ธุรกิจครอบครัวไม่ใช่รูปแบบเดียวทั้งหมด แต่แบ่งเป็น 3 ประเภทหลักตามโครงสร้างการถือหุ้น (Ownership Structure) ได้แก่แบบเจ้าเดียว (Solely-Owned) ที่มีบุคคลเดียวถือหุ้นส่วนใหญ่แบบพี่น้องร่วมกัน (Sibling-Owned) ที่กลุ่มพี่น้องร่วมบริหารและถือหุ้น และแบบกระจายหุ้น (Diffusely-Owned) ที่สมาชิกครอบครัวหลายรุ่นร่วมกันถือหุ้น
ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ในการแบ่งประเภทไม่ใช่เพียงการส่งต่อธุรกิจรุ่นสู่รุ่น แต่ขึ้นอยู่กับการออกแบบโครงสร้างกฎหมาย (Legal Structure) และความตั้งใจในการแบ่งสัดส่วนการถือหุ้น (Intentional Ownership Transfer) ด้วยโดยแต่ละรูปแบบมีจุดแข็ง-จุดอ่อน และกลยุทธ์การอยู่รอดที่ต่างกัน เช่นแบบเจ้าเดียว ควบคุมการตัดสินใจเร็วแต่เสี่ยงเมื่อขาดทายาท
ขณะที่แบบพี่น้องร่วมกันใช้พลังทีมแต่ต้องจัดการความขัดแย้ง ส่วนแบบกระจายหุ้น อาจลดความขัดแย้งในรุ่นหลานแต่ซับซ้อนในการบริหาร เป็นต้น ดังนั้นความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวจึงขึ้นกับการปรับกลยุทธ์ให้เหมาะกับประเภทธุรกิจ โดยคำนึงถึงโครงสร้างการถือหุ้นและวัฒนธรรมครอบครัวเป็นหลัก ดังรายระเอียดต่อไปนี้
1. ธุรกิจครอบครัวแบบเจ้าเดียว (Solely-Owned Family Business) เป็นรูปแบบที่การถือหุ้นแลการควบคุมอยู่ที่บุคคลเดียว โครงสร้างคล้ายราชาธิปไตย (Monarchy) ซึ่งมีเสถียรภาพสูง แต่ความขัดแย้งมักเกิดระหว่างรุ่นพ่อแม่กับลูก (Vertical Conflict) เรื่องการส่งมอบอำนาจและช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน กลยุทธ์สำคัญคือการสื่อสารอย่างเปิดเผยเพื่อวางแผนการเปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างสมบูรณ์
ทั้งการเตรียมความพร้อมด้านอารมณ์ความรู้สึกและการเงินของคนรุ่นก่อน การสร้างโอกาสให้รุ่นเก่าให้คำปรึกษาหลังลงจากตำแหน่ง รวมถึงจัดการความเหลื่อมล้ำทางการเงินระหว่างลูกหลานที่ไม่ได้ทำงานในธุรกิจ พร้อมตั้งคณะที่ปรึกษา (Board of Advisors) เพื่อรับคำแนะนำที่เป็นกลาง
2. ธุรกิจครอบครัวแบบพี่น้องร่วมกัน (Sibling-Controlled Family Business) เมื่อการถือหุ้นกระจายสู่พี่น้องหลายคน โครงสร้างจะคล้ายกลุ่มผู้นำ (Oligarchy) ซึ่งเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจแต่เสี่ยงเกิดความขัดแย้งทั้งระหว่างพี่น้อง (Horizontal Conflict) และระหว่างรุ่น (Vertical Conflict) กลยุทธ์หลักคือการสร้างระบบบริหารมืออาชีพ (Professional Management) ที่ใช้กฎเกณฑ์เดียวกันกับทุกคน
กำหนดเงื่อนไขการเข้าร่วมธุรกิจของรุ่นต่อไปอย่างชัดเจน และเตรียมข้อตกลงซื้อขายหุ้น (Buy/Sell Agreements) เพื่อป้องกันความเสียหายหากมีการขายหุ้น หากต้องการให้ธุรกิจยั่งยืน ต้องเลือกระหว่างการรวมหุ้นกลับสู่รูปแบบเจ้าเดียว หรือกระจายหุ้นให้กว้างในรุ่นต่อไปเพื่อลดโอกาสรวมกลุ่มยึดอำนาจ
3. ธุรกิจครอบครัวแบบกระจายหุ้น (Diffusely-Owned Family Business) เมื่อหุ้น (Ownership) และอำนาจ (Control) กระจายออกจากครอบครัวรุ่นแรก อาจเกิดความขัดแย้งจากการรวมกลุ่มแย่งอำนาจ (Coalitions) สามารถแก้ไขได้ 2 ทาง คือ 1) รวมศูนย์หุ้น (Consolidate Ownership) ชั่วคราว แต่ปัญหาอาจวนซ้ำกลับมาได้อีก 2) ปรับโครงสร้างเลียนแบบบริษัทมหาชน (Public Corporation)
โดยแจกหุ้นให้สมาชิกรุ่นใหม่ ≥10 คน เพื่อลดการยึดอำนาจ พร้อมตั้งสภาผู้ถือหุ้น (Owner’s Council) และระบบบริหารคล้ายบริษัทเอกชน (Private Company) เมื่อธุรกิจขยายตัวมากขึ้นการสืบทอดผู้นำ (Leadership Succession) จะสำคัญกว่าการถ่ายโอนหุ้น (Ownership Succession) เพราะสมาชิกเป็นแค่ผู้ถือหุ้น (Shareholder) ที่ตัดสินใจผ่านมติเหมือนบริษัทในตลาดหุ้น ต้องมีกฎชัดเจนเพื่อรักษาทิศทางธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นให้มั่นคง
แม้ไม่มีโครงสร้างการถือหุ้นใดดีที่สุดสำหรับธุรกิจครอบครัวทุกประเภท แต่รูปแบบกระจายหุ้น (Diffusely-Owned) มักถูกมองว่าเป็นโมเดลในอุดมคติสำหรับความยั่งยืนระยะยาว เนื่องจากลดการรวมอำนาจและความขัดแย้งข้ามรุ่น แม้จะบริหารจัดการยากกว่าทั้งในแง่ระบบธรรมาภิบาล และการรักษาสมดุลผลประโยชน์ อย่างไรก็ตามทุกทางเลือกมีต้นทุนต่างกัน
เช่นการรวมหุ้นกลับสู่เจ้าเดียว (Solely-Owned) เสี่ยงที่จะทำลายสัมพันธ์จากความรู้สึกถูกกีดกันขณะที่รูปแบบการกระจายหุ้นอาจทำให้คนรุ่นเก่ารู้สึกสูญเสียอำนาจ ส่วนรูปแบบพี่น้องร่วมกัน (Sibling-Owned) เป็นทางออกชั่วคราวที่มักวนกลับสู่ปัญหาซ้ำในรุ่นถัดไป สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการตัดสินใจบน“คุณค่าหลักของครอบครัว” ด้วยการพูดคุยทุกฝ่ายตั้งแต่เนิ่นๆ สร้างกรอบกฎหมายชัดเจน และยืดหยุ่นปรับโครงสร้างตามบริบท
ที่มา: Edmund (Ted) Clark. October 4, 2022. Your Family Business’s Resiliency Depends on Its Structure. Harvard Business Review. Available: https://hbr.org/2022/10/your-family-businesss-resiliency-depends-on-its-structure