แรงขับเคลื่อนจากรุ่นผู้ก่อตั้ง สู่ความรับผิดชอบทางสังคม

05 พ.ค. 2568 | 07:57 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2568 | 08:02 น.

แรงขับเคลื่อนจากรุ่นผู้ก่อตั้ง สู่ความรับผิดชอบทางสังคม : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมกันอยู่นี้ ธุรกิจทุกภาคส่วนต่างถูกจับตามองเรื่องการลดผลกระทบต่อธรรมชาติไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และมีธุรกิจกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ นั่นคือ “ธุรกิจครอบครัว” ที่มีแรงขับเคลื่อนจากรุ่นผู้ก่อตั้ง ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้ไม่เพียงแค่ใส่ใจผลประกอบการทางการเงินเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นดูแลโลกใบนี้ไปพร้อมกันด้วย

เห็นได้จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยคาร์ลอสที่ III แห่งมาดริด (Carlos III University of Madrid, UC3M) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา (Arizona State University, ASU) และมหาวิทยาลัยซาลามังกา (University of Salamanca) ระดมทีมวิจัยข้ามทวีปสำรวจธุรกิจครอบครัวในยุโรป 22 ประเทศ เพื่อวัดพฤติกรรมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของธุรกิจกลุ่มนี้

แรงขับเคลื่อนจากรุ่นผู้ก่อตั้ง สู่ความรับผิดชอบทางสังคม

โดยในงานนี้นักวิจัยกำหนดให้ “ธุรกิจครอบครัว” หมายถึง บริษัทที่ผู้ก่อตั้งหรือสมาชิกในครอบครัวถือสิทธิออกเสียง (voting rights) ไม่น้อยกว่า 25% ซึ่งอาจเป็นผู้ก่อตั้ง สมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ หรือทายาทก็ได้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยทีมงานนำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสหภาพยุโรป(EU Emissions Trading System) ร่วมกับข้อมูลโครงสร้างการถือหุ้นและงบการเงินจากฐานข้อมูล Amadeus database ของ Bureau van Dijk มาทำการวิเคราะห์เชิงลึก ผลการวิเคราะห์พบว่า

1) ความมุ่งมั่นในนโยบายสีเขียว: ธุรกิจครอบครัวในยุโรปมีแนวโน้มส่งเสริมนโยบายลดก๊าซเรือนกระจก (green policies) มากกว่าบริษัททั่วไป

2) บทบาทของคณะกรรมการบริษัท: เมื่อสมาชิกครอบครัวนั่งในคณะกรรมการบริษัท (board of directors) ความตั้งใจด้านความยั่งยืน (sustainability efforts) จะแข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะหากรุ่นผู้ก่อตั้ง (founding generation) ยังคงบริหารงานอยู่

3) ผลกระทบทางการเงิน: การลดก๊าซเรือนกระจกไม่ได้เป็นภาระหรือสร้างต้นทุนด้านเศรษฐกิจ (economic price) มากขึ้น แต่กลับช่วยเพิ่มคุณค่าให้สังคม (social benefits) พร้อมผลกำไรที่ดีกว่า ทำให้ธุรกิจครอบครัวยิ่งได้ผลตอบแทนทางการเงินสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรุ่นผู้ก่อตั้งยังมีบทบาทในการบริหารอยู่

ผลลัพธ์จากงานวิจัยสะท้อนให้เห็นว่าแรงขับเคลื่อนจากรุ่นผู้ก่อตั้งและการมีส่วนร่วมของครอบครัวในกิจการ เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวสามารถก้าวสู่ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับความสำเร็จทางธุรกิจได้ การวิจัยแสดงให้เห็นแล้วว่า เมื่อครอบครัวผนึกกำลังและสืบทอดเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง ความยั่งยืนก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมไม่เพียงเป็นการช่วยรักษาโลกไว้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้ธุรกิจยืนหยัดและเติบโตอย่างมั่นคงต่อไปได้ด้วย หากทุกคนเรียนรู้และนำแนวคิดนี้ไปใช้ ไม่ว่าจะองค์กรใดก็สามารถเป็นพลังสำคัญในการดูแลโลกของเราให้ดีขึ้นได้เช่นกัน

 

ที่มา: Carlos III University of Madrid. (2025, March 24). Family businesses are more sustainable, study finds. Phys.org. Retrieved April 22, 2025, from https://phys.org/news/2025-03-family-businesses-sustainable.html