‘เก็บค่าใช้น้ำ’ มาแล้ว ‘เกษตรพาณิชย์-อุตฯ-บริการ’ โดน

18 มี.ค. 2564 | 04:30 น.

‘เก็บค่าใช้น้ำ’ มาแล้ว ‘เกษตรพาณิชย์-อุตฯ-บริการ’ โดน : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3662 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

นับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 เป็นต้นมา พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่มีทั้งหมด 9 หมวด มีผลบังคับใช้แล้ว แม้ว่าในหมวด 4 เรื่อง การจัดสรรน้ำ และการใช้น้ำ ให้บังคับใช้เมื่อพ้นไป 2 ปี  และครบกำหนด 2 ปี มาเมื่อตั้งแต่วันที่ 27  มกราคม 2564

กฎหมายน้ำ เป็นประเด็นที่ผู้คนในสังคมไทยยังไม่ได้ตระหนักและรับรู้กันในวงกว้างมากนัก ทั้งๆ ที่มีผู้คนที่อยู่อาศัยและใช้น้ำในลุ่มน้ำหลักครอบคลุมทั่วประเทศใน 22 ลุ่มน้ำหลัก และ 353 ลุ่มน้ำสาขารอง ซึ่งในขณะนี้ได้มีการกำหนดกลุ่มผู้ใช้น้ำสาธารณะออกเป็น 3 ประเภท ตามมาตรา 41 ดังนี้...

การใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้น้ำปริมาณเล็กน้อย

การใช้น้ำประเภทที่สอง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น 

การใช้น้ำประเภทที่สาม ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง

‘เก็บค่าใช้น้ำ’ มาแล้ว ‘เกษตรพาณิชย์-อุตฯ-บริการ’ โดน

การใช้น้ำสาธารณะใน 22 ลุ่มน้ำหลัก 353 ลุ่มน้ำสาขา อันประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำวัง  ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำชายางทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ตะวันออกตอนล่าง ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่ตะวันตก ฯลฯ

การใช้น้ำสาธารณะในลุ่มน้ำที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนั้น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เริ่มรับฟังและสำรวจความคิดเห็นประชาชนเป็นการทั่วไปแล้ว เพื่อออก “กฎกระทรวง” แนบท้ายในการคิดค่าใช้น้ำ โดยนำโมเดล เก็บค่าน้ำสาธารณะ ที่ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษา นำผลการศึกษาไปสำรวจความคิดเห็นไปรับฟังความคิดเห็น เพื่อที่จะแบ่งกลุ่มให้ชัด ระหว่าง “เกษตรกรเพื่อยังชีพ กับ เกษตรกรพาณิชย์/อุตสาหกรรมซึ่งมีการจัดแบ่งโดยการถือครองที่ดิน

เหนือกว่านั้นคือ การกำหนดให้เกษตรกรที่ถือครองที่ดิน เกิน 63 ไร่ ต้องเสียค่าน้ำ

อันนี้ยุ่งละครับ เพราะประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมราว 149 ล้านไร่เศษ มีเกษตรกรรายย่อยครอบครองที่ดินของตัวเอง 41 ล้านไร่ ที่เหลือขายฝากไว้ 29.8 ล้านไร่ ทั้งเหนือ กลาง อีสาน ใต้ เฉพาะเกษตรกรที่เช่าที่ดินคนอื่นมาทำการเกษตรนั้น ตกประมาณ 29 ล้านไร่ กำหนดเงื่อนไขไม่ดีคนเหล่านี้คางเหลืองแน่

‘เก็บค่าใช้น้ำ’ มาแล้ว ‘เกษตรพาณิชย์-อุตฯ-บริการ’ โดน

ส่วนการใช้น้ำเพื่อทำเกษตรเพื่อการพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรมก็ต้องจ่ายค่าใช้น้ำสาธารณะ ส่วนอัตราที่ต้องจ่ายจะเป็นเท่าใดนั้น จะต้องมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ ขึ้นมากำหนดในแต่ละพื้นที่

คำถามคือเขาจะเก็บอบ่างไร กลุ่มไหนบ้าง...มาดูข้อพิจารณาที่เขากำลังถกเถียงและกำหนดกันเป็นกฎเกณฑ์กันนะครับ

1. เกษตรเพื่อยังชีพไม่เสียค่าน้ำ

2. การใช้น้ำเพื่อการพาณิชย์ โรงแรม รีสอร์ท ท่องเที่ยว (ต้องจ่ายค่าน้ำ)

3. สนามกอลฟ์ โรงงานไฟฟ้า และ นิคมอุตสาหกรรม (ต้องจ่ายค่าใช้น้ำ)

แล้วอัตราการเก็บค่าน้ำจะตกเท่าไหร่ อันนี้และครับที่เขายังไม่ลงตัว 3 หน่วยงานที่คือ สทนช.-กรมทรัพยากรน้ำบาดาล-กรมชลประทาน ยังถกเถียงกันหนักจนสรุปไม่ลงตัว

แต่อย่างน้อยมีข้อสรุปออกมาชัดว่าค่าน้ำในเขต/นอกเขตชลประทาน สำหรับเกษตรกรรม นั้นเขาให้ ใช้ฟรี

แต่ถ้าเอกชนใช้น้ำ มาผลิตสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม ตัวเลขที่มีการคิดกันคือลูกบาศก์เมตรละ 50 สตางค์ น้อยกว่าการคิดน้ำบาลดาลที่ตอนนี้คิดกัน 0.80-0.85 บาท/ลูกบาศก์เมตร

ผมถึงบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบกับวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำ โรงงานอุตสาหกรรมและเกษตรกรทั่วประเทศจำนวนมาก

อาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า “เก็บค่าน้ำ แล้วจะนำเงินไปไหน นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด สิทธิในการใช้น้ำ เราต้องกำหนดสิทธิ คนมีสิทธิ์ใช้น้ำ แล้วต้องกำหนดสิทธิในการใช้น้ำให้ชัดเจน”

‘เก็บค่าใช้น้ำ’ มาแล้ว ‘เกษตรพาณิชย์-อุตฯ-บริการ’ โดน

ยกตัวอย่าง การถือครองที่ดิน 63-66 ไร่  ไม่มีเกณฑ์ แล้วถ้ารายเล็กใช้น้ำเกิน จะทำอย่างไร เพราะการใช้น้ำไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ จะได้สิทธิเท่าไรขั้นต่ำ แล้วต้องจัดสรรสิทธิให้กับผู้ใช้น้ำทุกฝ่าย ไม่ใช่เกษตรกร เพียงฝ่ายเดียว จะต้องมีกลุ่มอื่นด้วยๆ อาทิ  ผู้บริโภคน้ำประปา ไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม นี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน น้ำคือชีวิตเมื่อแต่ละภาคส่วนได้รับจัดสรรน้ำไปแล้ว  เมื่อมีน้ำเพียงพอ ก็สามารถที่จะขายโควตาในส่วนนั้นๆ ได้ แต่ต้องแบ่งสิทธิก่อน แล้วไม่ใช่ทำทุกลุ่มน้ำ ทำเฉพาะลุ่มน้ำที่ขาดแคลน ที่มีปัญหา 2 ลุ่มน้ำ ขณะนี้ก็คือ “ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” กับ “ลุ่มน้ำภาคตะวันออก” ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแย่งน้ำ

ถ้าหากกฎเกณฑ์ไม่ดีเกษตรกรมีที่ดินถือครอง 100 ไร่  ก็กระจายการถือครอง 2 ราย ไม่ต่างจาก โครงการประกันรายได้ข้าว ใน โครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งมีจำนวนครัวเรือนมากกว่าความเป็นจริง เพราะได้นำชื่อลูกหลานมาใส่ ที่ไม่ได้อยู่ในภาคเกษตรมาจดทะเบียน แล้วถูกต้องด้วย มีตัวตนด้วย  จะเกิดซ้ำรอยขึ้น

ที่สำคัญ ห้ามได้หรือไม่ หากมีเกษตรกรใช้น้ำเกิน ก็ห้ามไม่ได้ นี่คือ เรื่องใหญ่ ในการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

ท่านละคิดอย่างไรบ้าง

เพื่อให้ทุกท่าเข้าใจพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่ได้ตราขึ้นเพื่อบูรณาการการจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และสิทธิในน้ำ เพื่อบริหารทรัพยากรน้ำได้อย่างประสานสอดคล้องในทุกมิติ มีความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างสมดุล มี 9 หมวดสำคัญ และ บทเฉพาะกาล

หมวด 1 ทรัพยากรน้ำ : กฎหมายบัญญัติให้รัฐมีอำนาจใช้ พัฒนา บริหารจัดการ บำรุงรักษา ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรนํ้า ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน โดย นายกรัฐมนตรีอาจกำหนดให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้น

หมวด 2 สิทธิในน้ำ : ให้สิทธิบุคคลในการใช้หรือเก็บกักนํ้าได้เท่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ในกิจกรรมหรือในที่ดินของตน โดยไม่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่บุคคลอื่นซึ่งอาจใช้น้ำนั้น

หมวด 3 องค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ : มีทั้งระดับชาติ ระดับลุ่มนํ้า และระดับองค์กรผู้ใช้นํ้า ที่สะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยในระดับชาติ มีคณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ หรือ กนช. เป็นองค์กรหลักในการบูรณาการ การบริหารทรัพยากรน้ำมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน, เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ ระดับลุ่มนํ้า มีคณะกรรมการลุ่มนํ้าเป็นกลไกในการขับเคลื่อน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับเลือกใน เขตลุ่มนํ้านั้นเป็นประธาน และข้าราชการของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ

‘เก็บค่าใช้น้ำ’ มาแล้ว ‘เกษตรพาณิชย์-อุตฯ-บริการ’ โดน

หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ : ให้ความสำคัญในการจัดสรรนํ้าเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก รองลงมาคือ การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย คมนาคม เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว ให้เป็นไปตามที่ กนช.กำหนด นอกจากนี้ ได้แบ่งการใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะ เป็น 3 ประเภท คือ

ประเภทที่หนึ่ง การใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะ เพื่อการดำรงชีพ ประเภทนี้ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตและไม่ต้องชำระค่าใช้นํ้า แต่ต้องให้ข้อมูลการใช้นํ้า ซึ่งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ จะออกเป็นกฎหมายต่อไป

ประเภทที่สอง การใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะ เพื่อการอุตสาหกรรม การผลิตพลังงานไฟฟ้า ประปา ต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่มีอำนาจแล้วแต่กรณี โดยได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำ

ประเภทที่สาม การใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะ เพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก ต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่มีอำนาจแล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของ กนช.

หมวด 5 ภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม : ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านน้ำ โดยให้คณะกรรมการลุ่มน้ำจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง และน้ำท่วม ไว้ล่วงหน้า ซึ่งครอบคลุมถึงการรักษาและแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำด้วย รวมถึงบัญญัติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปสู่การปฏิบัติ

หมวด 6 การอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ : เน้นการสงวนพื้นที่แหล่งต้นนํ้าลำธาร พื้นที่ชุ่มนํ้า เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำสาธารณะ รวมถึงวางหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินที่อาจส่งผลกระทบกับทรัพยากรน้ำสาธารณะ

‘เก็บค่าใช้น้ำ’ มาแล้ว ‘เกษตรพาณิชย์-อุตฯ-บริการ’ โดน

หมวด 7 พนักงานเจ้าหน้าที่ : กำหนดหน้าที่และอำนาจของ “พนักงานเจ้าหน้าที่” เพื่อปฏิบัติตามมกฎหมายฉบับนี้ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

หมวด 8 ความรับผิดทางแพ่งในกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ : กรณีที่ผู้ใดกระทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ ต้องรับผิดทางแพ่ง

หมวด 9 บทกำหนดโทษ : ได้กำหนดโทษอาญา ซึ่งมีทั้งโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณีความผิดที่กระทำ

เราไม่รู้กฎหมายไม่ได้นะครับพี่น้องไทย เพราะตอนนี้กฎหมายน้ำได้ขับเคลื่อนออกมาแล้ว และกำลังตรากฎหมายลำดับรอง ตามที่พระราชบัญญัติกำหนด เพื่อการวางหลักเกณฑ์ สิทธิขึ้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด การคิดค่าใช้น้ำมาถึงเราเร็วกว่าที่หลายคนคิดครับ