การปรับบทบาทสู่ความมืออาชีพสำหรับธุรกิจครอบครัว

25 เม.ย. 2568 | 22:25 น.

การปรับบทบาทสู่ความมืออาชีพสำหรับธุรกิจครอบครัว : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ การกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบที่ชัดเจนภายในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจครอบครัวที่มักจะเผชิญกับความท้าทายในการแยกความสัมพันธ์ส่วนตัวออกจากการบริหารงาน เมื่อสมาชิกในครอบครัวมักได้รับมอบหมายงานตามความสนิทสนมแทนที่จะพิจารณาจากความเหมาะสมหรือคุณสมบัติที่แท้จริง ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการบริหารธุรกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวด้วย

การวางโครงสร้างองค์กรที่ถูกต้องจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยสามารถเลือกใช้รูปแบบที่เหมาะสมกับลักษณะและเป้าหมายของธุรกิจ เช่น โครงสร้างแบบแบน (Flat) ที่เน้นการบริหารแบบอิสระและเพิ่มความรวดเร็วในการตัดสินใจ เหมาะสำหรับองค์กรขนาดเล็กถึงกลาง หรือแบบหน้าที่ (Functional) ที่แบ่งงานตามแผนกต่างๆ

การปรับบทบาทสู่ความมืออาชีพสำหรับธุรกิจครอบครัว

ซึ่งแม้จะมีความชัดเจนในเรื่องการแบ่งงานแต่บางครั้งก็อาจทำให้กระบวนการตัดสินใจช้าลง เนื่องจากต้องให้หลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และอีกแบบคือโครงสร้างแบบแบ่งตามสายผลิตภัณฑ์/ลูกค้า (Divisional) ซึ่งเหมาะกับองค์กรที่ต้องการเน้นการให้บริการหรือผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเฉพาะที่แตกต่างกัน

นอกจากการกำหนดโครงสร้างแล้วการระบุบทบาทภายในองค์กรก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เริ่มตั้งแต่บทบาทระดับผู้บริหาร (Executive Roles) ที่มอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูงอย่าง CEO, COO, CFO, และ CMO ในการวางแผนกลยุทธ์และกำหนดวิสัยทัศน์ของบริษัท ไปจนถึงบทบาทระดับผู้จัดการ (Managerial Roles) ที่ควบคุมดูแลแต่ละแผนกอย่างเป็นระบบ

เช่น ฝ่ายขาย, ทรัพยากรบุคคล, หรือฝ่ายไอที ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการทำงานประจำวันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร รวมไปถึงบทบาทระดับการปฏิบัติการ (Operational Roles) ที่คอยสนับสนุนงานประจำวัน เช่น ผู้ช่วยบริหาร นักบัญชี และพนักงานขาย ที่ทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

สำหรับธุรกิจครอบครัวแล้วการเข้าใจบทบาทอย่างชัดเจนภายในองค์กรจะช่วยให้ทุกคนมีความรู้สึกถึงความรับผิดชอบและมีเป้าหมายร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดรูปแบบการเป็นเจ้าของ (Ownership) ที่อาจจะเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว คู่ หรือการร่วมกันจัดตั้งข้อตกลงในรูปแบบหุ้นส่วน (Partnership Agreement) การตั้งคณะกรรมการบริษัท (Board of Directors) หรือคณะที่ปรึกษาที่คอยให้คำแนะนำ

รวมไปถึงการจัดตั้งสภาครอบครัว (Family Council) เพื่อเป็นเวทีสำหรับการตัดสินใจและกำหนดแนวทางร่วมกันในระยะยาว อีกทั้งยังควรมีบทบาทเฉพาะด้าน (Specialized Roles) ในการดูแลเรื่องที่สำคัญ เช่น การแก้ไขความขัดแย้ง การวางแผนสืบทอดกิจการ หรือการเปลี่ยนผ่านผู้นำ เป็นต้น

การกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบที่ชัดเจนพร้อมกับการเลือกใช้โครงสร้างองค์กรที่เหมาะสม ไม่เพียงช่วยให้ธุรกิจครอบครัวสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับอนาคต เมื่อทุกคนในองค์กรมีความเข้าใจในหน้าที่และเป้าหมายร่วมกัน ธุรกิจก็จะพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและก้าวไปสู่ความสำเร็จในระยะยาวได้อย่างแท้จริงในที่สุด

 

ที่มา: Johnson, J. (2024, October 18). Running a family business? Here's how to define roles and responsibilities. U.S. Chamber of Commerce. https://www.uschamber.com/co/start/strategy/family-business-roles