อนาคตเศรษฐกิจไทย ใต้เงาเทคโนแครต

17 ต.ค. 2563 | 04:05 น.

อนาคตเศรษฐกิจไทย ใต้เงาเทคโนแครต : คอลัมน์ เศรษฐกิจ...อีกนิด ก็หลักสี่ (.ศูนย์)  โดย... ผศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ  คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,619 หน้า 5 วันที่ 18 - 21 ตุลาคม 2563

 

ใครจะไปคาดคิดว่า “คุณปรีดี ดาวฉาย” อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกสิกรไทย จะไขก๊อกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปด้วยความรวดเร็วท่ามกลางความงวยงงสงสัยของทุกฝ่าย ทั้งๆ ที่ก่อนจะมานั่งก็ต้องคิดถ้วนถี่ดิบดีแล้วว่า ต้องเจอกับงานที่หนักกว่าตอนอยู่แบงก์เป็นแน่ 

 

แต่ท่านอาจจะลืมปัจจัยทางการเมืองที่พุ่งมาหารัฐมนตรีคลังแบบเต็มๆ และก็ทนต่อแรงเสียดทานของนักการเมืองไม่ไหว โบกมือลาไปก่อนแบบไม่ถึงเดือน และก็เชื่อเหลือเกินว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีก็ต้องกุมขมับเมื่อท่านได้รับใบลาออก เพราะการค้นหาคนที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับรัฐบาลนี้ เพราะใครก็ตามที่จะมานั่งเก้าอี้ขุนคลังตัวนี้ ก็คงเป็นไปตามที่ “ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์” ซือแป๋ด้านเศรษฐกิจที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเล็กต่างให้การยอมรับให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อไม่นานนี้ว่า “ใครก็ตามที่เข้ามาบริหารเศรษฐกิจตอนนี้ คือ ‘ซวย’”

 

แม้จะมีการโยนหินถามทางเพื่อฟังเสียงตอบรับ เช่นชื่อของ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ดร.วิรไท สันติประภพ สองอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ คุณประสงค์ พูนธเนศ ต่างก็ออกมาตอบปฏิเสธกันอย่างนิ่มนวลแบบบัวไม่ให้ช้ำ นํ้าไม่ให้ขุ่น เพราะต่างคนต่างก็รู้ว่า การเข้ามาบริหารเศรษฐกิจของประเทศไทยช่วงนี้ มันยากไม่ต่างกับการงมเข็มในมหาสมุทรเลยทีเดียว ยิ่งมีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานอีกก็ยิ่งทำให้ขยาดกับเก้าอี้ตัวใหญ่ตัวนี้กันไปใหญ่ พลเอกประยุทธ์ ก็เลยต้องปวดหัวกับการสรรหาคนที่เหมาะสมมานั่งตำแหน่งนี้ในโควตาตัวเอง และคนที่จะมานั่งว่าการคลังก็ต้องสร้างความมั่นใจให้รัฐบาลอีก ไม่ใช่มาเป็นรัฐมนตรีคลังแล้วจะพารัฐบาลลงเหวไปด้วยกัน

 

และแล้ววันที่ 5 ตุลาคม “คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่ 3 ในรัฐบาลประยุทธ์ 2 คุณอาคม...หาใช่ใครอื่น ก็คนคุ้นเคยกันมาแต่รัฐบาลที่แล้ว การแต่งตั้งคุณอาคมของท่านนายกฯ เหมือนกับการเดินหมากเพื่อกินหลายต่อ 

 

ต่อแรก คุณอาคมก็มิใช่คนขี้ริ้วขี้เหร่ ที่จะมานั่งคุมกระทรวงการคลังในสายตาของประชาชน เพราะคุณอาคม ก็ผ่านงานวางแผนเศรษฐกิจจนก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “สภาพัฒน์ฯ” อันเป็นจุดสูงสุดของหน่วยงานวาง แผนเศรษฐกิจของประเทศไทย มิหนำ ซํ้ายังเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในสมัยประยุทธ์ 1 อีกต้องเรียกว่า แม้สังคมจะไม่กรี๊ดกร๊าด แต่ก็ไม่โห่ไล่ 

 

อนาคตเศรษฐกิจไทย  ใต้เงาเทคโนแครต

 

 

ต่อที่สอง คุณอาคม ได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรีอย่างมาก เพราะคุณอาคมได้รับตำแหน่งที่ถือว่าเกรดเอทั้งสอง ครั้ง โดยไม่มีฐานทางการเมืองหนุนหลัง อาจเป็นเพราะบุคลิกของคุณอาคมที่ทำงานหนัก นำเสนอเยี่ยม ไม่ทำให้หนักใจ และเป็นมิตรกับทุกฝ่าย คุณสมบัติเหล่านี้ก็ลดแรงเสียดทานจากฝ่ายการเมืองไปได้มากโข 

 

และต่อสุดท้าย ที่ถือเป็นหมากแก้เกมของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ การหยุดเขย่ารัฐบาลเพื่อเก้าอี้ว่าการพลังงานกับว่าการคลังของฝ่ายการเมือง เพราะฉะนั้น การมาของคุณอาคมจึงเหมือนกับเนื้อเพลงว่า เธอมาได้ทันเวลาพอดี อย่างกับรู้ใจ

 

 

แต่หากย้อนดูภูมิหลังของ คุณอาคม แล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจ ถ้าจะบอกว่าคุณอาคม คือ ขุนนางนักวิชาการ หรือ เทคโนแครต ที่ก้าวมาคุมเศรษฐกิจของประเทศ กว่า 20 ปี ที่ไม่มีคนจากสภาพัฒน์ฯ มานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนสุดท้าย คือ คุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มาเป็นขุนคลังของรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 เพราะเหตุด้วยประสบการณ์การทำงานที่สภาพัฒน์ฯ ของคุณอาคม ที่หล่อหลอมให้เป็น “เทคโนแครต” อนาคตเศรษฐกิจไทยจึงไม่น่าจะเดายาก เพราะน่าจะกลับมาสู่เส้นทางที่เหล่าเทคโนแครตในสภาพัฒน์ฯ ประสงค์จะให้เป็นมาไม่น้อยกว่า 60 ปี

 

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ถือกำเนิดขึ้นจากการผลักดันของธนาคารโลก ที่คุมโดยประเทศสหรัฐอเมริกา หากย้อนไปสมัย พ.ศ. 2500 การเมืองระหว่างประเทศช่วงนั้นเป็นสมัยแห่งการต่อสู้กันระหว่างแนวคิดการปกครองสองระบอบ คือ ประชาธิปไตยที่ชูธงโดยสหรัฐอเมริกา กับคอมมิวนิสต์ ที่มีสหภาพโซเวียตหนุนหลัง  

 

และแน่นอน การขยายขอบเขตความร่วมมือในฐานะมิตรประเทศของทั้งสองฝ่าย ก็มีอย่างคึกคัก มิพักต้องกล่าวถึงความสำคัญประเทศไทยในมิติทางการปกครอง แม้จะอยู่ในระบอบสฤษดิ์ แต่สหรัฐอเมริกาต้องการมิตรที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในกิจการต่างๆ ของตนในภูมิภาคนี้ การลงทุนสร้างคนให้คิดแบบสหรัฐฯ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่หวังผลได้และลงทุนน้อยที่สุด รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อวางหลักการและระบบการคิดแบบตะวันตกไว้ให้


สภาพัฒน์ฯ ในช่วงเริ่มต้นของหน่วยงาน เพราะสภาพัฒน์ฯ ขาดแคลนบุคลากร มิเพียงเท่านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ทุนการศึกษาแก่รัฐบาลไทย เพื่อให้รัฐบาลไทยส่งคนไปศึกษาต่อทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการศึกษาระดับปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ ณ Williams College ซึ่งคุณอาคม ก็เป็นศิษย์เก่าที่นี่เหมือนกัน

 

ภายในระยะเวลานับแต่ตั้งหน่วยงานไม่นาน สภาพัฒน์ฯ ก็มีนักเรียนนอกจากอเมริกาเดินกันขวักไขว่ แต่ไฮไลท์มันอยู่ที่ หน่วยงานซึ่งได้รับการขนามนามว่า “มันสมองของรัฐบาล” มีจิตวิญญาญของทุนนิยมแบบตะวันตกอย่างเต็มเปี่ยม ข้าราชการสภาพัฒน์ฯ จึงเป็น “เทคโนแครต” ที่เชื่อว่า ตนเป็นเพียงผู้เดียวที่สร้างความเจริญแก่ประเทศไทยได้ และแนวทางของตนเป็นแนวทางที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อชาติเท่านั้น ผิดจากนี้...ไม่ใช่แน่นอน 

 

 

การวางแผนเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ฯ ตั้งแต่เริ่มต้นก็มุ่งเป้ายุทธศาสตร์การพัฒนาให้ประเทศไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีเต็มรูปแบบ โดยไม่สนใจรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและการพัฒนาในมิติอื่นๆ แม้แต่น้อย การนั่งวางแผนบนหอคอยงาช้างของบรรดาเทคโนแครต เน้นการให้ประชาชนได้รับสิ่งจำเป็นพื้นฐาน การพัฒนาแบบเปิดแนวนโยบายแบบตลาด ที่เน้นการไม่แทรกแซงระบบเศรษฐกิจจากภาครัฐ ตลอดจนการแปร รูปรัฐวิสาหกิจไปสู่ความเป็นเอกชน  

 

หรือกล่าวได้ว่า ประเทศไทยในสายตาของเทคโนแครตเหล่านี้ คือ ประเทศไทยที่มีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยภาคอุตสาหกรรม เพื่อการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมหนัก ความต้องการลดความสำคัญของภาค เกษตรกรรม และเพิ่มความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมนับเป็นความสำเร็จโดยแท้ของสภาพัฒน์ฯ 

 

ในช่วงของรัฐบาลประชาธิปไตยที่นำโดยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สภาพัฒน์ฯ เป็นคนเดียวที่บอกว่า ทรัพยากรควรจะถูกจัดสรรอย่างไร ก็ไม่น่าแปลก เพราะ พลเอกเปรม ใช้งานสภาพัฒน์ฯ สองเรื่อง คือ เรื่องแรก ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจที่เป็น “Think Tank” ของรัฐบาล 

 

และเรื่องที่สอง ในฐานะกันชนนักการเมือง สมัยรัฐบาลเปรม สภาพัฒน์ฯ จึงเสมือนเป็นเงาที่คอยควบคุมทิศทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาล โครงการต่างๆ ซึ่งเป็นโครงการเพื่อ สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศจึงเกิดขึ้นในยุคนี้ เช่น โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือของ ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค ความโดดเด่นของเทคโนแครตจึงขึ้นอยู่กับนักการเมือง รัฐบาลที่นักการเมืองไม่เก่ง เทคโนแครตก็สามารถชักจูงให้ดำเนินนโยบายตามที่ตนต้องการได้ แต่รัฐบาลที่นักการเมืองมีความสามารถ เทคโนแครตก็จะอยู่เฉยๆ และตะโกนในใจว่า “I shall return” ดั่งอมตะวลีของนายพลดั๊กลาส แมคอาเธอร์

 

คุณอาคมก็ไม่อยู่ในข้อยกเว้นเรื่องนี้ คุณอาคมเกิดจากระบบเทคโนแครต เติบโตเป็นเทคโนแครต และถึงจุดสุดยอดในชีวิตราชการของเทคโนแครตอย่างเลขาฯ สภาพัฒน์ฯ ย่อมมิอาจบอกว่า มิใช่เทคโนแครต เพราะฉะนั้น การมองปัญหาและแนวทางแก้ไขเศรษฐกิจจึงไม่แตกต่างจากที่เทคโนแครตมองตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี คงเป็นการพ้นวิสัยที่จะฝันถึงนโยบายที่จะแก้ไขและวางรากฐานเศรษฐกิจไทยให้แตกต่างจากอดีต  

 

แว่นตาของขุนคลังยังคงมองระบบเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์เชิงเส้นกับการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกสุทธิ เหมือนที่ท่านได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการคลังว่า ท่านจะดูแลเรื่องสภาพคล่องของภาคธุรกิจ การกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน การลดผลกระทบของภาคการท่องเที่ยว และการเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล เนื้อหาไม่มีความแตกต่างจากตำราของเทคโนแครตที่คุมเศรษฐกิจไทยในอดีต อนาคตของเศรษฐกิจไทยคงไปไม่ถึงเศรษฐกิจที่เทคโนโลยีและข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน 

 

ไม่มี และ ไม่ได้ และไม่แปลกใจ ถ้า Old technocrats never die ดั่งอมตะวลีของนายพลดั๊กลาส แมคอาเธอร์เช่นเดียวกัน