อัลตร้าซาวน์อัตลักษณ์ ฉากที่ 9 ลูกค้าคือพระเจ้า

18 ก.พ. 2565 | 23:30 น.

อัลตร้าซาวน์อัตลักษณ์ ฉากที่ 9 ลูกค้าคือพระเจ้า : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล ฉบับ 3759 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3759 ระหว่างวันที่ 20-23 ก.พ.2565

บริษัทเอกชนเชิญผมไปบรรยายร่วมกับ รศ.ดร.สุขุม นวลสกุล บ่อยครั้ง ต่างฝ่ายต่างก็ผลัดกันวิ่งราวฉกมุกคู่หูเอาไปพูดหากินกันตะพึด มุกทรงคุณค่าที่ นักพูดมักจะตีเสมอด้วยการเอ่ยชื่อ รศ.ดร.สุขุม ลับหลังกันว่า “พี่ขุม” (อิๆ) สะท้อนถึงจุดร่วมของคนทุกรุ่นที่ขี้เกียจตรงกัน ไม่อยากจะพูดอะไรให้มัน “เฟื้อย!”

 

หรือ “โยชน์” (ยาว 16 กิโลเมตร) หมายถึง ยาวฝุดๆ สุดจะปู๊นนนนน… เราจึงเขียนมันง่ายๆ ว่า โรงบาล คนที่คุ้นเคยกับบรรดา จอมขมังขี้เกียจ จะรู้ดีว่า หมายถึง โรงพยาบาล น้อยมากที่ผมจะท้วงติงคนที่คุยด้วยว่า “อย่า เฟื้อย สิ” หรือ “ไม่โยชน์ เอาไหร่” เฟื้อย กับ โยชน์ แปลว่า ยาว ผมบัญญัติประชันกับวัยรุ่นยุคนี้ นานๆ ปล่อยของที แสดงท่าทีหิวแสงว่าผมก็เล่นเป็น (คริๆ) เอ๊ะ ผมเอา “พี่ขุม” ไปทิ้งไว้บรรทัดไหน (ฮา)

“พี่ขุม” เล่าว่า ม.รามคำแหง ไปดูงานด้านการศึกษากันที่จีน เขาจัดที่พักให้นอนกันห้องละสองคน “พี่ขุม”เซ็ง บัดดี้ที่นอนร่วมห้องตรงที่เขาฉี่ใส่โถชักโครกแล้วไม่กดน้ำ ฟองมันฟอดโชว์เต็มโถยังกะรินเบียร์ประชดชีวิต

 

คืนสุดท้ายก่อนจะเดินทางกลับไทย บัดนี้ท่านนั้นก็คุยเปิดอกกับ “พี่ขุม” ว่า “ผมแพ้ควันบุหรี่เพราะเป็นโรคหืดหอบ ผมรู้ว่าอาจารย์ชอบสูบบุหรี่ อาศัยว่าผมชื่นชมอยากจะคุยด้วย จึงไปเจรจาขอสลับห้องย้ายมานอนห้องเดียวกับอาจารย์” ทริปนั้น “พี่ขุม” บอกกับคนฟังว่า “อารมณ์ผมพลิกเปลี่ยนจากรำคาญกลายเป็นปลื้มใจที่เขาเป็นแฟนคลับเรา ก็ปลงมันซะเลยว่า ที่ขุ่นใจผ่านมาก็ช่างมันเถอะ ถ้าเขาทนควันบุหรี่ที่ผมพ่นได้ ผมก็ควรจะทนฟองที่เขาฉีดใส่โถให้ได้” (ฮา)

“นิทานอีสอด” คือ เรื่องของคนชอบสอด รู้แล้วเอามาเล่าให้ชาวบ้านรู้ นิทานอีสอดเรื่องนี้ได้มาจากการไปสอดส่องในห้องแช็ทก็ได้ความว่า พ่อค้าวัยหนุ่ม เอากรณีที่เขาเหลืออดมารำพึงฝากไว้ในโลกโซเชี่ยลว่า
เหนื่อยอ่ะ ลูกค้าสมัยนี้พระเจ้ามากๆ เลยอ่ะ

 

วันนี้มีดราม่าเล็กน้อยจะมาเล่าให้ฟัง ลูกค้ามาใส่ของที่ร้านแล้วพูดจาไม่ดีกับเด็กที่ร้านครับ ผมเลยถามว่าเกิดอะไรขึ้น ลูกค้าบอกว่าลูกน้องพูดจาไม่ดีใส่เขา พ่อค้าวัยหนุ่ม บอกว่า ลูกน้องคนนี้ทำงานกับเรามา 18 ปี ตั้งแต่รุ่นพ่อแล้ว ไม่เคยเป็นแบบนี้เลยนะ ลูกค้าก็ขึ้นเสียงกับเราว่า ก็วันนี้มันเป็นแบบนี้อ่ะ ลูกน้องบอกว่า ผมไม่ได้ว่าอะไรเลย แค่บอกว่าต้องใส่ดูก่อนเท่านั้นเอง ผมพูดอะไรใส่พี่ล่ะ 

 

ว่าแล้วก็เถียงกัน เราทนไม่ได้จึงบอกกับลูกค้าว่า พี่กลับไปเถอะ เราไม่ขายพี่แล้ว ขายไปดราม่าแน่นอน ลูกค้าก็ปรี้ดใส่ทันที เราก็ไม่รู้ว่าแกพูดอะไร จริงๆ มันจบไปแล้ว เราไม่อยากขายให้ เรารู้สึกว่า คนเราอ่ะ ลูกจ้างเงินเดือนไม่เยอะ เรียนไม่สูง คุณมีเงินก็ไม่เห็นจำเป็นต้องกดขี่ 

                                  อัลตร้าซาวน์อัตลักษณ์ ฉากที่ 9 ลูกค้าคือพระเจ้า

โชคดีที่เราอยู่ในเหตุการณ์ ทันที่เห็นว่าเขาจะพูดยังไงกับคนของเรา ถ้าเราปกป้องคนของตัวเองไม่ได้ก็อย่าเป็นนายคนเลย เลิกทำ ไปเลี้ยงควายดีกว่า ถ้าผมสนิทกันจะขอคุยด้วยสักสองสามช้อนว่า ลูกค้าคือพระเจ้า เราตั้งชื่อร้านใหม่เลยว่า ร้านพ่อพระเจ้า! (ฮา)

 

ถ้ามีใครถามว่า “ตาเถรตบะแตกได้แล้าทำไมพ่อค้าจะน็อตหลุดบ้างไม่ได้” ผมจะกราบสามครั้งแล้วก็บอกเขาว่า “ลองหลับตานึกดูเถอพว่า ถ้าน็อตเครื่องยนต์มันหลุด รถเราจะเกิดอะไรขึ้น” อ.เสน่ห์ ศรีสุวรรณ นักพูดมืออาชีพ เพิ่งส่งภาพบูธรับซ่อมรองเท้ามาให้ดูทางไลน์ ร้านนี้ตั้งชื่อกระชากหัวใจผู้หวังจะใช้บริการหลายคนขอหลบไปปลุกพระสักพัก เนื่องจาก บูธของเขาชื่อว่า “เพื่อนส้นตีน” (ฮา)

 

เคสนี้มีคนเข้ามาเมนท์เกือบร้อย ผมเลือกคำแนะนำของน้องคนหนึ่งที่เริ่มต้นมีอัตลักษณ์ย้อนแย้ง ครั้นเมื่อได้คุยกับลูกพี่ซึ่งเคยเจอทั้งดอกไม้และก้อนหิน น้องเขาก็เปลี่ยนไป น้องเขาเสนอแนะผู้ตั้งกระทู้ได้น่าสนใจ

 

น้องเล่าว่า ตอนเป็นเซลล์ขายของ มีลูกค้า ที่ค่อนข้าง มีอายุ หัวโบราณ นิดนึง เราอธิบายสินค้า หลักการทำงาน โพรเสจต่างๆ ให้ฟัง ยังไงก็ไม่เข้าใจ ไม่พร้อมที่จะรับฟัง ตั้งแง่ตลอด ไปบ่นให้เจ้านายฟังว่าเคสนี้น่าจะขายยาก เราพูดให้เจ้านายเข้าใจประมาณว่า ลูกค้าช่างโง่แสนโง่ เจ้านายเราบอกว่า ในขณะที่เราคิดว่า ลูกค้าโง่เป็นควาย เรากลับไม่มีวิธีขาย แค่กล่อมควายโง่ๆ ให้เอาเงินมาซื้อสินค้า 

 

เรายังเล่นไม่เป็น สำนวนแดกดันของลูกพี่ กระตุ้นให้เราฉุกใจว่า เราคิดว่าเค้าโง่แสนโง่แต่เรายังไม่มีปัญญาเอาเงินเค้ามาได้เลย แสดงว่าเค้าฉลาดกว่าเรา ไม่ว่าจะเจอลูกค้าแบบไหน แค่เราปรับวิธีการขาย ให้ตรงกับสไตล์ของลูกค้า เท่านี้เราก็เงินจากกระเป๋าลูกค้าแล้ว  

 

ตั้งแต่นั้นมา เราจำทฤษฎีนี้ของเจ้านายมาใช้ตลอด อัตลักษณ์โต๊ะทำงานของเราเป็นอย่างไรนั่นแล้วแต่ว่าจะเลือกโต๊ะแบบไหนจะจัด หรือปรับการใช้สอยโต๊ะอย่างไร อัตลักษณ์เราใช่ว่าจะคงที่ ไม่เชื่อก็ไปส่องดูคลีนิกที่เกาหลี (ฮา)

 

อัตลักษณ์สำคัญในยุคปกติใหม่ ทั้งสาย Hard Skill และ Soft Skill จะอย่างไรก็หนีไม่พ้น “บัญญัติสิบศักยภาพ” ที่ผมจะประกาศต่อไปนี้ คือ 1.แตกต่าง 2.ยืดหยุ่น 3. เข้าถึง 4.โดนใจ 5. ขึงใย 6.ใฝ่รู้ 7.อยู่เป็น 8.เล่นเทค 9.เอกสื่อ 10.ถือธรรม

 

อย่าลืมการแซวในวงหมากรุกที่พูดกันมานาน ว่า “เก่งไม่กลัว กลัวช้า” ไทยเราพูดเอาฮาแต่นานาชาติเขาเอาจริง!