แบกหลังแอ่น “ค่าปุ๋ย” 2 แสนล้าน ปัญหาหนักภาคเกษตรไทย

01 พ.ค. 2566 | 04:38 น.

ปุ๋ยที่ใช้กันทั่วโลกในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ คือปุ๋ยอินทรีย์ ที่ใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากของเหลือเกษตรเพื่อไปทำปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยเคมี ที่ใช้วัตถุดิบจากก๊าซธรรมชาติ อากาศ และแร่ธาตุ ได้แก่ โปแตส และ ฟอสเฟต หรืออาจจะเรียกว่า “ปุ๋ยแร่ธาตุ” ก็ได้

แบกหลังแอ่น “ค่าปุ๋ย” 2 แสนล้าน  ปัญหาหนักภาคเกษตรไทย

บทความโดย : นายหัวอัทธ์

"ปุ๋ย" ในประเทศไทยเป็นองค์ประกอบสำคัญในต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรทุกชนิด ช่วงปี 2562-2564 ข้าวใช้ปริมาณปุ๋ยเคมีมากที่สุด สัดส่วน 41% ของปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด เพราะมีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด  66.5  ล้านไร่ ตามด้วย ยางพารา (28%) ปาล์มน้ำมัน (12%) อ้อย (7%) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (7%) และมันสำปะหลัง (5%) (มีพื้นที่ปลูกเป็นอันดับสามรองจาก ข้าวและยาง) (Narin Tunpaiboon, ธนาคารกรุงศรีฯ, 30 มีนาคม 2566)

และเมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนการผลิต ก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครน (ปี 2560) พบว่าใน 10 สินค้าเกษตรสำคัญ มากกว่า 50% ของค่าใช้จ่ายการผลิตทั้งหมด เป็นค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงและปุ๋ยรวมกัน โดยค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงมีสัดส่วนมากกว่าค่าใช้จ่ายปุ๋ย แต่เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ค่าใช้จ่ายปุ๋ยมีมากกว่าด้านค่าแรง

โดยปี 2565  “ค่าใช้จ่ายปุ๋ย เท่ากับ 2 แสนล้านบาท ค่าจ้าง 1.8 แสนล้านบาท” โดยข้าว ใช้เงินสำหรับปุ๋ยมากสุด ตามด้วย อ้อย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เมื่อพิจารณาต้นทุนข้าวนาปรังในจังหวัดชัยนาทปี 2566 พบว่าอยู่ที่ 5,880 บาท/ตัน โดยเป็นต้นทุนปุ๋ยสูงสุดในโครงสร้างต้นทุนทั้งหมดถึง 25% (1,500 บาท/ไร่)

แบกหลังแอ่น “ค่าปุ๋ย” 2 แสนล้าน  ปัญหาหนักภาคเกษตรไทย

ในขณะที่ ยางพารา (ยางก้อนถ้วย) มีสัดส่วนค่าใช้จ่าย 11% (949 บาท/ไร่) ของต้นทุมยางก้อนถ้วย และค่าปุ๋ยคิดเป็น 28% (2,782 บาท/ไร่) ของต้นทุนผลปาล์มสดทั้งหมด

เหตุผลที่ค้าใช้ปุ๋ยเพิ่มขึ้นเพราะ เมื่อเดือนมีนาคม 2565 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ารัสเซียได้ออกประกาศว่า ห้ามส่งออกปุ๋ยไปในตลาดโลก (Southeast AgNet Radio Network, March 7,2022) ใน 48 ประเทศที่ต่อต้านรัสเซีย “Unfriendly Nations” ทำให้ราคาปุ๋ยทั่วโลกปรับขึ้นอีกทันที

โดยราคาปุ๋ยยูเรีย (Urea) และ DAP  เพิ่มจาก 400 และ 500 เหรียญ/ตัน เป็นมากกว่า 1,000 เหรียญ/ตัน  “ราคาปุ๋ยในตลาดโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 150%” ยูเครนก็ห้ามส่งออกปุ๋ยเพื่อเก็บไว้ทำการเกษตร เพราะตั้งแต่เดือน มี.ค-พ.ค. ของทุก ๆ ปีจะเป็นปีของเริ่มเพาะปลูก (Irish Examiner, Mar 12, 2022)

รัสเซีย เป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับต้นๆ ของโลก สามารถแบ่งออกเป็น ปุ๋ยไนโตรเจน (Nitrogen : N) รัสเซียส่งออกอันดับ 1 ของโลกสัดส่วน 18% ตามด้วยจีน (15%) ปุ๋ยฟอสฟอรัส (Phosphorus : P) รัสเซียส่งออกอันดับ 3 ของโลก สัดส่วน 15% ตามหลังจีนที่ส่งออกอันดับ 1 (สัดส่วน 30%) และปุ๋ยโพแทสเซียม (Potassium : K) รัสเซียส่งออกอันดับสองของโลกสัดส่วน 25% ตามหลังแคนาดา อย่างไรก็ตามข้อมูลปี 2563 โดยรวมแล้วรัสเซียเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก (Tarric Brooker, Nov 20, 2021)

แบกหลังแอ่น “ค่าปุ๋ย” 2 แสนล้าน  ปัญหาหนักภาคเกษตรไทย

“ประเทศใดบ้างที่พึ่งพิงปุ๋ยรัสเซีย” พบว่าปี 2563 ร้อยละ 30% รัสเซียขายปุ๋ยให้กับประเทศในยุโรป หากแยกเป็นรายประเทศพบว่าบราซิลเป็นประเทศหลักในการนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียสัดส่วน 19% ตามด้วยอินเดียและจีนอย่างละ 7% และสหรัฐฯ 6% ประเทศอาเซียนพึ่งพิงปุ๋ยจากรัสเซียน้อยมาก

สำหรับการ “นำเข้าปุ๋ยของประเทศไทยในปีระหว่างปี 2561- 2565” ที่ผ่านมาไทยนำเข้าปุ๋ยทั้งแม่ปุ๋ยและปุ๋ยสูตรปีละ 5-5.5 ล้านตัน มูลค่า 5-6 หมื่นล้านบาท แต่ “ปี 2565 นำเข้าเหลือ 4 ล้านตัน และมูลค่าเพิ่มเป็นแสนล้านบาท”

แบกหลังแอ่น “ค่าปุ๋ย” 2 แสนล้าน  ปัญหาหนักภาคเกษตรไทย

ก่อนปี 2565 ราคาขายส่งปุ๋ย 46-0-0 อยู่ที่ 10,000 ต่อตัน แต่ปี 2565 ราคาขึ้นไป 25,000 -32,000 บาท/ตัน และร้อยละ 22% ไทยนำเข้ามาจากจีนมากที่สุด ตามด้วยซาอุ สัดส่วน 14% มาเลเซีย 7% และรัสเซีย 6% แต่หากแยกออกเป็นประเภทต่าง ๆ ปุ๋ยไนไตรเจนนำเข้ามามากที่สุด 48.7% โดยนำเข้ามาจากซาอุดิอาระเบีย  กาตาร์ มาเลเซียและจีน รองลงมาเป็นการนำเข้าปุ๋ย NPK สัดส่วน 38% จากประเทศจีนและรัสเซีย ตามด้วยฟอสฟอรัสสัดส่วน 14% จากแคนาดาและเบรารุส (Industry Outlook 2020-2022: Chemicals Fertilizers,29 January 2020, Narin Tunpaiboon)

สิ่งที่ต้องทำคือ 1.ผลิตปุ๋ยเองภายในประเทศ หรือโมเดลอินโดนีเซีย ที่ใช้วัตถุดิบมาจากก๊าซธรรมชาติ และภาคอีสานของไทยก็มีแร่โปรแตซ (Potash) ที่เป็นสารตั้งต้นในการทำปุ๋ย แต่โครงสร้างการบริหารไม่ควรเหมือนกับไฟฟ้าและน้ำมัน เพราะทำให้ราคาปุ๋ยแพงอีก อินโดนีเซียพัฒนาอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีถูกพัฒนาขึ้นในปี 1963 โดยการตั้งบริษัท PT.PUSRI ในสมัยนั้นมีการตั้งโรงานปุ๋ยยูเรียในเกาะกาลิมันตันตะวันออก ชวาตะวันตก และอาเจก ระหว่างปี  1974-1986 มีการสร้างโรงงานยูเรียเพิ่มอีก 9 โรงงาน และ 2 โรงงานปุ๋ย SP-36  และ1986-1994 สร้างโรงงานยูเรียเพิ่มอีก 2 แห่ง

ปัจจุบันอินโดนีเซียมีโรงงานผลิตปุ๋ยทั้งหมดมากกว่า  20 โรง ซึ่งศักยภาพสามารถผลิตได้ปีละ 12 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการมากกว่า 12 ล้านตัน รัฐบาลอินโดนีเซียจึงทำ 2 เรื่อง 1.มีการผลักดันปุ๋ยอินทรีย์ แต่ราคาปุ๋ยยูเรียออแกนิกเท่ากับ 1,000 รูเปีย/กก. ใกล้เคียงกับปุ๋ยยูเรียเคมีที่ 1,200 รูเปีย/กก. รัฐบาลจึงคุมราคาขายปลีกปุ๋ยยูเรียออร์แกนิคต่ำกว่า 1,000 รูเปีย/กก.

2.อินโดนีเซียมีนโยบายอุดหนุนปุ๋ยแก่เกษตรกรมาตั้งแต่ปี 1970 โดยเกษตรกรจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาปุ๋ยในตลาดหักราคาปุ๋ยที่อุดหนุนให้เกษตรกร 17 ล้านคน ใช้เงินอุดหนุนปุ๋ยปีละ 25 ล้านล้านรูเปีย หรือ 1.8 พันล้านเหรียญ (6 หมื่นล้านบาท) โดยราคาอุดหนุนขึ้นกับราคาอุดหนุน (High Retailed Price : HRP)

ราคาต้นทุนการผลิตปุ๋ย และจากการศึกษาของธนาคารโลก (2009) พบว่าใส่ยูเรีย 1% ทำให้ผลผลิตต่อไร่ข้าวเพิ่มขึ้น 0.4% ในเกาะชวา แต่มูลค่าเพิ่มของข้าวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าเงินที่รัฐอุดหนุน  2.ใช้ปริมาณลดลง ในรอบปีของการเพาะปลูกสมมุติเดิมใช้ 1 กระสอบ (50 กก.) ใน 1 ไร่ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย แบ่งออกเป็น 20 กก./ 6 เดือน ทำให้เหลือปุ๋ยอีก 10 กก.ไปใช้ในปีถัดไป   3.ผลักดันใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ในสัดส่วนที่มากขึ้น