โควิดหนุนธุรกิจขนส่งพัสดุแข่งขันเดือด ผู้บริโภคได้อานิสงส์ราคาลดลง

24 ธ.ค. 2564 | 07:18 น.

ชลากร ภู่เจริญ นักวิเคราะห์ธุรกิจ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) เขียนบทความเรื่อง ตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุ : การแข่งขันที่ดุเดือดภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ตอนที่ 2 ระบุการแข่งขันที่รุนแรงทำให้ค่าบริการขนส่งพัสดุลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

ชลากร  ภู่เจริญ

 

เมื่อมองธุรกิจขนส่งพัสดุด้วยมุมมองทางเศรษฐศาสตร์แล้ว อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด (Barrier to entry) ดูเหมือนจะตํ่าเหลือเกิน เนื่องจากในแง่ของกฎระเบียบภาครัฐ กรณีของประเทศไทยนั้นไม่ได้มีกฎระเบียบ ที่กำกับการประกอบธุรกิจขนส่งพัสดุที่เป็นอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดหรือการขยายธุรกิจโดยตรง (มีเพียงการจดทะเบียนใช้รถสำหรับการขนส่งพัสดุกับกรมขนส่งทางบกเป็นการเฉพาะเท่านั้น) อย่างไรก็ตาม ในแง่ต้นทุนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจขนส่งพัสดุ ก็ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นหน้าใหม่เช่นกัน เนื่องจากในการสร้างธุรกิจขนส่งพัสดุนั้น ก็ต้องมีระบบที่จำเป็น 2 ประการประกอบกัน ได้แก่

 

โควิดหนุนธุรกิจขนส่งพัสดุแข่งขันเดือด ผู้บริโภคได้อานิสงส์ราคาลดลง

 

1.ระบบเครือข่ายขนส่งทางกายภาพ คือ ระบบขนส่งพัสดุที่ใช้ยานพาหนะในการนำส่ง เช่น รถบรรทุก รถกระบะตู้ทึบ รถมอเตอร์ไซค์เป็นต้น เพื่อนำส่งพัสดุที่ได้รับจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง

 

2.ระบบเครือข่ายขนส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ คือ แพลตฟอร์มทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านที่จะช่วยอำนวยความสะดวกของระบบเครือข่ายขนส่งเชิงกายภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นระบบจองและผลิตเลขพัสดุ ระบบติดตามกระบวนการขนส่ง ตลอดจนระบบคัดแยกหลังบ้านสำหรับศูนย์คัดแยก/กระจายพัสดุ เป็นต้น

 

โควิดหนุนธุรกิจขนส่งพัสดุแข่งขันเดือด ผู้บริโภคได้อานิสงส์ราคาลดลง

 

ผู้ประกอบธุรกิจที่อยากประสบความสำเร็จในตลาดขนส่งพัสดุก็ต้องมีทุนหนาพอสมควร ซึ่งถือเป็นอุปสรรคหนึ่งในการเข้าสู่ตลาด เนื่องจากจำเป็นที่ต้องใช้เงินลงทุนในการประกอบธุรกิจสูงมาก เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจขนส่งพัสดุในแบบที่ครอบคลุมทั้งประเทศ ในการทำให้เกิดเครือข่ายการกระจายสินค้า ที่ครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ตามความต้องการของลูกค้า กล่าวคือ หากต้องการให้บริการแบบไร้ข้อกังวลเรื่องพื้นที่บริการ ก็ต้องลงทุนให้ธุรกิจกระจายไปทั่วทั้งประเทศนั่นเอง โดยบริษัทมักจะใช้วิธีการลงทุนด้วยตนเอง (Asset-heavy) ซึ่งจะควบคุมการดำเนินงาน การบริการ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้ดี แต่ระยะเวลาคืนทุนยาวนานมาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายจากการลงทุนสูง และต้องอาศัยการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายโครงสร้าง

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจก็อาจมีแผนธุรกิจในการกระจายความเสี่ยงโดยการหาผู้ที่สนใจมาร่วมลงทุนในธุรกิจนี้ด้วย เช่น การระดมทุน การเปิดระบบแฟรนไชส์ เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะมีแผนธุรกิจเป็นอย่างไร ก็นับเป็นต้นทุนคงที่จำนวนมหาศาลที่ผู้ประกอบธุรกิจที่ลงทุนต้องแบกรับ และเมื่อเข้าสู่ตลาดด้วยเงินลงทุนมหาศาลแบบนี้แล้ว ครั้นเมื่อถึงคราวขาดทุนแล้วอยากจะออกจากตลาดในเวลาอันรวดเร็วขึ้นมา ถึงเวลานั้นก็คงทำได้ยาก

 

โควิดหนุนธุรกิจขนส่งพัสดุแข่งขันเดือด ผู้บริโภคได้อานิสงส์ราคาลดลง

 

หัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งของธุรกิจนี้คือ การทำให้เกิดการประหยัดจากขนาดให้เร็วที่สุด จากการรับปริมาณพัสดุจำนวนมาก เพื่อให้ต้นทุนขนส่งต่อเที่ยวลดลงไปสู่จุดคุ้มทุนทางธุรกิจ จากการที่ผู้ประกอบธุรกิจมีต้นทุนคงที่จำนวนมหาศาล ขณะที่รายได้จากการกำหนดอัตราค่าบริการขนส่งก็อาจไม่ได้เติบโตมากนัก ยิ่งไปกว่านั้น อัตราค่าบริการก็ต้องลดลงเพื่อให้แข่งขันกับรายอื่นได้อีก เนื่องจากมีผู้เล่นหน้าใหม่จำนวนมากเข้าสู่ตลาด ทำให้การแข่งขันด้านราคามีความเข้มข้นมากขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจพยายามเสนอให้บริการด้วยราคาที่ตํ่ากว่าคู่แข่ง ทำให้อัตราค่าบริการขนส่งลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากรายงานศึกษาธุรกิจขนส่งพัสดุของ EIC ที่สำรวจอัตราค่าบริการขนส่งพัสดุก็พบว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงมาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นปี 2562 เป็นต้นมา ก็มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าอัตราค่าบริการจะลดลงไปอีกอย่างน้อยประมาณ 18%

 

ความหวังของผู้ประกอบธุรกิจที่อยากจะตั้งราคาค่าบริการให้สูงกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ดูเหมือนจะริบหรี่ เพราะการตั้งค่าบริการที่ตํ่ากว่าคู่แข่งรายอื่น ก็ดูจะจูงใจผู้บริโภคให้หันไปใช้บริการได้ไม่ยาก ทำให้การแข่งขันบนพื้นฐานของคุณภาพการให้บริการดูจะเป็นเรื่องรองไปในทันที ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจบางรายก็อาจชดเชยภาวะขาดทุนของบริษัทด้วยการกระจายความเสี่ยงไปทำธุรกิจอื่นประกอบกันด้วย หรือบางรายที่มีสายป่านที่ยาวกว่าก็อาจใช้วิธีการระดมทุน หรือแม้แต่ Kerry เองก็ยอมรับในรายงานบริษัท ประจำไตรมาส 2/2564 ว่า “…KEX ประสบความสำเร็จด้วยกลยุทธ์ด้านราคาเชิงรุก ทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าประเภทการขนส่งราคาประหยัด... ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2564 มีปริมาณการจัดส่งพัสดุที่เติบโตอย่างโดดเด่นและรายงานผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจ...” โดยสรุปแล้วเกมทุบราคาขนส่งพัสดุแบบนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะสงบลง

 

ในสภาวะที่ตลาดมีคู่แข่งเต็มไปหมด การใช้วิธีการตัดราคากันเองจึงเป็นกลยุทธ์หลักเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการของตน เพื่อให้ได้มาซึ่งปริมาณขนส่งพัสดุจำนวนมาก ในมุมหนึ่ง ผู้บริโภคได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากราคาค่าบริการถูกๆ แน่นอน แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง คู่แข่งที่เงินทุนไม่มากพอหรือสายป่านไม่ยาวพอ ก็อาจสู้เกมตัดราคาแบบนี้ไม่ไหว ทำให้ขาดทุนและอาจเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องออกจากตลาดไปในที่สุด เมื่อระดับการแข่งขันในตลาดขนส่งพัสดุน้อยพอ ถึงเวลานั้นผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่รอดอาจกลับมาตั้งราคาค่าบริการสูงขึ้นในภายหลังก็ได้

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3742 วันที่ 23-25 ธันวาคม 2564