แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาโควิด-19 อย่างยั่งยืน (3)

22 มี.ค. 2566 | 12:53 น.

แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาโควิด-19 อย่างยั่งยืน (3) สรุปบทเรียน 10 หลักการ (principles) ที่ควรใช้เป็นองค์ความรู้ในการเอาตัวรอดจากวิกฤติการณ์ในอนาคต

แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาโควิด-19 อย่างยั่งยืน (3) ท้ายที่สุด การจัดการกับปัญหาในระดับ unknown-unknowns หรือ วิกฤติการณ์ที่มาในรูปแบบที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเป็นรูปแบบใด การรับมือกับปัญหาในรูปแบบนี้ ต้องอาศัยการเตรียมองคาพยพในประเทศทุกภาคส่วนให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อให้เกิดความพร้อมต่อการรับมือในทุกสถานการณ์เสี่ยง ซึ่งสรุปบทเรียนออกมาในรูปของ 10 หลักการ (principles) ที่ควรใช้เป็นองค์ความรู้ในการเอาตัวรอดจากวิกฤติการณ์ในอนาคต ดังนี้

 

 

1. ภาพอนาคตบ่งชี้ว่า วิกฤติการณ์ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะคาดเดาไม่ได้ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เกิดขึ้นแบบซ้ำซ้อน และมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น โควิด-19 เป็นวิกฤติการณ์ซ้ำซ้อนที่ตามมาด้วยวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย วิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ วิกฤติเศรษฐกิจจีน และวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน

 2. ทางออกจากวิกฤติต้องมาจากทุกภาคส่วน

ภาครัฐไทยในอดีตมีศักยภาพในการกระตุ้นและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับที่สูงเนื่องจากหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำ บทบาทของภาครัฐในอดีตเข้ามาแก้ไขวิกฤติด้วยการก่อหนี้สาธารณะเพื่อพยุงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ระดับหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มสูงขึ้นและเข้าใกล้ระดับที่ในภาควิชาการระบุว่าอาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ลดลงหากกู้มากจนเกินไป ข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ภาคส่วนอื่นๆ ต้องเข้ามาหนุนเสริมเพื่อแก้ไขวิกฤติมากขึ้น

3. คิดให้ถี่ถ้วนก่อนจ่าย

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เป็นสังคมที่ต้องการเงินออมในระดับที่สูงมากกว่าปกติเพื่อใช้ในยามเกษียณอายุ นอกจากนี้ หลักการในการออมพื้นฐานที่ระบุว่าควรจะออมเงินเพื่อใช้ในสภาวะวิกฤติ 3-6 เดือนกลับพบว่าไม่เพียงพอในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ที่ลากยาวเป็นเวลาหลายปี นั่นคือ การออมจะเป็นสิ่งที่จำเป็นมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับวิกฤติในอนาคต

4. ยึดมั่นหลักการเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาว

วิกฤติการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดแรงจูงใจของภาครัฐที่จะเลือกหย่อนหลักการเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้น แต่หากจัดการอย่างไม่เหมาะสมจะกลายเป็นปัญหาในระยะยาว เช่น การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ขาดประสิทธิภาพ เช่น โครงการช้อปดีมีคืน ความพยายามที่จะเข้าไปดึงเงินในกองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการออมระยะยาว เช่น กองทุนประกันสังคมให้เอาออกมาใช้ก่อน หรือการแทรกแซงตลาดโดยการใช้เงินกองทุนพลังงาน ที่ต้องยึดมั่นหลักการเพื่อชดเชยสภาวะขาดทุนของกองทุน

 5. เรียนรู้ปรับตัวในยามวิกฤติ

 ทางออกที่ยั่งยืน คือ การเปลี่ยนสังคมที่หวังพึ่งรัฐเป็นอันดับแรก เป็นการเริ่มต้นที่การแก้ไขด้วยตนเองเสียก่อน ซึ่งจะทำให้ปัญหาที่หลงเหลืออยู่เป็นส่วนที่ไม่สามารถจัดการได้เอง กลไกในลักษณะนี้ คือ กลไกการเอาตัวรอดตามธรรมชาติ ที่คัดสรรให้เผ่าพันธุ์มนุษย์มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

6. เร่งจัดการกับปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจ

โควิด-19 ผ่านพ้นมาได้ในภาพรวม แต่ผ่านพ้นมาได้ด้วยบาดแผล คือ หนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจที่ยังคงสูงอยู่ และควรหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กลับมาอยู่ในระดับเดิมในช่วงก่อนโควิด-19 ระดับหนี้ที่ต่ำจะเป็นเกราะคอยรองรับวิกฤติการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

7. เพิ่มบทบาทของภาคท้องถิ่นในการร่วมจัดการปัญหา

การจัดการกับวิกฤติในภาพรวมจะมีความเหมาะสมหากมีการจัดการแบบรวมศูนย์ ในขณะที่การจัดการในบางส่วนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากให้ท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทหลักในการเข้ามาช่วยจัดการและดูแลปัญหา หัวใจสำคัญ จึงเป็นการรักษาสมดุลที่เหมาะสมระหว่างบทบาทของส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นในการร่วมมือกันจัดการกับปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด

 8. การบูรณาการ 4 ศาสตร์ในการสู้กับวิกฤติ

ศาสตร์ที่ 1 คือ มาตรฐานสากล สามารถนำมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน (เช่น มาตรฐานวัคซีน) ศาสตร์ที่ 2 คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ การประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิชาการที่มีอยู่เข้ามาช่วยจัดการกับวิกฤติ (เช่น Mobile Payment, Work from Home) ศาสตร์ที่ 3 คือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยสิ่งที่ดีที่สุดที่มีอยู่ แม้ว่าอาจจะยังไม่มีงานวิจัยออกมาอย่างปรากฎชัด แต่มีผลทางด้านความเชื่อมั่นและกำลังใจ ศาสตร์ที่ 4 คือ การวิจัยและพัฒนา ควรจะถูกใช้ในระยะยาว เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางในการจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด

การบูรณาการ 4 ศาสตร์จะต้องอาศัยกลยุทธ์ในการบริหารจัดการที่สำคัญ ได้แก่ adaptive strategy, adaptive intervention และ proactive management หรือก็คือ การจัดการแบบปรับกลยุทธ์และมาตรการแทรกแซงไปตามสถานการณ์ โดยฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

9. Trade-off และ Uncertainty

Trade-off คือ มาตรการที่ใช้มักจะมีผู้ที่ต้องเสียผลประโยชน์ มาตรการในการเยียวยาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ในขณะที่ Uncertainty คือ มาตรการที่ใช้มักจะมีความไม่แน่นอน บางส่วนอาจจะประสบความสำเร็จ บางส่วนอาจจะไม่สำเร็จ ทัศนคติของรัฐที่ต้องประสบความสำเร็จอาจจะทำให้มาตรการออกมาล่าช้าไม่ทันต่อกาล

10. การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคม

ประสิทธิผลของมาตรการต่างๆ ของภาครัฐจะขึ้นอยู่กับว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นในภาครัฐมากน้อยเพียงใด หัวใจสำคัญในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ คือ การสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ (ในภาพรวม) และการจัดการกับปัญหาในช่วงวิกฤติ (การจัดการในช่วงที่เกิดปัญหา)