โครงสร้างครัวเรือนกับการได้รับ นมแม่และพัฒนาการเด็ก (จบ)

19 ส.ค. 2563 | 04:37 น.

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ หน้า 5 ฉบับ 3602 ระหว่างวันที่ 20-22 ส.ค.2563 โดย ผ.ศ.ด.ร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล, ร.ศ.ด.ร.กรรณิการ์  ดำรงค์พลาสิทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

จากบทความในสัปดาห์ที่แล้วพวกเราได้กล่าวถึงประเภทของโครงสร้างครอบครัวแบบต่างๆ ที่ได้ทำการศึกษาในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยครอบครัวทั้งหมด 8 รูปแบบ อันได้แก่ 1. ครอบครัวครบถ้วน 2 รุ่น (ครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูก) 2. ครอบครัวครบถ้วน 3 รุ่น (ครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกและรุ่นปู่ย่าตายายอาศัยอยู่ด้วย) 3. ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว 2 รุ่น (ครอบครัวที่มีแม่กับลูกโดยไม่มีพ่อ) ) 4. ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว 3 รุ่น (ครอบครัวที่มีแม่กับลูกและมีรุ่นตายายอาศัยอยู่ด้วย)

 

5. ครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว 2 รุ่น (ครอบครัวที่มีพ่อกับลูกโดยไม่มีแม่) 6. ครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว 3 รุ่น (ครอบครัวที่มีพ่อกับลูกและมีรุ่นปู่ย่าอาศัยอยู่ด้วย) 7. ครอบครัวที่ไม่มีพ่อแม่โดยเด็กอาศัยอยู่กับญาติหรือคนอื่นๆที่ไม่ใช่ปู่ย่าตายาย และ 8. ครอบครัวข้ามรุ่น (ครอบครัวที่เด็กอาศัยอยู่กับรุ่นปู่ย่าตายายโดยไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย) ซึ่งจากการศึกษาพบว่าในบริบทของประเทศไทยครอบครัวแบบครบถ้วน 2 รุ่นมีสัดส่วนสูงที่สุดที่ประมาณ 32% ตามมาด้วยครอบครัวแบบครบถ้วน 3 รุ่นซึ่งพบอยู่ที่สัดส่วน 30% และที่มากเป็นอันดับสามคือครอบครัวข้ามรุ่นพบที่ 16% ในส่วนของครอบครัวที่พบว่ามีสัดส่วนน้อยที่สุดคือครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว 2 รุ่นอยู่ที่ประมาณ 0.5% ของครอบครัวทั้งหมด

 

ในสัปดาห์นี้พวกเราจะมาเล่าให้ฟังถึงความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างครอบครัวที่เกริ่นไปข้างต้น กับผลลัพธ์ทางสุขภาพของเด็กไทยในสองประเด็นหลัก คือการได้รับนมแม่และพัฒนาการของเด็กค่ะ

 

ในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่พวกเราคนไทยเฉลิมฉลองเทศกาลวันแม่และเพลงที่เรามักจะได้ยินกันค่อนข้างบ่อยในช่วงเดือนนี้ก็คือเพลง “ค่าน้ำนม” ซึ่งความหมายหลักของเพลงนี้ก็คือ การที่แม่มีบุญคุณอย่างยิ่งในการเสียสละเลี้ยงดูลูกตั้งแต่เล็กจนโตรวมไปถึงการที่แม่ให้นมแม่แก่ลูกด้วย ซึ่งสำหรับประเด็นหลังนั้นเนื้อหาของเพลงค่อนข้างสอดคล้องกับผลงานวิจัยของพวกเราค่ะ

 

กล่าวคือในงานวิจัยนี้มีการศึกษาถึงผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับการได้รับนมแม่รวมทั้งสิ้น 3 ผลลัพธ์อันได้แก่  การที่เด็กเคยได้รับนมแม่หรือไม่ในช่วง 5 ปีแรกของชีวิต การที่เด็กอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 ขวบยังคงได้รับนมแม่อยู่ในปัจจุบันหรือไม่ และการที่เด็กได้รับนมแม่แต่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิตหรือไม่ (exclusive breastfeeding) ซึ่งสำหรับผลลัพธ์สุดท้ายนั้นเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้เสนอแนะไว้ว่าเด็กในช่วงอายุ 6 เดือนแรก ควรได้รับนมแม่แต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่จำเป็นต้องได้รับของเหลวหรืออาหารอื่นๆ เสริม

                                                                โครงสร้างครัวเรือนกับการได้รับ นมแม่และพัฒนาการเด็ก (จบ)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โครงสร้างครัวเรือน กับการได้รับนมแม่ และพัฒนาการเด็ก (1)

 

จากการประมาณการโดยใช้แบบจำลองทางสถิติซึ่งทำการควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัจจัยทางสังคม และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็ก รวมไปถึงโครงสร้างครอบครัวว่าเป็นรูปแบบใดนั้น งานศึกษาพบว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่ไม่มีแม่อาศัยอยู่ด้วย เช่น ครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว 2 หรือ 3 รุ่น ครอบครัวที่เด็กไม่ได้อยู่กับทั้งพ่อและแม่ และครอบครัวข้ามรุ่นนั้นเด็กมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเคยได้รับนมแม่ในช่วง 5 ขวบแรก และ มีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับ exclusive breastfeeding ในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต เมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีแม่อาศัยอยู่ด้วยทั้งในแบบครอบครัวสมบูรณ์และครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งเน้นย้ำนะคะว่าแม่นั้นมีบทบาทที่สำคัญมากต่อการที่ลูกจะได้รับนมแม่เพราะแม้ว่าเด็กจะอาศัยในครัวเรือนแบบเลี้ยงเดี่ยวแต่ถ้ามีแม่อยู่ด้วยก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการได้รับนมแม่เลย

 

สำหรับ exclusive breastfeeding นั้น งานศึกษายังพบด้วยว่าในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในครัวเรือน เด็กมักจะได้รับนมแม่ร่วมกับของเหลวอื่นๆ ในช่วง 6 เดือนแรกมากขึ้น ซึ่งก็จะไม่เป็นไปตามคำแนะนำของ WHO และจากการลงพื้นที่พูดคุยกับคุณแม่ที่มีลูกเล็ก งานศึกษาพบว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ คุณแม่ส่วนใหญ่ไม่สามารถให้นมลูกได้อย่างต่อเนื่องก็คือการต้องกลับเข้าไปทำงานหลังคลอดของแม่ แม้ว่าโดยกฎหมาย แม่ส่วนใหญ่จะได้สิทธิ์ลาคลอดถึง 3 เดือนก็ตาม และเมื่อกลับเข้าไปทำงานแล้ว ก็ยังขาดสถานที่ส่วนตัวสำหรับการปั๊มนมเพื่อเก็บไปให้ลูกด้วย

 

งานศึกษาของเราจึงต้องการเสนอว่าภาครัฐควรให้การสนับสนุนผลักดันนโยบายในการช่วยเหลือแม่ให้สามารถให้นมแม่แก่ลูกให้สำเร็จและต่อเนื่องได้ เช่น การขยายสิทธิการลาคลอดให้ทั้งกับแม่และพ่อ (เพื่อพ่อจะได้ช่วยดูแลลูกช่วงที่แม่ให้นมลูก)  การส่งเสริมนโยบายให้มีสถานที่ปั๊มนมในที่ทำงาน รวมไปถึงการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการให้นมแม่แก่สมาชิกคนอื่นๆในครัวเรือนของเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการไม่ให้ของเหลวอื่นๆแก่เด็กในช่วงอายุ 6 เดือนแรก

 

ในส่วนของพัฒนาการเด็ก งานวิจัยนี้แบ่งพัฒนาการเด็กออกเป็น 2 ประเภทคือ พัฒนาการทางปัญญา (cognitive development) และพัฒนาการทางพฤติกรรม (non-cognitive development) ซึ่งจากชุดข้อมูล ผู้วิจัยสามารถจำแนกเด็กว่ามีพัฒนาการทางปัญญาและพัฒนาการทางพฤติกรรมที่สมวัยหรือไม่ งานศึกษาพบว่าโครงสร้างครอบครัวมีผลไม่มากนักต่อพัฒนาการของเด็ก โดยเด็กในครอบครัวครบถ้วน 3 รุ่นมักจะมีพัฒนาการทางพฤติกรรมที่ด้อยกว่าเด็กในครอบครัวแบบอื่นๆซึ่งเราคาดว่าอาจเกิดจากการดูแลประคบประหงมตามใจเด็กที่มากเกินไปในครอบครัวประเภทนี้

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่งานศึกษานี้พบและเป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือเราพบว่าการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเด็กเล็กนั้น จะส่งผลเชิงบวกต่อการที่เด็กจะมีพัฒนาการทางสติปัญญาที่สมวัย แต่กลับส่งผลเชิงลบต่อการที่เด็กจะมีพัฒนาการทางพฤติกรรมที่สมวัย

 

งานศึกษายังพบอีกด้วยว่า การที่แม่อ่านนิทานให้ลูกฟังก็มีส่วนทำให้ลูกมีพัฒนาการทั้งทางสติปัญญาและทางพฤติกรรมที่สมวัยมากขึ้น ในส่วนของพ่อเองก็พบว่า มีส่วนช่วยให้ลูกมีพัฒนาการทางพฤติกรรมที่สมวัยมากขึ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่พ่อมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมนอกบ้านกับลูก เช่น การพาลูกไปเล่นที่สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือ การพาลูกไปพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น  และอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางสติปัญญาที่สมวัยมากขึ้นคือ การที่เด็กได้เข้าเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาล

 

ดังนั้น พวกเราจึงอยากเสนอว่าพ่อแม่ผู้ปกครองมีหน้าที่คอยสังเกตและควบคุมว่าบุตรหลานของท่านใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น มือถือ แท็บเล็ต เครื่องเล่นเกมส์ โทรทัศน์ ทำอะไรและดูสิ่งใด  ทั้งพ่อและแม่ควรร่วมทำกิจกรรมที่จะส่งเสริมพัฒนาการของลูกอยู่เป็นประจำ และจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ในสี่ภูมิภาคของประเทศไทย งานศึกษาพบว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของภาครัฐนั้นยังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มครัวเรือนในเขตเมืองที่ต้องประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายในสถานดูแลเด็กเล็กที่แพงมาก การเพิ่มศูนย์เด็กเล็กในทุกพื้นที่จึงเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง

 

จะเห็นได้ว่าแม่นั้นมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งต่อประเด็นสุขภาพในมิติต่างๆของลูก ดังนั้นจากมุมมองของผู้เขียนบทเพลง “ค่าน้ำนม” ที่กล่าวไว้ว่า “แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง” นั้น เป็นบทเพลงที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงและความสำคัญของแม่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเนื่องในเทศกาลวันแม่นี้พวกเราทุกคนก็ควรที่จะร่วมกันยกย่องและเชิดชู “แม่” รวมไปถึงภาครัฐเองก็สามารถมีส่วนช่วยในการผลักดันนโยบายต่างๆเพื่อสนับสนุน “แม่” ให้สามารถเป็น “ผู้ให้” ให้แก่ลูกได้อย่างเต็มที่และดีที่สุด