เลิกกินบุญเก่า ท่องเที่ยวไทย

26 ต.ค. 2562 | 02:00 น.

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,517 วันที่ 27-30 ตุลาคม 2562

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตร การกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยวได้กลายเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ทุกรัฐบาลนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเป็นวิธีที่ง่ายและเร็วที่สุดในการหารายได้เข้าประเทศแถมใช้เงินลงทุนไม่มาก นั่นเพราะประเทศไทยของเรามีทุนทรัพยากร ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์เป็นตัวช่วยสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามหากดูราย งานสถานการณ์การท่องเที่ยวที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอให้ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจที่พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพบ การท่องเที่ยวของไทยมีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง

ประเด็นแรกคือ อันความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวTravel & Tourism Competitiveness Report 2019” ของ World Economic Forum ที่จัดอันดับความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว 140 ประเทศทั่วโลก ในปี 2562 แม้ว่าในปี 2562 ประเทศไทยของเราจะมีอันดับเพิ่มขึ้น 3 อันดับ จากอันดับ 34 มาอยู่ที่ 31 ของโลก หรืออันดับ 3 ในกลุ่มอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ได้รับคะแนนรวม 4.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 7.0 คะแนน ปรับเพิ่มขึ้น 0.1 คะแนน

 

เลิกกินบุญเก่า  ท่องเที่ยวไทย

 

ดัชนีที่ไทยมีอันดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวดีที่สุด 3 อันดับแรก คือ ดัชนีทรัพยากรธรรมชาติ อยู่ที่อันดับ 10 ดัชนีโครงสร้างพื้นฐานบริการด้านการท่องเที่ยว อันดับ 14 และดัชนีการแข่งขันด้านราคา อันดับ 25 สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถการแข่งด้านการท่องเที่ยวของไทยเราที่ได้อันดับต้นๆ ของโลกนั้นมาจากฐานทรัพยากร หรือเรียกง่ายๆ ว่าบุญเก่าที่มีอยู่

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือดัชนีอันดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในระยะยาวของไทย โดยเฉพาะดัชนีความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม อยู่อันดับ 130 จาก 140 ประเทศทั่วโลก ดัชนีความมั่นคงปลอดภัย อันดับ 111 และสุขภาพและอนามัย อันดับ 88

 

 

 

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะชี้แจงว่าสาเหตุที่ดัชนีความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมของเราอยู่อันดับท้ายๆ ของโลก เพราะเราได้คะแนนดัชนีความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นดัชนีย่อยในดัชนีความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม น้อยเพียง 2.6 คะแนนจากคะแนนเต็ม 7 โดยปัจจัยที่สำคัญ คือ จำนวนมรดกทางวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ของประเทศ ไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมีน้อย เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียน โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพียง 3 แห่ง ได้แก่ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติ ศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

ขณะที่สถานที่ที่ได้รับขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในอนาคตมีจำนวนทั้งสิ้น 6 แห่ง เช่น อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารนครศรีธรรมราช เป็นต้น เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวฯจึงเสนอให้กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วม กันดำเนินการผลักดัน ในการเพิ่มจำนวนแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเพื่อให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพื่อเพิ่มอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านนี้ของไทย

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ คุณลักษณะของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จำแนกตามความถี่ในการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวประเภท First Visit กับ Revisit พบว่า นักท่องเที่ยวกลุ่ม Revisit มีสัดส่วนประมาณ 60% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยยังมีศักยภาพสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวซํ้าได้ แต่กลุ่ม First visit ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมากลับมีสัดส่วนลดลงต่อเนื่องและมีแนวโน้มการขยายตัวลดลงต่อเนื่องเช่นกัน

เช่นเดียวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พบว่านักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายต่อทริปที่ 49,141.58 บาทต่อทริป ลดลง 4.48% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว เนื่อง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การแข็งค่าของเงินบาท

ส่วนประเภทของการใช้จ่าย พบว่านักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายที่ 5,289.72 บาทต่อคนต่อวัน มีการใช้จ่ายเป็นค่าที่พัก 1,506.98 บาทต่อคนต่อวัน รอง ลงมาคือ การซื้อสินค้า (Shopping) ประมาณ 1,284.55 บาทต่อคนต่อวัน อาหารและเครื่องดื่ม 1,118.19 บาทต่อคนต่อวัน

ถึงตรงนี้พอจะเห็นกันแล้วว่าประเทศไทยของเรามีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนด้านการท่องเที่ยว ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องช่วยกันสร้างจุดแข็งและปิดจุดอ่อน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันกลายเป็นภาคส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย มีสัดส่วนรายได้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประมาณ 18-20%

 

เลิกกินบุญเก่า  ท่องเที่ยวไทย