“สุราก้าวหน้าเวียดนาม” เปิดเสรีกว่า “ไทย”

11 มิ.ย. 2566 | 04:48 น.

บทความ : โดยนายหัวอัทธ์ ชี้“สุราก้าวหน้าเวียดนาม” เปิดเสรีมากกว่าไทย ขณะลาวเป็นสายดื่มแอลกอฮอล์อันดับ 1 ของอาเซียน ไทยรั้งอันดับ 6

“สุราก้าวหน้าเวียดนาม” เปิดเสรีกว่า “ไทย”

บทความโดย : นายหัวอัทธ์

หลายประเทศมีสุราแบรนด์ดังเป็นของตนเองที่พัฒนามาจากเหล้าท้องถิ่น เช่น เหมาไถ ของจีนที่ทำจากข้าวสาลีหรือข้าวฟ่าง สาเก ของญี่ปุ่นทำจากข้าว โซจู ประเทศเกาหลีทำจากข้าวหรือมันเทศ ในขณะที่เวียดนามก็มีเหล้าท้องถิ่นหลายยี่ห้อและหลายจังหวัด ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

หากพิจารณาในอาเซียน ลาวเป็นประเทศ “สายดื่มแอลกอฮอล์” มากสุดในอาเซียนตามด้วยเวียดนาม คนลาวดื่มเหล้าและเบียร์เฉลี่ย 25.9 ลิตรต่อคนต่อปี ส่วนเวียดนามดื่ม 22.8 ลิตรต่อคนต่อปี (ในปี 2017 เวียดนามดื่มอยู่ที่ 8.9 ลิตรต่อคนต่อปี, ที่มา standard insights,The Alcoholic Beverage Industry in Vietnam)

ในขณะที่ประเทศไทยดื่มอยู่ที่ 6 ของอาเซียน  (ชาวโลกดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ย 16 ลิตรต่อคนต่อปี) คนเวียดนามนิยมดื่มเหล้าท้องถิ่นเพราะเป็นไปตามวัฒธรรมและการเปิดเสรีสุรา เวียดนามเป็นประเทศเกษตรกรรม พืชหลักคือ “ข้าวและสินค้าเกษตร” ข้าวของชาวนาถูกจัดสรรไป 4 ส่วนคือ “ไว้กิน ไว้ขาย ไว้เลี้ยงสัตว์ และไว้ทำเหล้าขาวท้องถิ่น”

เหล้าท้องถิ่นภาษาเวียดนามเรียกว่า “เหล้าขาว (Ruou Trang : โสะ ฉัง)”  “Ruou” แปลว่า เหล้า  และ “Trang” แปลว่า ขาว หรือบางที่ก็เรียกว่า ”เหล้าข้าว (Ruou Gao : โสะ กาว) “Gao” แปลว่า ข้าว บางที่เรียกว่า “Rice Wine” ทางตอนเหนือประเทศเรียกเหล้าประจำชาติ  (Ruou Quoc Iui) แต่ตอนใต้เรียกไวน์พื้นบ้าน (Ruou de) โดย “เหล้าขนาด 40 ดีกรี ต้องใช้ข้าว 10 กก. ได้เหล้า 5 ลิตร”

“สุราก้าวหน้าเวียดนาม” เปิดเสรีกว่า “ไทย”

เหตุผลเหล้าท้องถิ่นเวียดนามได้รับความนิยมจากคนในประเทศมีองค์ประกอบหลายอย่าง 1.การเป็นนักดื่ม คนเวียดนามดื่มมากเป็นอันดับสองของอาเซียน คนชนบทที่ทำเหล้าเอง จะดื่มทุกวัน ส่วนใหญ่หลังอาหารเที่ยงและเย็น 2.วัฒนธรรมที่มีเหล้า ในวันแต่งงาน เจ้าบ่าวต้องนำเหล้าขาวท้องถิ่นจำนวน 8-10 ไหไปมอบให้ครอบครัวเจ้าสาวเพื่อแสดงถึงความเคารพและนับถือ และหากบ้านใดเมื่อลูกสาวเกิดมา จะนำเหล้าขาวไปฝั่งในดิน จนกระทั่งลูกสาวแต่งงานจึงจะนำมาดื่มฉลองในวันแต่งงาน เรียกว่า “Wine Daughter”

นอกจากนี้ยังใช้เหล้าท้องถิ่นในพิธีแต่งงาน งานศพ งานเลี้ยง และไว้ต้อนรับผู้มาเยือน และคนเฒ่าคนแก่จะนำเหล้าขาวท้องถิ่นไปผสมกับสมุนไพรหรือสัตว์เพื่อสุขภาพ เรียกเหล้าแบบนี้ว่า เหล้ายา “Ruou Thuoc”

3.ความเป็นอาณานิคม ช่วงที่เวียดนามอยู่ภายใค้การปกครองของจีน (ก่อน ค.ศ. 111-ค.ศ 938) มากกว่า 1 พันปี เหล้าท้องถิ่นเวียดนามได้ถูกพัฒนาให้เป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้นจากพ่อค้าจีน ต่อมาในยุคอาณานิคมฝรั่งเศส (1858-1939) กลับซบเซาเพราะฝรั่งเศสต้องการให้ดื่มเหล้าจากตะวันตกแทน

4.โฆษณาได้ กฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เวียดนาม ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2020 ที่ผ่านมา บอกว่าสามารถโฆษณาบนออนไลน์ได้แต่ต้องมีมาตรการป้องกัน และต้องระบุว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ห้ามโฆษณาช่วง 18.00-21.00 น. (สำหรับแอลกอฮอล์ที่ต่ำกว่า 5.5%) และโฆษณาต้องห่างจากสถานที่ที่กำหนด 100-200 เมตร

5. ราคาถูก เนื่องจากมีการผลิตเยอะและหลายจังหวัดราคาจึงถูก ขนาด 1 ลิตรราคา 25-30 บาท 6.เปิดให้ทำได้เสรี ทุกคนสามารถทำเหล้าท้องถิ่นเองได้ แต่ต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องกับหน่วยงานรัฐในจังหวัดที่เรียกว่า “People’s Committee of the commune” ที่มีอยู่ใน 58 จังหวัด กับ 5 เทศบาลเมือง 7. FTA ยุโรป จะเข้ามาช่วยพัฒนาและยกระดับการผลิตเหล้าท้องถิ่นเวียดนามให้มีมาตรฐานสากล

ผู้ผลิตเหล้าขาวท้องถิ่นในเวียดนาม แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1.ชาวบ้านทำกันเอง 2.ชาวบ้านทำร่วมสหกรณ์การเกษตร (COOP) และ 3.บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบ 3 ประเภทคือ ข้าวทั่วไป ข้าวเหนียว และข้าวหัก เหล้าที่ทำจากข้าวหักและข้าวเหนียวราคาจะสูงกว่าเหล้าที่ทำจากข้าวทั่วไป

เหล้าท้องถิ่นเวียดนามมี 4 ช่องทางการจำหน่ายคือ 1.เกษตรกรผลิตเอง กินเอง ขายในคนรู้จักกลุ่มเล็ก ๆ 2.กลุ่ม SMEs จะทำตลาดเอง ขายในจังหวัด 3.ขายผ่านทางสหกรณ์ COOP และ 4. กลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่จะจำหน่ายไปยังเมืองใหญ่ ๆ

ห่วงโซ่อุตสาหกรรมเหล้าท้องถิ่นเวียดนามถือว่า “เข้มแข็ง” เพราะเชื่อมโยงทั้ เกษตรกร สหกรณ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ (กลุ่มเซรามิก) ค้าปลีกสมัยใหม่ และโรงกลั่นต่างประเทศ (ยี่ห้อ Ruou de Suti มีโรงกลั่นในรัฐเท็กซัส)

จะเห็นได้ว่านโยบายสุราก้าวหน้าของเวียดนามมีการพัฒนาก้าวหน้ากว่าไทยมาหลายปี และเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าสนใจของเวียดนามที่เปิดเสรี