ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ฟื้นตัว ได้อานิสงส์นโยบาย'ทรัมป์'

04 ก.พ. 2560 | 07:00 น.
อุตฯ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปีนี้กลับมาฟื้นตัว คาดส่งออกขยายตัวได้ 1 % จากปีก่อนติดลบ ยันนโยบาย “โดนัลด์ ทรัมป์”เป็นผลดีต่อการส่งออกช่วง1-2 ปีนี้ เชื่อการตั้งโรงงานและย้ายฐานผลิตเกิดยากเหตุค่าแรงแพง-ให้ไทยเป็นศูนย์กระจายสินค้าในภูมิภาค

นายสมบูรณ์ หอตระกุล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ทางสถาบันฯอยู่ระหว่างการติดตามนโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่าจะมีผลต่อการค้าของโลกอย่างไร โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้า และการพึ่งพาการผลิตในประเทศเป็นหลัก เพื่อให้เกิดการใช้แรงงานในประเทศนั้น

ทั้งนี้ หากนโยบายดังกล่าวออกมา มองว่าในช่วง 1-2 ปี น่าจะยังไม่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการลงทุนใหม่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เร็ว

รวมทั้งการจะให้โรงงานย้ายฐานการผลิตกลับไป คงจะเกิดขึ้นยาก เพราะสหรัฐอเมริกาเองก็ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตกระจายสินค้าในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันก็มีกลุ่มของสหรัฐอเมริกาลงทุนอยู่ราว 3-4 หมื่นล้านบาท ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เป็นส่วนใหญ่ อีกทั้ง การจะตั้งโรงงานใหม่ในสหรัฐอเมริกา ด้วยค่าแรงที่สูงกว่า 10 เท่า ถือเป็นต้นทุนที่สูงมาก ดังนั้น เชื่อว่าการส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดอยู่ในสัดส่วนถึง 20 % ของมูลค่าการส่งออก จึงไม่น่าได้รับผลกระทบ

อีกทั้ง หากมองในทางกลับกันกรณีที่การส่งออกสินค้าจากจีนไปสหรัฐอเมริกา จะถูกตั้งกำแพงภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นนั้น จะทำให้มีการย้ายฐานมาสั่งสินค้าในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น เป็นผลดีต่อไทยในการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จากการแข่งขันที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า

ดังนั้น จากปัจจัยดังกล่าวและจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเอง จะส่งผลดีต่อภาพรวมของภาคการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปีนี้มีการขยายตัวในระดับ 4 % เป็นการขยายตัวของอุตสาหกรรมไฟฟ้า 2 % และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว 5 % โดยจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 % หรือมีมูลค่าราว 5.49 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้า 2.33 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว 3 % หรือมีมูลค่าราว 3.16 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่ปีก่อนการาส่งออกปรับตัวลดลง 0.7 % มีมูลค่าราว 5.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้า 2.26 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอิเล็กทรอนิกส์ 3.09 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,232 วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2560