เส้นทางเงินหยวนดิจิทัล ปั้นดินให้เป็นดาว

28 ก.ค. 2564 | 23:30 น.

เส้นทางเงินหยวนดิจิทัล ปั้นดินให้เป็นดาว : คอลัมน์มังกรกระพือปีก ฐานเศรษฐิจ ฉบับ 3700 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 29-31  ก.ค.2564 โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หลังจากที่รัฐบาลจีนออกมากำราบการเก็งกำไรเงินคริปโต (Cryptocurrency) ในจีน ผู้คนจำนวนมากก็หันมาให้ความสนใจกับพัฒนาการของเงินหยวนดิจิทัลอีกครั้ง FC ของคอลัมน์นี้ส่วนหนึ่งก็สอบถามถึงสถานะล่าสุดของเงินหยวนดิจิทัลว่าไปถึงไหนแล้ว ชาวต่างชาติจะได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์นี้กันเมื่อใด เวทีการเงินระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ... 

 

ผมขอสรุปเส้นทางเดินของเงินหยวนดิจิทัลในช่วงแรกก่อนว่า แบงก์ชาติจีนเริ่มศึกษาเกี่ยวกับเงินดิจิทัล เมื่อปี 2014 และจัดตั้งสถาบันวิจัยเงินหยวนดิจิทัลในเกือบ 3 ปีต่อมา เพราะในขณะนั้น จีนสังเกตเห็นเอกชนของชาติตะวันตกเปิดตัวเงินดิจิทัลหลายสกุลในรูปของเงินคริปโต  

 

หลังจากที่ระดมผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันระดมสมอง สถาบันฯ ได้ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาเงินหยวนดิจิทัล ที่มีแบงก์ชาติแบ็กอัพเป็นชาติแรกในโลกเมื่อต้นปี 2020 และเริ่มโครงการนำร่องทดลองใช้เงินดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายนของปีเดียวกัน 

 

โดยแบงก์ชาติจีนได้เชื่อมต่อกับธนาคารเพื่อการเกษตรของจีน (Agricultural Bank of China) หากท่านผู้อ่านนึกย้อนกลับไป ก็น่าจะพอจำได้ว่าช่วงเวลานั้น จีนกำลังเผชิญกับวิกฤติและความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มข้น 

 

นับแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐบาลจีนก็เดินหน้าและปรับแผนการทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัล มาอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะแรก จีนกำหนดให้ 4 เมืองใน 4 ภูมิภาค อันได้แก่ เซินเจิ้น ทางตอนใต้ของจีน ซูโจว ซีกตะวันออกของจีน เฉิงตู ซีกตะวันตกของจีน และ สวงอัน ตอนเหนือของจีน โดยทดลองใช้ในบางธุรกรรมผ่านธนาคารพาณิชย์ของภาครัฐ 4 แห่ง และกิจการเอกชนเป็นกลุ่มธุรกิจแรกๆ ที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ หัวเหว่ย (Huawei) 

 

เพียงราว 3 เดือนต่อมา รัฐบาลจีนโดยกระทรวงพาณิชย์ก็ประกาศแผนงานระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2020 โดยขยายพื้นที่ทดลองไปยังหลายเมืองใหญ่ทั่วจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ 3 ระเบียงเศรษฐกิจสำคัญของจีน

 

อันได้แก่ พื้นที่สามเหลี่ยมจิงจินจี้ (กรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน และมณฑลเหอเป่ย) พื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง (นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู อันฮุย และเจ้อเจียง) และพื้นที่ปากแม่น้ำไข่มุก หรือที่เรียกในชื่อใหม่ว่า “เกรดเทอร์เบย์แอร์เรีย” (มณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า) 

 

นอกจากการขยายพื้นที่ในเชิงภูมิศาสตร์แล้ว แผนระยะที่ 2 ยังขยายโอกาสการใช้เงินหยวนดิจิทัลของคนจีน ผ่านการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ ร้านค้า และประเภทธุรกรรมได้หลากหลายมากขึ้น อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร และเครื่องดื่ม การเดินทาง และ การจับจ่ายใช้สอยทั่วไป  

 

การจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการให้พนักงานขององค์กรภาครัฐและเอกชนในรูปเงินหยวนดิจิทัล เป็นวิธีการหนึ่งที่ถูกเลือกใช้ โดยรัฐบาลจีนเลือกเอาคนที่มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานดีอยู่เป็นทุนเดิม เป็นกลุ่มเป้าหมายระยะแรก เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจกระทบกับโครงการโดยรวม  

 

เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ และพนักงานธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ และกิจการบิ๊กเทค อาทิ เจดี (JD) และ แอ๊นท์ไฟแนนเชียล (Ant Financial) ในหลายเมืองถือเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับโอกาสได้ทดลองใช้ก่อน รวมทั้งกลุ่มคนงานในโครงการปลูกป่าที่สวงอัน 

                           เส้นทางเงินหยวนดิจิทัล ปั้นดินให้เป็นดาว

จีนยังใช้หลายวิธีในการสร้างกระแสความสนใจในการใช้เงินหยวนดิจิทัล การแจกอี-อั่งเปาเป็นหนึ่งในวิธีการยอดนิยม นับแต่เดือนตุลาคม 2020 รัฐบาลจีนได้แจกเงินหยวนดิจิทัล เป็นขวัญถุงแก่ประชาชนมาเป็นระยะรวมกว่า 10 เมืองโดยผ่านระบบสุ่ม ตามสัดส่วนจำนวนประชากรของแต่ละเมือง  

 

ส่วนจำนวนเงินก็มากน้อยแตกต่างกันตามมาตรฐานการครองชีพของเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้โชคดีได้รับไม่เกิน 200 หยวนต่อคนต่อครั้ง รวมเม็ดเงินที่แจกไปแล้วกว่า 200 ล้านหยวน หรือราว 1,000 ล้านบาท  

 

หลายเมืองที่อยู่ในโครงการนำร่องระยะแรกก็อาจได้รับอี-อั่งเปามากกว่าเมืองอื่น ตัวอย่างเช่น เซินเจิ้นในมณฑลกวางตุ้ง และซูโจวในมณฑลเจียงซู ก็ได้รับโชคจากรัฐบาลจำนวน 3 ครั้งขึ้นไปแล้ว โดยยอดเงินหยวนดิจิทัล ที่แจกจ่ายแต่ละครั้งเฉลี่ยอยู่ที่ราว 20 ล้านหยวน  

 

ขณะที่อีกหลายเมืองก็ทยอยได้รับแจกอี-อั่งเปาจากรัฐบาลมากน้อยแตกต่างกัน อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน และเมืองใหม่สวงอัน มณฑลเหอเป่ย รวมทั้งชิงเต่า เมืองเศรษฐกิจสำคัญสุดของมณฑลซานตง ฉางซา เมืองเอกของมณฑลหูหนาน ซีอาน เมืองเอกของมณฑลส่านซี และต้าเหลียน เมืองเศรษฐกิจและเมืองท่าชื่อดังใน

 

แถบอีสานจีน หรือแม้กระทั่งล่าสุดที่มณฑลไฮ่หนานในช่วงหยุดยาววันแรงงาน ช่วยให้คนจีนมีประสบการณ์การใช้เงินหยวนดิจิทัล เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

 

จากการพูดคุยกับคนจีน หลายคนคาดหวังว่า รัฐบาลจีนจะแจกอี-อั่งเปาในระดับที่สูงขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ในโอกาสฉลองครบ 6 รอบวันชาติจีนที่จะมาถึงในต้นเดือนตุลาคม ศกนี้ และตรุษจีนในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า เพื่อเพิ่มประสบการณ์และธุรกรรมการใช้เงินหยวนดิจิทัล ในวงกว้างยิ่งขึ้น

 

ในด้านอุปทาน รัฐบาลจีนก็ขยายช่องทางการใช้เงินหยวนดิจิทัลในหลากหลายเวที ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ อย่างสร้างสรรค์ เช่น การใช้เงินหยวนดิจิทัลในการเดินทางสีเขียวเพื่อประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม  

 

จีนถือโอกาสรณรงค์การใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ อาทิ รถไฟฟ้าใต้ดิน รถเมล์ และ จักรยาน ในหลายเมือง เช่น ปักกิ่ง ซูโจว และ เฉิงตู ขณะที่รถเมล์ข้ามมณฑลสาย 7618 ที่วิ่งระหว่างเมืองอู๋เจียง มณฑลเจียงซู กับเขตชิงผู่ เซี่ยงไฮ้ ก็ถือเป็นบริการรถเมล์ข้ามมณฑลสายแรก ที่เปิดให้ผู้โดยสารใช้เงินหยวนดิจิทัลเมื่อหลายเดือนก่อน 

 

ร้านค้าทั่วไปในเมืองเป้าหมายเปิดรับเงินหยวนดิจิทัล เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มความหลากหลายของช่องทางการใช้ในชีวิตประจำวัน สังเกตได้จากป้ายและสติ๊กเกอร์เงินหยวนดิจิทัลในบริเวณจุดชำระเงิน เหมือนกับอาลีเพย์ (AliPay) และ วีแชตเพย์ (WechatPay) ที่ครองตลาดการชำระเงินออนไลน์ในปัจจุบัน 
 

และเมื่อเร็วๆ นี้ ร้านค้าในสวนโอลิมปิกฤดูหนาวที่สือจิ่งซาน (Shijing Shan) ก็เริ่มเปิดให้ใช้เงินหยวนดิจิทัลได้ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่ปักกิ่งจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 

 

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการใช้เงินหยวนดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากครั้งแรกที่เซินเจิ้น เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2021 และกระจายต่อไปยังเมืองอื่นๆ   

 

ขณะที่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการก็ทยอยขยายบริการเพื่อส่งเสริมการใช้เงินหยวนดิจิทัลเช่นกัน โดยธนาคารเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์แห่งชาติจีน (Industrial and Commercial Bank of China) นับเป็นธนาคารแรกที่เปิดให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนเงินสดเป็นเงินหยวนดิจิทัลผ่านตู้เอทีเอ็มได้ ธนาคารหลายแห่งก็ขยายบริการและวงเงินรับฝากและถอนเงินหยวนดิจิทัลผ่านตู้เอทีเอ็มในเวลาต่อมา

 

ขณะเดียวกัน จีนยังขยายช่องทางการใช้เงินหยวนดิจิทัลต่อไปยังโลกออนไลน์ จากสถาบันการเงินหลักของรัฐไปยังธนาคารออนไลน์ อันได้แก่ มายแบ้งค์ (MyBank) ในเครืออาลีบาบา (Alibaba) และ วีแบ้งค์ (WeBank) ของเทนเซ้นต์ (Tencent)   

 

แถมยังเชื่อมระบบเข้ากับแพล็ตฟอร์มออนไลน์รายใหญ่ อาทิ เหม่ยถวน (Meituan) เอ้อเลอเหมอะ (Eleme) ทีมอลล์ (Tmall) เหอหม่าซุปเปอร์มาร์เก็ต (Hema Supermarket) เจดี (JD) ตีตีชูสิง (Didi Chuxing) บิลลี่บิลลี่ (BiliBili) และ ซุนเฟิง (Shunfeng) 

 

ทั้งนี้ นับแต่เริ่มเปิดให้ทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัล แบงก์ชาติจีนระบุว่า การใช้เงินดิจิทัลขยายวงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงพื้นที่ จำนวนผู้ใช้ จำนวนผู้ให้บริการ และประเภทและวงเงินในแต่ละธุรกรรม โดยปัจจุบันมีคนจีนมากกว่า 20 ล้านคน และ 3.4 ล้านบริษัทที่โหลดแอพกระเป๋าตังค์ไว้แล้ว  

 

ในจำนวนนี้ ราว 10 ล้านคน ได้มีประสบการณ์ในการใช้เงินหยวนดิจิทัลแล้ว ขณะที่จำนวนธุรกรรม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2021 ก็เพิ่มขึ้นในเชิงคุณภาพอย่างรวดเร็ว โดยเป็นถึง 70.8 ล้านครั้ง คิดเป็นมูลค่ากว่า 34,500 ล้านหยวน หรือเฉลี่ยราว 487 หยวนต่อธุรกรรม   

 

และเมื่อรัฐบาลเพิ่มพื้นที่และช่องทาง ขยายกิจกรรม และผ่อนคลายวงเงินการรับโอนเงินมากขึ้น รวมทั้งเตรียมเปิดตัวในงานใหญ่อีกหลายงานที่รออยู่ในปีหน้า ก็น่าจะทำให้จำนวนและมูลค่าต่อธุรกรรมเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต

 

คราวหน้าเราไปดูกันว่า รัฐบาลจีนกำกับควบคุมการใช้เงินหยวนกันอย่างไร และอนาคตของเงินหยวนดิจิทัลจะไปในทิศทางไหน จะมีส่วนช่วยให้เงินหยวนของจีนก้าวขึ้นเป็นเงินสกุลหลักในเวทีโลกได้หรือไม่ อย่างไร ...