การรวมธุรกิจตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า

06 ต.ค. 2564 | 08:06 น.

ชลากร ภู่เจริญ นักวิเคราะห์ธุรกิจสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เขียนบทความเรื่องการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าเชิงโครงสร้าง (ตอนที่ 2) ระบุถึงการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีอำนาจเหนือตลาดต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง

ชลากร  ภู่เจริญ

 

ในการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ถือเป็นภารกิจสำคัญของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในการควบคุมโครงสร้างตลาดของไทย ภายใต้บทบัญญัติตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มี สาระสำคัญได้แก่ การรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อ กขค. ภายใน 7 วันนับแต่วันที่รวมธุรกิจ และการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาด หรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ต้องได้รับอนุญาตจาก กขค. ก่อนดำเนินการรวมธุรกิจ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ การรวมธุรกิจ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1. หากเป็นการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อ กขค. ภายใน 7 วันนับแต่วันที่รวมธุรกิจซึ่งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ พิจารณาจากการรวมธุรกิจที่ผู้ประกอบธุรกิจมียอดเงินขายเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และไม่เป็นผู้ผูกขาดหรือผู้มีอำนาจเหนือตลาด เช่นนี้ ผู้รวมธุรกิจต้องดำเนินการแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อ กขค. ภายใน 7 วันนับแต่วันที่รวมธุรกิจ

 

 

การรวมธุรกิจตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า

2.หากเป็นการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาด หรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ต้องขออนุญาตรวมธุรกิจจาก กขค. ก่อนดำเนินการรวมธุรกิจ ซึ่งมีองค์ประกอบที่ต้องพิจารณา 2 ส่วน ได้แก่ 1) ผู้ผูกขาดตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และ 2) ผู้มีอำนาจเหนือตลาด หากเข้าข่ายกรณีเป็นผู้ผูกขาดหรือผู้มีอำนาจเหนือตลาด จะต้องยื่นคำขออนุญาตรวมธุรกิจจาก กขค. ก่อนดำเนินการทุกกรณี โดยต้องยื่นคำขออนุญาตรวมธุรกิจ พร้อมชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการรวมธุรกิจ รวมถึงผลการวิเคราะห์ผลกระทบจากการรวมธุรกิจ เพื่อให้ กขค. ประกอบการพิจารณาด้วย

 

3.หากเป็นการรวมธุรกิจที่ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าข้างต้น จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการใด ๆ ซึ่งต้องพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ เช่น การไม่เข้าข่ายลักษณะที่ต้องขออนุญาตรวมธุรกิจ หรือต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจภายใน 7 วันรวมถึงการได้รับการยกเว้นจากการเป็นธุรกิจที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเฉพาะ หรือการรวมธุรกิจเพื่อปรับโครงสร้างภายใน เป็นต้น

 

กรณีผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ยื่นคำขออนุญาตรวมธุรกิจตามมาตรา 51 วรรคสองต่อ กขค. นั้น กฎหมายกำหนดให้ กขค. ต้องพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจ โดยใช้ปัจจัยการพิจารณาตามมาตรา 52 วรรคสอง ดังนี้

1.ความจำเป็นตามควรทางธุรกิจ และประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ 2. การไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง และ 3. การไม่กระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม

 

แนวทางการตัดสินของ กขค.

เมื่อ กขค. ได้พิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจตามปัจจัยการพิจารณาที่กฎหมายกำหนดแล้ว อาจมีคำสั่งในคำขอดังกล่าวได้เป็น 3 แนวทาง ได้แก่ การอนุญาตให้รวมธุรกิจโดยไม่มีเงื่อนไข การอนุญาตให้รวมธุรกิจโดยมีการกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขประกอบ และการไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจ ดังนี้

 

1.การอนุญาตให้รวมธุรกิจโดยไม่มีเงื่อนไข ในกรณีที่ กขค. พิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจแล้วเห็นว่า การรวมธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจที่ยื่นคำขอนั้น ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้าเป็นสาระสำคัญ กขค. จะมีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจได้โดยไม่มีเงื่อนไขประกอบ

 

2.การอนุญาตให้รวมธุรกิจโดยมีการกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขประกอบ ในกรณีที่ กขค. พิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจแล้วเห็นว่า การรวมธุรกิจดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งอาจแก้ไขได้ด้วยการกำหนดมาตรการเยียวยาสภาพการแข่งขันให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจ เพื่อให้ระดับการแข่งขันกลับไปสู่ระดับเดิมหรือเทียบเท่าก่อนการรวมธุรกิจ

 

ทั้งนี้ มาตรการเยียวยาข้างต้น สามารถจำแนกได้เช่น การบังคับขายกิจการบางส่วนออกไปให้บุคคลที่สาม การห้ามขยายกิจการหลังรวมธุรกิจ การกำหนดเงื่อนไขของสัญญาการค้า การกำหนดให้เปิดเผยสาระสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา การกำหนดเพดานราคาสินค้าหรือบริการภายหลังการรวมธุรกิจ เป็นต้น

 

3.การไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจ ในกรณีที่ กขค. พิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจแล้วเห็นว่า การรวมธุรกิจดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้าเป็นสาระสำคัญ และร้ายแรงเกินกว่าที่จะกำหนดเงื่อนไขใดๆ ในการเยียวยาสภาพการแข่งขันให้กลับมาคงเดิมได้ กขค. จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจ

 

ความรับผิดจากการฝ่าฝืนกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่รวมธุรกิจแล้วมีภาระหน้าที่ซึ่งผูกพันให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามกฎหมายแต่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ดำเนินการดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมีโทษปรับทางปกครองดังนี้

1.การฝ่าฝืนในการไม่แจ้งผลการรวมธุรกิจต่อ กขค. ภายใน 7 วัน จะมีความผิดตามมาตรา 81 ซึ่งต้องชำระค่าปรับทางปกครอง ในอัตราไม่เกิน 200,000 บาท และปรับอีกในอัตราไม่เกิน 10,000 บาท/วัน

 

2.การฝ่าฝืนในการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาด หรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งอาจเป็นการรวมธุรกิจโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก กขค. ก่อนดำเนินการ หรือการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กขค. กำหนดในคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ จะมีความผิดตามมาตรา 80 ซึ่งต้องชำระค่าปรับทางปกครอง ในอัตราไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3719 วันที่ 3-6 ตุลาคม 2564