"ระบอบทักษิณ" กับ "ระบอบประยุทธ์"

16 มิ.ย. 2564 | 04:56 น.

"ระบอบทักษิณ" กับ "ระบอบประยุทธ์" : คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฉบับ 3688 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 17-19 มิ.ย.2564 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

คำว่า "ระบอบ" เมื่อนำมาใช้ในทางการเมือง มักจะแสดงความหมายเพื่อบ่งบอกให้รู้และเข้าใจถึง ลักษณะและรูปแบบการเมืองการปกครอง ของผู้มีอำนาจปกครองประชาชน และผู้บริหารประเทศอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ ว่า ได้แสดงออกและสะท้อนภาพต่อประชาชนอย่างไร ในสาระสำคัญอันเป็นแก่นของการใช้อำนาจ และการปกครองประเทศ เราจึงมักจะได้ยินคำว่า "ระบอบ" ต่างๆในทางการเมือง โดยพ่วงชื่อของผู้ทรงอำนาจที่ปกครองประเทศมาโดยต่อเนื่องยาวนาน อยู่เสมอๆ เช่น "ระบอบอำนาจนิยม" (authoritarianism), ระบอบประชาธิปไตย ( Democracy) หรือ ระบอบสังคมนิยม (Socialism) ส่วนที่มีชื่อบุคคลขึ้นต้นก็จะปรากฏให้เห็น เช่น "ระบอบ เหมา เจ๋อ ตง", "ระบอบ มาร์ก เลนิน", หรือ "ระบอบนิกสัน" เป็นต้น

สำหรับเมืองไทย แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง 89 ปี มีนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศมาแล้วถึง 29 คน แต่ก็ยังไม่มีใครได้รับเกียรติถึงขนาดขนานนามว่า เป็นนายกรัฐมนตรี พ่วงด้วยคำว่า "ระบอบ" เข้าไปด้วย นายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติเช่นนี้ ก็น่าจะเป็น นายทักษิณ ชินวัตร เป็นคนแรก โดยพรรคการเมืองฝ่ายค้านขณะนั้น คือพรรคประชาธิปัตย์ และประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ที่ไม่พอใจต่อการบริหารบ้านเมืองของทักษิณ ต่างออกมาร่วมกันประณามว่า การเมืองการปกครองของเขาขณะนั้นเป็น "ระบอบทักษิณ" โดยประชาชนส่วนใหญ่นับจำนวนหลายล้านคนทั่วประเทศ ยังได้ร่วมกันออกมาเดินขบวนขับไล่เขาให้พ้นจากอำนาจอีกด้วย และที่สุดทักษิณก็ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกฯ พ้นจากอำนาจ และ หนีคดีความผิดออกนอกประเทศไป จนถึงทุกวันนี้

แต่จะมีใครสักกี่คนที่จะทราบคำว่า "ระบอบทักษิณ" นั้น มีที่มาและเกิดขึ้นอย่างไรในสังคมการเมืองไทย ใครเป็นผู้ให้คำนิยามถึงระบอบการเมืองการปกครองของทักษิณเช่นนั้น และเนื้อหาสาระของระบอบดังกล่าวเป็นอย่างไร จึงทำให้คนไทยรังเกียจ โกรธแค้น ไม่พอใจ จนถึงขนาดต้องออกมาร่วมกันโค่นล้มขับไล่ "ระบอบทักษิณ" ให้สิ้นแผ่นดินไทย เป็นแผลลึกของการเมืองไทยจนปัจจุบัน

ข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีประวัติศาสตร์ และมีที่มา ผู้เขียนจึงขอนำมาเล่า ก่อนที่ใครๆ กำลังจะชูธงเรื่อง "ระบอบประยุทธ์" ขึ้นมาเพื่อโน้มน้าวชักชวนประชาชนให้ออกมาร่วมขับไล่ ประชาชนทั้งหลาย จะได้ร่วมกันพิจารณาว่า รูปแบบและลักษณะการเมือง การปกครองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบันจะเทียบเคียงได้กับ "ระบอบทักษิณ" หรือไม่ มีความเลวร้ายพอที่ถึงขนาดจะต้องขับไล่กันหรือไม่ เป็นดุลยพินิจที่ต้องใช้วิจารณญาณโดยตัวท่านเอง

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนทำหน้าที่เป็นหนึ่งในทีมทนายความ เพื่อเขียนคำขี้แจงแก้ข้อกล่าวหาให้พรรคประชาธิปัตย์ กรณีที่อัยการสูงสุด ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ ในคดีเรื่องพิจารณาที่ 23,19/2549 ข้อหาหนึ่งที่อัยการกล่าวหาคือ หาว่าพรรคประชาธิปัตย์ ปลุกระดมมวลชนโดยใช้คำว่า "ระบอบทักษิณ" กล่าวหาทักษิณและพรรคไทยรักไทยขณะนั้น พร้อมกับรณรงค์ไม่ให้ประชาชนไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ว่าเป็นการใส่ร้าย 

เพราะผู้ปราศรัยได้กล่าวว่า "การบริหารงานของทักษิณเป็น "ระบอบทักษิณ" วันนี้ระบอบทักษิณ ทำลายประชาธิปไตยแล้ว แทรกแซงองค์กรอิสระ ครอบงำวุฒิสภา แทรกแซงสื่อ ควบคุมอำนาจตัดสินใจสั่งการแต่ผู้เดียว ไม่ให้คณะรัฐมนตรีหรือบุคคลใดเข้าร่วมตัดสินใจตามระบอบรัฐสภา ไม่ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ทำเพื่อธุรกิจตนเองและพวกพ้อง ทำลายระบบคุณธรรม ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนอย่างรุนแรง และมีการทุจริตคอร์รัปชัน ฉ้อราษฎร์บังหลวง" โดยอัยการได้อ้างเทปคำปราศรัยและถอดข้อความมาประกอบคดี

จึงเป็นหน้าที่ของทนายความที่จะต้องแก้ต่าง ชี้แจงข้อกล่าวหาให้ได้ว่า ผู้ปราศรัยเช่นนั้น มิได้เป็นการกล่าวหาใส่ร้ายแต่อย่างใด พฤติกรรมและการกระทำของทักษิณเป็นเรื่องจริง ที่ทำให้ประเทศและประชาชนเสียหาย ทำให้ผู้เขียนและคณะต้องค้นคว้าศึกษาที่มาที่ไปของเรื่องนี้ จนพบความจริงของคำว่า "ระบอบทักษิณ" นั้น เป็นคำนิยามทางการเมืองที่นักวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ นักรัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง นักเศรษฐศาสตร์ เช่น นายธีรยุทธ บุญมี, ดร.เกษียร เตชะพีระ, ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ เป็นผู้เขียน และกล่าวไว้ในงานศึกษาวิจัยของตน 

นอกจากนี้ในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เอเชีย-แปซิฟิก นางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดีแห่งฟิลิปปินส์ เป็นคนแรกที่กล่าวสุนทรพจน์ เรียกนโยบายเศรษฐกิจของทักษิณว่า "ทักษิโณมิกส์"  (Thaksinomics) หมายถึงลัทธิทางเศรษฐกิจแบบทักษิณ ทำให้ทักษิณพึงพอใจมาก และประกาศตนเองต่อเวทีประชุมต่างๆ ในลักษณะยอมรับว่าเขาปกครองด้วย “ระบอบทักษิณ” ซึ่งข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ ทีมทนายพรรคประชาธิปัตย์ โดยผู้เขียนจึงได้เสนอให้นำมาเขียนไว้ในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 

และต่อมาก็ได้นำมากล่าวในแถลงการณ์ปิดคดีด้วยส่วนพฤติกรรมของทักษิณ เป็นไปตามคำปราศรัยจริงหรือไม่ ก็ปรากฏว่ามีหลักฐานข้อเท็จจริงสนับสนุนทุกเรื่อง โดยเฉพาะพยานจากปากของ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ที่ได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์มติชน และเพื่อพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือชุดรู้ทันทักษิณ ที่จัดพิมพ์โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ทั้งหมดจึงเป็นหลักฐานข้อเท็จจริง ถึงที่มาที่ไปของคำว่า "ระบอบทักษิณ" ว่ามีรากฐานมาอย่างไร

การกล่าวหาว่าทักษิณปกครองและใช้อำนาจแบบ "ระบอบทักษิณ" ที่มีความเลวร้ายมากมายในทุกๆ ด้านดังกล่าวนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงอยู่ในสำนวนการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ที่สำคัญคือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาด้วยว่า การพูดและการกล่าวหาทักษิณว่าเป็น "ระบอบทักษิณ" ที่มีความเลวร้ายต่างๆ นั้น เป็นความจริงและมิใช่เป็นการใส่ร้ายแต่อย่างใด ไม่เป็นเหตุที่จะยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้ ตามข้อกล่าวอ้างของอัยการผู้ร้อง จึงวินิจฉัยให้ยกคำร้อง รายละเอียดหาอ่านได้จากคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

อุทธาหรณ์ของเรื่องนี้ ที่ผู้เขียนยกมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อให้ผู้อ่านหรือพี่น้องประชาชนทั่วไป ที่กำลังชู้ป้ายไล่รัฐบาลอยู่ในขณะนี้ และโดยเฉพาะข้อกล่าวหาว่าเป็น "ระบอบประยุทธ์" นั้น พึงได้ตระหนักและทำความเข้าใจให้ดีในการกล่าวหาเช่นนั้น เพราะท่านทั้งหลายต้องนำเสนอข้อเท็จจริงและพิสูจน์ให้ได้ว่า "ระบอบประยุทธ์" คือระบอบการเมือง การปกครองอย่างไร มีความเลวร้ายจริงหรือไม่ ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไร มีการทุจริตคอร์รัปชัน ทำเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้องอย่างไร แทรกแซงองค์กรอิสระ ครอบงำสภา ครอบงำสื่ออย่างไร มีพฤติกรรมเหมือนดั่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏใน "ระบอบทักษิณ" หรือไม่อย่างไร 

หากข้อเท็จจริงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หรือพฤติกรรมและความเลวร้ายมิได้เป็นไปดั่งที่ถูกกล่าวหา นอกจากจะไม่สามารถขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้พ้นจากอำนาจได้แล้ว ยังเป็นการช่วยต่ออายุ ยิ่งจะเป็นการสร้างความชอบธรรมและทำให้อำนาจของรัฐบาลนี้ มีความมั่นคง แข็งแกร่งและอยู่ในอำนาจต่อไปได้อีกอย่างยาวนานเท่านั้นเอง