รถฉีดนํ้า กับ ขั้นตอนสลายการชุมนุม

11 พ.ย. 2563 | 05:05 น.

รถฉีดนํ้า กับ ขั้นตอนสลายการชุมนุม : คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว  โดย  จีรพงษ์  ประเสริฐพลกรัง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,626 หน้า 10 วันที่ 12 - 14 พฤศจิกายน 2563

 

“รถควบคุมฝูงชน” หรือที่บ้านเรากำลังเรียกติดปากว่า “รถฉีดนํ้า” พบเห็นได้ 2 ครั้งล่าสุด ในวันสลายการชุมนุมของที่แยกปทุมวัน คํ่าวันที่ 16 ตุลา 63 และล่าสุด 8 พ.ย. 63 ในช่วงเคลื่อนขบวนของม็อบคณะราษฎร

 

ทั้งสองครั้ง มวลชนในม็อบเมื่อเห็นรถฉีดนํ้าสีนํ้าเงินคันเบ้อเริ่มประชิดเข้ามาจะพากันตะโกนเตือน “รถฉีดนํ้ามาแล้ว รถฉีดนํ้ามาแล้ว” เพื่อเตรียมร่ม ชุดกันฝน หรืออุปกรณ์กันนํ้าเอาไว้ป้องกัน

 

รถควบคุมฝูงชน หรือ “รถฉีดนํ้าแรงดันสูง” มีชื่อเรียกว่า “จีโน” ใช้สำหรับควบคุมฝูงชน Only จัดซื้อจัดจ้างนำเข้ามาจากประเทศเกาหลีใต้ ในราคาคันละ 25 ล้านบาท คุณสมบัติที่มากกว่าฉีดนํ้า ก็เรียกว่าสมบุกสมบันด้วยล้อกันกระสุน ตะแกรงป้องกันกระจกรอบคัน มีคันกั้นเหล็กหน้ารถไว้เคลียร์พื้นที่ที่อาจมีสิ่งกีดขวาง และยังมีกล้องวงจรปิดติดตั้งรอบคัน เพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์แบบรอบคันรถ

 

บรรจุนํ้าได้มากถึง 12,000 ลิตรท่อ และแรงฉีดนํ้าสามารถปรับความแรง ละอองฝอยได้ และยิงระยะไกลได้สูงสุด 65 เมตร ส่วนประเภทของนํ้า ที่จะใช้นั้นสุดแล้วแต่แผนการของเจ้าหน้าที่ ได้ทั้งนํ้าเปล่านํ้าผสมสี ผสมสารที่คล้ายกับแก๊สนํ้าตา และยังผสมกับโฟมดับไฟได้ด้วย

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นรถฉีดนํ้าเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือ ที่อยู่ใต้กระบวนการตามขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเหตุการณ์ ที่เรียกว่า “จากเบาไปหาหนัก” ในการสลายการชุมนุมหรือควบคุมฝูงชน 

 

คำถามคือ แล้วคำว่า จากเบาไปหาหนัก มันคือยังไง 

 

 

 

มีโอกาสไปสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ซึ่งเผชิญหน้ากับมวลชนมามากมาย อธิบายให้ฟังว่า สลายการชุมนุมทุกครั้งของเจ้าหน้าที่นับตั้งแต่ปี 2551 จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมม็อบพันธมิตรฯ ที่ด้านหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลา ฝ่ายความมั่นคงถอดบทเรียนนำมา ปรับรื้อครั้งใหญ่ในกระบวนการควบคุมฝูงชน ทั้งอุปกรณ์ที่เหมาะสม ความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ การบัญชาการเหตุการณ์ 

 

 

รถฉีดนํ้า กับ ขั้นตอนสลายการชุมนุม

 

 

ไปเรียนรู้ดูงานจากต่างประเทศ ทำให้ได้สูตรแบบไทยไทยที่ยึดตามหลักสากลในการสลายการชุมนุมตามขั้นตอน จากเบาสุดไปหาหนัก คือ เริ่มจากต้องมีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ไปการประกาศยังกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเตือนว่ากำลังชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย อย่างไร พร้อมกับอธิบายกฎหมาย ซึ่งการประกาศจะระบุเวลาให้ยุติการชุมนุมตอนไหน โดยต้องทำให้ทราบอย่างทั่วถึง

 

หลังเจ้าหน้าที่ประกาศเตือนแล้ว เมื่อถึงเวลาตามที่แจ้ง แต่ไม่มีทีท่าว่าจะยุติการชุมนุม เจ้าหน้าที่จะทอดเวลาให้อีกระยะหนึ่งบวกกับการประเมินสถานการณ์ อาจประกาศเตือนอีกครั้งว่าหากไม่สลายตัวไปด้วยความสมัครใจ เจ้าหน้าที่จะต้องใช้นํ้าฉีดใส่ฝูงชน

 

 

 

เมื่อฉีดนํ้าแล้ว หากยังไม่สลายตัว เจ้าหน้าที่จะต้องประกาศถึงขั้นตอนต่อไปด้วยการใช้แก๊สนํ้าตาที่ไม่เป็นอันตราย  และหากใช้แก๊สนํ้าตาไม่ได้ผล ก็จะเพิ่มความหนัก คือ ใช้กระบองเข้าควบคุมฝูงชน ตีไปในส่วนที่ไม่เป็นอันตราย หากไม่ได้ผลจะประกาศเตือนถึงการใช้อาวุธปืนด้วยกระสุนตาข่าย กระสุนยาง และสุดท้ายคืออาจประกาศว่ามีความจำเป็นต้องใช้กระสุนจริง แต่เพื่อป้องกันตัวเท่านั้น 

 

อย่างไรก็ตาม ถือว่าผมเขียนเรื่องนี้เป็นความรู้ เพราะผมเองไม่อยากให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย ถึงขั้นเห็นคนไทยต้องเสียเลือดเสียเนื้อจากการชุมนุมและเหตุปะทะกันอีกแล้ว ไม่เช่นนั้นสังคมไทยก็พายเรือในอ่างอยู่แบบนี้