัติเข้าซื้อหุ้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซีย ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 12,341 ล้านบาท หลังจซื้อขายหุ้น สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ทันที

[caption id="attachment_162178" align="aligncenter" width="335"] นายบัณฑิต สะเพียรชัย นายบัณฑิต สะเพียรชัย[/caption]

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2560 มีนายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริษัทฯ เป็นประธานในการประชุม ร่วมด้วยคณะกรรมการ ฝ่ายบริหาร และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เข้าร่วมประชุม ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 33.33% ในบริษัทสตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (Star Energy Group Holdings Pte.Ltd.) เพื่อร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซีย ใช้เงินลงทุนรวมไม่เกิน 357.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12,341 ล้านบาท โดยหลังจากทำการซื้อขายหุ้นเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ทันที

การลงทุนครั้งนี้ มีผลทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของบีซีพีจีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเกือบ 2 เท่า จากการเข้าซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้า Darajat_2 พลังงานความร้อนใต้พิภพที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย มีกำลังการผลิตรวม 995 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นของบีซีพีจี 182 เมกะวัตต์ โดยโครงการทั้งหมดจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำที่ผลิตได้ให้แก่การไฟฟ้าอินโดนีเซีย (PLN) ภายใต้สัญญาระยะยาว

ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพเหมาะสมกับการลงทุน โดยล่าสุด ได้รับการยกระดับ Credit Rating ในด้านการลงทุนจากสถาบันจัดระดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) เพิ่มเป็น BBB- นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก และจากการที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพมีความเสถียรและทำงานได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง การไฟฟ้าอินโดนีเซียจึงนำไปใช้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการกระแสไฟฟ้าฐาน (Base Load) ของประเทศอีกด้วย

“ในโครงการดังกล่าว บีซีพีจีจะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ด้วยการส่งตัวแทนไปทำหน้าที่กรรมการในบริษัทต่างๆ รวมถึงการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ซึ่งจะต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบจากบีซีพีจีก่อน เช่น การเข้าดำเนินโครงการใหม่ๆ การแก้ไขข้อบังคับบริษัท การเปลี่ยนลักษณะการดำเนินธุรกิจ นอกจากนั้น บีซีพีจีจะมีโอกาสส่งพนักงานไปร่วมทำงานเพื่อเพิ่มความรู้และประสบการณ์ของบริษัทฯ ในธุรกิจพลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นการพัฒนาศักยภาพให้บีซีพีจีสามารถเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพด้วยตนเองในอนาคต ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจไปยังพลังงานหมุนเวียนหลากหลายรูปแบบ ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบีซีพีจีในฐานะผู้นำด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของไทย” นายบัณฑิตกล่าว