เมื่อการแข่งขัน Food Delivery Services เบ่งบาน ต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรม

19 ก.ย. 2564 | 05:25 น.

นางสาวปิยาพัชร ทับอินทร์ หัวหน้ากลุ่มแสวงหาข้อเท็จจริง 2 ฝ่ายแสวงหาข้อเท็จจริงทั่วไปสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เขียนบทความเรื่อง “การแข่งขัน Food Delivery Services เบ่งบาน” ต้องมีการกำกับดูแลให้เกิดความสมดุล

 

ปิยาพัชร  ทับอินทร์

 

ธุรกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาแห่งวิกฤตินี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มรับและส่งอาหาร” เป็นหนึ่งธุรกิจที่เบ่งบานอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยลักษณะของธุรกิจที่ตอบสนองต่อสถานการณ์และพฤติกรรมของทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งจะเห็นได้ว่าในธุรกิจดังกล่าวมีผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่เกิดขึ้นในตลาดเป็นจำนวนมาก อันเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นในเบื้องต้นว่าตลาดมีการแข่งขันที่ “เบ่งบาน” ซึ่งแน่นอนว่าประโยชน์จากการแข่งขันดังกล่าวจะส่งผลโดยตรงต่อผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารและผู้บริโภคในที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม แม้การแข่งขันของตลาดธุรกิจบริการแพลตฟอร์มรับและส่งอาหาร (Food Delivery Services) จะเติบโตและมีการแข่งขันที่เบ่งบาน แต่เมื่อพิจารณาห่วงโซ่ความสัมพันธ์ในการพึงพากันในการดำเนินธุรกิจแล้วจะพบว่าธุรกิจดังกล่าวมีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร รวมไปถึงผู้บริโภค

 

ดังนั้น ในสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปราะบางเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแนวทางในการกำกับดูแลให้ภาวะการแข่งขันที่เบ่งบานเกิดความสมดุล และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กทั้งที่เป็นคู่แข่งและคู่ค้าสามารถอยู่ในตลาดได้โดยไม่ถูกเอาเปรียบและไม่ต้องออกจากตลาด

 

เมื่อการแข่งขัน Food Delivery Services เบ่งบาน ต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรม

 

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จึงได้พิจารณาออก “ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารกับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาพฤติกรรมทางการค้าที่อาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 โดยประกาศฯ ได้กำหนดแนวทางการพิจารณาพฤติกรรมทางการค้าที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารแบ่งออกเป็น 4 พฤติกรรมหลักดังนี้

 

 1.การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะต้องเป็น การเรียกเก็บในอัตราที่มีเหตุผลอันสมควรสามารถรับฟังได้ในทางธุรกิจ เศรษฐศาสตร์หรือ การตลาดว่าเพราะเหตุใดจึงต้องเรียกเก็บในอัตราดังกล่าว และจะต้องเป็นการเรียกเก็บในอัตราที่ไม่แตกต่างกัน ในกรณีที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่จำหน่ายสินค้าประเภทเดียว กันโดยพิจารณาจากปริมาณ มูลค่าการจำหน่าย ต้นทุนการจำหน่ายจำนวนสาขาและคุณภาพนอกจากนี้จะต้องไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนรวมถึงผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เคยมีการเรียกเก็บมาก่อนโดยไม่มีเหตุผลด้วย

 

เมื่อการแข่งขัน Food Delivery Services เบ่งบาน ต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรม

 

2.การกำหนดเงื่อนไขทางการค้าที่เป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม แม้สัญญาจะเป็นเรื่องราวของผู้ประกอบธุรกิจทั้ง 2 ฝ่ายที่จะสามารถตกลงเจรจากันได้ภายใต้หลักเจตนาหรือหลักสุจริตในการเข้าทำสัญญา แต่เมื่อต้องพิจารณาในประเด็นด้านการแข่งขันทางการค้าประกอบด้วยแล้วคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องไม่ลืมว่าการกำหนดเงื่อนไขใดๆ ในสัญญานั้น จะต้องไม่เป็นข้อจำกัดด้านการแข่งขันทางการค้า กล่าวคือ จะต้องไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ ที่ทำให้คู่แข่งในตลาดหรือคู่ค้าภายใต้สัญญาถูกเอาเปรียบหรือได้รับผลกระทบด้านการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

 

3.การใช้อำนาจตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายที่เป็นผู้กำหนดเงื่อนไขในสัญญาจะละเลยในการกำหนดเงื่อนไขภายใต้สัญญาไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงการกำหนดราคาของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร การกำหนดเงื่อนไขบังคับด้านราคาให้จำหน่ายอาหารชนิดเดียวกันในราคาเท่ากันในทุกช่องทางการจำหน่าย โดยไม่มีทางเลือกด้านราคา (Rate Parity Clause) การจ่ายค่าสินค้าล่าช้าไม่ตรงตามระยะเวลาที่กำหนด (Credit Term) การยกเลิกสัญญา เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารปฏิเสธที่จะทำตามที่คำขอของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม หรือกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารร้องเรียนพฤติกรรม ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่อหน่วยงานรัฐ การยกเลิกผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารออกจากช่องทางการจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขภายใต้สัญญา ระยะเวลาของสัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและไม่มีการแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน

 

  เมื่อการแข่งขัน Food Delivery Services เบ่งบาน ต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรม

 

4.การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมอื่น ๆ กล่าวคือเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายไม่ว่าจะเป็นการบังคับหรือกำหนดเงื่อนไขพิเศษที่เป็นการจำกัด หรือกีดกันการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจอื่น

 

จะเห็นได้ว่าการกำหนดแนวพิจารณาดังกล่าวของ กขค. เป็นการวางกรอบแนวทางในการกำกับดูแลธุรกิจที่เริ่มเบ่งบานให้มีการแข่งขันที่เบ่งบานอย่างเป็นธรรมรักษาสมดุลของการเบ่งบานในตลาดให้เอื้อต่อผู้ประกอบธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งแนวการพิจารณาดังกล่าวเป็นเสมือนเครื่องมือในการป้องกัน“ภาวะแวดล้อมของการแข่งขัน” (Competitive Environment) ของตลาดในระยะยาว ไม่ให้เกิดเป็นการแข่งขันที่นำมาซึ่ง “ภาวะความล้มเหลวของตลาด” (Market Failure) ในท้ายที่สุด

 

 หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3715 วันที่  19-22 กันยายน 2564