เมื่อจีนจัดโอลิมปิกสีเขียว ครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก (1)

21 ตุลาคม 2564

เมื่อจีนจัดโอลิมปิกสีเขียว ครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3724 ระหว่างวันที่ 21-23 ต.ค.2564

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเล่าสถานการณ์วิกฤติพลังงานของจีนเอาไว้ และวิเคราะห์ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความพยายามในการปรับโครงสร้างการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสีเขียวของจีน พร้อมประเมินว่าสถานการณ์จะดำรงอยู่ไปจนจบฤดูหนาวของจีนเป็นอย่างน้อย ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาสำคัญของการฉลองตรุษจีน และการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 (Beijing 2022) ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้เอาไว้ด้วย ...

 

วันนี้ผมอยากขยายประเด็นพลังงานสีเขียวไปยังเรื่องกีฬา จีนในยุคใหม่มัก “คิดใหญ่ ทำใหญ่ อย่างสร้างสรรค์” ผมคิดว่า จีนไม่เพียงต้องการเป็นเจ้าภาพการจัดงานและครองตำแหน่งแชมป์เหรียญทองเท่านั้น แต่ยังเตรียมสร้างสรรค์ใช้ Beijing 2022 เป็นเวทีสำคัญในการทำประโยชน์ในหลายส่วน อาทิ การเปิดตัวเงินดิจิตัลหยวน และการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศและสินค้าจีนในสายตาของชาวโลก

 

การเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ยังจะทำให้กรุงปักกิ่งจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน และโอลิมปิกฤดูหนาวในเมืองเดียวกันได้เป็นแห่งแรกในโลก ขณะที่ สี จิ้นผิง ก็ยังอยู่ในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเตรียมจัดงานโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 และโอลิมปิกฤดูหนาว 2020 ดังกล่าว

 

ไฮไลต์สำคัญก็คือ จีนต้องการจะยกระดับ Beijing 2022 ให้มีความพิเศษสุดที่มากกว่าเพียงการแข่งขันกีฬา โดยวางแผนจะให้เป็นการจัดงาน “โอลิมปิกสีเขียว” (Green Olympics) ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

 

ท่านผู้อ่านอาจทราบว่า เมื่อราว 2 ปีก่อน ผู้นำจีนได้ประกาศเป้าหมายว่า ปี 2030 จะเป็นปีที่จีนใช้พลังงานฟอสซิลและปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด และกำหนดวิสัยทัศน์แผนแม่บทในการบรรลุความเป็นกลางด้านคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2060

 

Beijing 2022 จึงเหมาะเป็นงานใหญ่ที่จีนต้องการแสดงให้โลกเห็นถึงความเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ดังจะเห็นได้ว่า สี จิ้นผิงได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการจัด “โอลิมปิกสีเขียว” เป็นอย่างมาก โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผู้นำจีนได้เดินทางไปสำรวจความคืบหน้าของการเตรียมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามแข่งขันและศูนย์ฝึกซ้อมทั้ง 3 แห่ง อันได้แก่ พื้นที่ใจกลางกรุงปักกิ่ง พื้นที่เขตเหยียนชิ่ง (Yanqing) ซึ่งอยู่ห่างจากใจกลางกรุงปักกิ่งไปทางด้านซีกตะวันตกเฉียงเหนือราว 70 กิโลเมตร และพื้นที่เมืองจางเจียโค่ว (Zhangjiakou) มณฑลเหอเป่ย ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางด้านซีกตะวันตกเป็นระยะทางกว่า 160 กิโลเมตร

 

ในภาพใหญ่ สี จิ้นผิง ได้ตอกย้ำว่า จีนจะจัดงานโอลิมปิกฯ ภายใต้ “ท้องฟ้าที่สดใส” (Blue Sky) ขณะที่หลี่ เซิน อธิบดีกรมการวางแผนของ Beijing 2022 ให้สัมภาษณ์ว่า “ความพยายามของพวกเราก็คือการทำให้โอลิมปิกในครั้งนี้บรรลุความเป็นกลางด้านคาร์บอน”

 

ว่าง่าย ๆ จีนต้องการให้ Beijing 2022 เป็นตัวอย่างของการลดการใช้แหล่งพลังงานฟอสซิล และการปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ รวมทั้งการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสอดคล้องกับกับนโยบายหลักด้านพลังงานและสิ่งแสดล้อมของจีนในระยะยาว

 

แต่คำถามที่ตามมาคือ มีอะไรบ้างที่จะเป็นตัวกำหนดการริเริ่ม “โอลิมปิกสีเขียว” ดังกล่าวที่จับต้องและบอกให้ชาวโลกได้รับรู้ได้อย่างแท้จริง

 

ส่วนแรก สนามแข่งขันสีเขียว คณะกรรมการจัดงานฯ ได้ออกแบบให้สนามแข่งขันทั้ง 26 แห่งใช้พลังงานสีเขียว 100% และเพื่อให้ฝันดังกล่าวเกิดขึ้นจริง รัฐบาลจีนได้ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง

 

กิจการไฟฟ้าสีเขียวชั้นนำของรัฐ อาทิ หัวเตี้ยน (Huadian) และจิ้งเหนิง (Jingneng) รวมทั้งการไฟฟ้าปักกิ่ง ได้ลงนามในความตกลงติดตั้งพลังงานสีเขียวกับสนามแข่งขันภายใต้การดำเนินโครงการ “Smart Grid Planning for Low-Carbon Olympics” เพื่อผลิต ส่ง และกระจายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวผ่านโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะใน 3 พื้นที่หลักที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้

 

ผลจากความตกลงดังกล่าวได้นำไปสู่การดำเนินโครงการพลังงานสีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก่อสร้างโครงข่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่มีความยืดหยุ่นระหว่างปักกิ่งและจางเจียโค่ว ซึ่งช่วยให้สามารถส่งผ่านกระแสไฟฟ้าที่ใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในจางเจียโค่วไปยังสนามกีฬาและศูนย์ฝึกซ้อมในปักกิ่งได้

 

Shougang Ski Jumping Platform ซึ่งจะใช้ในการแข่งขันสโนว์บอร์ด และสกีฟรีสไตล์ คาดว่าจะใช้กระแสไฟฟ้าราว 100,000 กิโลวัตต์ในระหว่างการแข่งขันฯ ซึ่งเท่ากับการใช้กระแสไฟฟ้าของ 500 ครอบครัวเป็นเวลาหนึ่งเดือน กระแสไฟฟ้าเหล่านี้จะมาจากพลังงานสะอาดและที่นำกลับมาใช้ใหม่

 

หลังการจัดงานสิ้นสุดลง โครงข่ายดังกล่าวยังจะซัพพลายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวได้อย่างยั่งยืน โดยสามารถป้อนกระแสไฟฟ้าคิดเป็นถึง 10% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าของปักกิ่ง และช่วยลดการใช้ถ่านหินได้ 7.8 ล้านตัน และลดการปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ 2,040 ตันต่อปี

 

นอกจากนี้ จีนยังนำเอานวัตกรรมสารทำความเย็นจากคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เพื่อทำน้ำแข็ง ซึ่งเป็นสารทำความเย็นที่มีสารพิษต่ำสุดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเกือบเป็นศูนย์ ซึ่งแตกต่างจากเครื่องทำน้ำแข็งรุ่นเดิมที่ใช้ก๊าซฟรีออนเป็นสารทำความเย็น

 

เทคโนโลยีใหม่ดังกล่าวจะถูกใช้ในสนามแข่งขันและศูนย์ฝึกซ้อมจำนวน 4 แห่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องทำความเย็นได้เป็นจำนวนมาก เฉพาะสนามแข่งขัน National Speed Skating Oval ก็เพิ่มได้ถึง 20% และประหยัดกระแสไฟฟ้าได้ 2 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี