มองฝุ่นจิ๋ว ผลการสำรวจคนกรุงเทพฯ

21 เม.ย. 2564 | 04:40 น.

มองฝุ่นจิ๋ว ผลการสำรวจคนกรุงเทพฯ : คอลัมน์บทความ โดย...ผศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  ผศ.ดร.เรวดี จรุงรัตนาพงศ์  สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,672 หน้า 5 วันที่ 22 - 24 เมษายน 2564

ปัญหาสิ่งแวดล้อมหนึ่งที่ยังคงมีความรุนแรงและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ที่เป็นเขตเมืองในประเทศไทย คือ ปัญหาฝุ่นขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ฝุ่นจิ๋วเหล่านี้สามารถแทรกตัวเข้าสู่ทางเดินหายใจและเส้นเลือดและถูกส่งต่อไปยังหัวใจและสมองส่งผลให้เกิด อาการเจ็บป่วยแบบปัจจุบันทันด่วนและยังส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว งานศึกษาของ Fold และคณะ (2020) พบว่ามลพิษจากฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานครส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตที่ไม่ใช่อุบัติเหตุจำนวน 4,240 ราย การเสียชีวิตจากอาการทางหัวใจและปอดจำนวน 1,317 ราย และการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดจำนวน 370 ราย

นอกจากนี้ งานวิจัยของ Shi และคณะ (2016) ในสหรัฐอเมริกายังพบว่าการลด PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานนั้น ถึงแม้ว่าจะลดความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บและชีวิตลงได้ แต่ไม่สามารถขจัดการเกิดโรคภัยและการเสียชีวิตได้ทั้งหมด ดังนั้นการลดมลพิษจากฝุ่นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

อย่างไรก็ดี การลดมลพิษจากฝุ่น PM2.5 นั้น มีต้นทุนในการดำเนินการซึ่งแตกต่างกันไปตามมาตรการที่เลือกใช้ อาทิเช่น มาตรการการปรับมาตรฐานการระบายไอเสียจากรถยนต์ใหม่ให้เป็นมาตรฐานยูโร 5 (จากเดิมที่ใช้ยูโร 4) และการนำนํ้ามันดีเซลกำมะถันตํ่า (ไม่เกิน 10 ppm) มาใช้ย่อมหมายถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อรองรับมาตรฐานใหม่และอาจส่งผลต่อราคารถยนต์ใหม่และราคานํ้ามันดีเซลกำมะถันตํ่า

หรือมาตรการการปรับเปลี่ยนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รุ่นเก่าเป็นรถโดยสารมลพิษตํ่า ย่อมส่งผลต่อต้นทุนในการดำเนินการและอาจส่งผลต่อค่าโดยสารของรถสาธารณะในที่สุด อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นของแต่ละมาตรการเป็นภาระกับกลุ่มคนแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากมาตรการดังกล่าว 

ในการดำเนินการมาตรการเพื่อลดผลกระทบจาก PM2.5 นั้น คำถามที่น่าสนใจคือประชาชนให้ความสำคัญหรือมองประโยชน์ของมาตรการดังกล่าวแตกต่างกันอย่างไร วิธีการหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้เพื่อวัดประโยชน์ของมาตรการคือการสอบถามความเต็มใจจ่ายของประชาชนที่เกี่ยวข้องด้วยวิธีที่เรียกว่า Contingent Valuation Method (CVM)

จากการศึกษา CVM ของมาตรการลด PM2.5 ใน 3 มาตรการโดยได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) พบว่าคนกรุงเทพฯ มีความเต็มใจจ่ายเพื่อให้มีการดำเนินมาตรการทั้ง 3 มาตรการ โดยให้ความสำคัญกับการนำนํ้ามันกำมะถันตํ่ามาใช้ก่อนกำหนด (เดิมกำหนดไว้ว่าจะบังคับทั้งหมดภายในปี 2567) สูงที่สุด และให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนมาตรฐานรถยนต์จากมาตรฐานยูโร 4 เป็นมาตรฐานยูโร 5 และการเปลี่ยนรถ ขสมก. ให้มีมลพิษตํ่าใกล้เคียงกัน

 

โดยมีมูลค่าความเต็มใจจ่ายรวมต่อมาตรการการนำนํ้ามันกำมะถันตํ่ามาใช้ก่อนกำหนดประมาณ 2.01 พันล้านบาท และมีมูลค่าความเต็มใจจ่ายสำหรับการปรับเปลี่ยนมาตรฐานรถยนต์จากมาตรฐานยูโร 4 เป็นมาตรฐานยูโร 5 รวม 1.62 พันล้านบาท และการเปลี่ยนรถ ขสมก. ให้มีมลพิษตํ่าประมาณ 1.55 พันล้านบาท

ซึ่งมูลค่าความเต็มใจจ่ายเหล่านี้สะท้อนประโยชน์จากการลดลงของมลพิษฝุ่น PM2.5 จากการดำเนินมาตรการแต่ละมาตรการในมุมมองของคนกรุงเทพฯ 

 

มองฝุ่นจิ๋ว ผลการสำรวจคนกรุงเทพฯ

 

อย่างไรก็ตาม มูลค่าดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่าเป็นมูลค่าประโยชน์ขั้นตํ่าเพราะเป็นมูลค่าประโยชน์ส่วนบุคคล (private benefits) ในมุมมองของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประโยชน์ต่อส่วนรวม (social benefits) ของการลดลงของฝุ่นพิษที่ไม่ได้รวมประโยชน์จากผลกระทบภายนอกทางบวกอื่นๆ เช่น การที่ภาระเงินอุดหนุนของรัฐลด ลงจากการที่มีคนเจ็บป่วยจากผลของ PM2.5 ลดลง เป็นต้น

 

การแก้ปัญหาฝุ่นพิษเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ และข้อมูลจากงานวิจัย พบว่า ประชาชนชาวกรุงเทพฯ เองก็มีความเต็มใจที่จะจ่ายเพื่อให้มีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นพิษนั้นมีต้นทุนค่อนข้างสูงในการดำเนินการและส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่แตกต่างกันในแต่ละมาตรการ ดังนั้นการพิจารณาเลือกมาตรการเพื่อนำไปใช้ควรคำนึงถึงกลุ่มบุคคลที่จะได้รับผลกระทบประกอบการตัดสินใจด้วยเพื่อให้การดำเนินมาตรการก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง