รถไฟพยาบาลยุคใหม่ของจีน

28 พ.ค. 2564 | 22:30 น.

รถไฟพยาบาลยุคใหม่ของจีน : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,683 หน้า 5 วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2564

เมื่อหลายวันก่อน มีท่านผู้อ่านส่งภาพถ่ายพร้อมคำอธิบายเบื้องต้นเกี่ยวกับรถไฟพยาบาลรุ่นใหม่ของจีนมาให้ และสนใจอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ผมได้รับปากไว้ และวันนี้ผมได้จังหวะโอกาสเลยขอรวบรวมข้อมูลมาให้อ่านกันครับ...

รถไฟโรงพยาบาลถือเป็นหนึ่งนวัตกรรมทางความคิดที่โลกรังสรรค์ขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยคนรุ่นใหม่ได้ผสมคำใหม่เพื่อความสะดวกและเก๋ไก๋ว่า “Hospitrain” (Hospital+Train) ซึ่งเข้ากับกระแสในยุคโควิด-19 ที่มีคำว่า “Hospitel” (Hospital+Hotel)  

หากพิจารณาจากยุคหลังสงคราม โลกเป็นต้นมา อินเดียถือเป็นชาติแรกที่คิดค้นรถไฟพยาบาล ในฐานะประเทศที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก อินเดียประสบปัญหาด้านการสาธารณสุขค่อนข้างมาก เพราะสถานพยาบาลส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมือง และการเดินทางในชนบทและพื้นที่ห่างไกลความเจริญเต็มไปด้วยความยากลำบากและใช้เวลานาน

โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อมูลนิธิอิมแพ็กอินเดีย (Impact India Foundation) ได้ร่วมมือกับการรถไฟอินเดีย และกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัว พัฒนาโรงพยาบาลรถไฟในชื่อว่า “Lifeline Express” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1991 หรือราว 30  ปีที่แล้ว

ในระยะแรก Lifeline Express มีอยู่เพียง 3 โบกี้ โดยให้บริการวินิจฉัยโรค และรักษาแก่ผู้พิการที่เป็นโรคโปลิโอเป็นสำคัญ โดยมีลักษณะพิเศษที่การให้บริการด้านสุขอนามัยแก่คนไข้ในพื้นที่ห่างไกลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ดี หลายปีต่อมาสถาน การณ์โรคโปลิโอในอินเดียดีขึ้น และได้รับการรับรองว่าอินเดียปลอดโรคนี้เมื่อปี 2014 รถไฟพยาบาลจึงได้ถูกเปลี่ยนไปรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหูคอจมูก อาทิ ต้อกระจก ปากแหว่ง และปัญหาการฟัง

ขณะเดียวกัน “Lifeline Express India” ก็ได้รับการปรับปรุงมาโดยลำดับ อาทิ การเพิ่มจำนวนเป็น 8 โบกี้ การกำหนดจุดจอดแห่งละ 21 วัน และการเพิ่มจำนวนโรคที่ให้บริการรักษา อาทิ การตรวจและวินิจฉัยโรคลมบ้าหมู และมะเร็ง

ในกรณีที่ต้องการรักษาต่อเนื่องในระยะยาว ทีมแพทย์ก็จะส่งคนไข้ต่อให้สถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ใกล้เคียง และติดตามความคืบหน้าในการรักษาอีกราว 3 เดือนเพื่อให้มั่นใจว่าการรักษาเป็นไปอย่างถูกต้อง

แอฟริกาใต้ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีบริการรถไฟพยาบาล โดยให้บริการตรวจและรักษาโรคทั่วไป ตา และฟัน ปีหนึ่งจะเคลื่อนย้ายไปพื้นที่ในชนบท 70 แห่ง ขณะที่รัสเซียก็มีรถไฟพยาบาล 2 ขบวนวิ่งให้บริการคนใน ท้องถิ่นราว 10 เดือนต่อปีในระยะแรก และเพิ่มเป็น 5 ขบวนนับแต่ปี 2010

นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม 2020 การรถไฟฝรั่งเศสยังได้ริเริ่มใช้รถไฟความ เร็วสูงจำนวน 5 โบกี้เพื่อการรักษาพยาบาลและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ไปยังโรงพยาบาลเป้าหมายอีกด้วย

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ โครง การรถไฟพยาบาลเหล่านี้ริเริ่มดำเนินการโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรและกิจการเอกชนทั้งสิ้น เพื่อเสริมบริการด้านการสาธารณสุขของภาครัฐอีกทางหนึ่ง

ในกรณีของจีน รถไฟพยาบาลเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่คนจีนเมื่อสหราชอาณาจักรมอบของขวัญชิ้นใหญ่ให้รัฐบาลจีนผ่านไปยัง 31 มณฑล มหานคร และเขตปกครองตนเองของจีนในโอกาสส่งมอบคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปี 1997 

โดยแฝงไว้ซึ่งความหมายเชิงลึกว่า เรื่องสุขภาพถือเป็นเรื่องใหญ่ และโรงพยาบาลที่เคลื่อนที่ได้จะเป็นประโยชน์แก่การรักษาพยาบาลในพื้นที่อื่นๆ ของจีน

“Lifeline Express China” ถูกพ่นสีเป็นสายรุ้ง และเนื่องจากรถไฟพยาบาลคันแรกถูกออกแบบเพื่อการรักษาต้อกระจกเป็นการเฉพาะ ทำให้ถูกขนานนามว่าเป็น “รถไฟตา” (Eye Train)

ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิ China Lifeline Express จีนก็อนุญาตให้โรงพยาบาลรถไฟออกไปบริการประชาชนในทันทีหลังการรับมอบ โดยคนไข้สามารถใช้บริการผ่าตัดต้อกระจกได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งได้กระแสตอบรับอย่างดียิ่ง

 

ด้วยปัญหาการขาดแคลนโครง สร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการสาธารณสุขที่คล้ายคลึงกับอินเดีย และประเทศอื่นๆ ในช่วงปี 1999-2009 รัฐบาลจีนได้เพิ่มจำนวนรถไฟพยาบาลอีก 3 ขบวน โดยแต่ละขบวนมี 4 โบกี้ และจำนวน 2 ในนั้น ถูกจัดสรรเป็นห้องผ่าตัด ที่เหลือเป็นห้องพัก และอื่นๆ โดยมีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นขบวนละ 12 คน

และต่อมาได้กำหนดเส้นทางและช่วงเวลาเข้าไปบริการใน 3 พื้นที่หลักต่อปี จุดละ 3 เดือน โดยให้บริการผ่าตัดเฉลี่ยประมาณ 10,000 เคสต่อปี แต่ก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคนไข้ที่ต้องการรับบริการ ซึ่งมีอยู่ถึง 5 ล้านคน และเพิ่มขึ้นปีละ 10% 

 

รถไฟพยาบาลยุคใหม่ของจีน

 

คนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบทที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ด้วยสาเหตุหลายประการ นอกจากนี้ รถไฟพยาบาลของจีนยังได้ขยายไปให้บริการแก่คนไข้โรคเบาหวานนับแต่ปี 2014

เพื่อให้สามารถบริการได้กว้างขวางมากขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รัฐบาลจีนได้เดินหน้ากับการพัฒนาโครงการในหลายส่วน อาทิ ด้านบุคลากรทางการแพทย์ ขนาดพื้นที่ และประเภทโรค

จักษุแพทย์รุ่นใหม่ถูกฝึกสอนด้านการผ่าตัดต้อกระจกเพื่อให้บริการเคสพื้นฐาน ขณะเดียวกัน ด้วยข้อจำกัดของเครื่องมืออุปกรณ์ คนไข้ที่มีอาการสลับซับซ้อนจะถูกส่งต่อไปยังเครือข่ายศูนย์ดวงตาที่มีเกือบ 100 แห่งในเมืองรองทั่วจีน ศูนย์เหล่านี้ล้วนมีทีมแพทย์ที่มีความชำนาญและอุปกรณ์ที่ทันสมัย

และล่าสุด ทางการจีนได้เตรียมปล่อย “รถไฟพยาบาลซินเฉียว” (Xinqiao Hospital Train) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซินเฉียวกับมหาวิทยาลัยการแพทย์ของ กองทัพปลดปล่อยประชาชน  

โดยวางแผนจะเริ่มให้บริการครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2021 นี่ถือเป็น “รถไฟพยาบาลทหาร” ขบวนแรกที่ออกมาให้บริการประชาชนในจีน

 

สภาพภายในของรถไฟนี้เป็นเหมือนโรงพยาบาลขนาดย่อมที่แต่ละโบกี้ประกอบด้วยศูนย์สั่งการ พื้นที่ผู้ป่วย ผู้ป่วยหนัก ห้องผ่าตัดฉุกเฉิน และส่วนสนับสนุนด้านเทคนิค แถมยังมีระบบบริการรักษาทางไกลเพื่อให้บริการ “เทเลเมดดิซิน” ติดตั้งไว้อีกด้วย 

ขณะเดียวกัน ขนาดใหญ่สุดของรถไฟพยาบาลนี้มีถึง 19 โบกี้ สามารถ รองรับผู้ป่วยพร้อมกันได้ถึง 500 คน เดินทางด้วยความเร็วในวงกว้าง พร้อมพรั่งไปด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และมีความสามารถในการรักษาพยาบาลที่ดีเยี่ยม

รถไฟพยาบาลนี้ยังถูกออกแบบเพื่อไว้ใช้ในยามที่ประสบกับอุบัติภัย เช่น แผ่นดินไหว นํ้าท่วม และเหตุการณ์ผิดปกติที่กระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมาก จึงคาดว่าจะมีประโยชน์อย่างมากในพื้นที่ที่เกิดสงคราม 

นอกจากการรักษาพยาบาลแล้ว รถไฟพยาบาลนี้ยังถูกใช้เพื่อการฝึกอบรมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของจีนอีกด้วย  

ในชั้นต้น รัฐบาลได้จัดรถไฟ 2 ขบวนเพื่อการนี้ โดยมีจุดจอดหลักในด้านซีกตะวันออกของโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ซินเฉียวในฉงชิ่งมหานคร แห่งเดียวด้านซีกตะวันตกของจีน และเชื่อมต่อกับโครงข่ายเส้นทางรถไฟฉงชิ่ง-กุ้ยหยาง 

ด้วยโครงข่ายเส้นทางรถไฟที่กระจายตัวในเชิงภูมิศาสตร์ที่กว้างใหญ่ของจีน การขยายบริการรถไฟพยาบาลดังกล่าวก็จะสามารถขยายพื้นที่ไปในชุมชนที่ห่างไกลได้อีกมาก  

และหากรัฐบาลจีนเปิดกว้างทางความคิดในการให้บริการที่หลุดพ้นจากเส้นพรมแดน เราก็อาจได้เห็นรัฐบาลจีนส่งรถไฟพยาบาลนี้จัดส่งเวชภัณฑ์และบริการด้านการพยาบาลออกไปช่วยเหลือประเทศสมาชิกตามเส้นทางสายไหม หรืออาจขายระบบและเทคโนโลยีของรถไฟพยาบาลยุคใหม่ให้แก่ประเทศอื่นได้ในอนาคต

จีนกำลังต่อยอดทางความคิดของ “โรงพยาบาลรถไฟ” เพื่อให้บริการมนุษยชาติอย่างสร้างสรรค์ ... 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน