วัดใจ ‘เอกนิติ’ จำกัดวงเงินลดหย่อน ลดเหลื่อมลํ้าภาษี

13 ต.ค. 2562 | 02:10 น.

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,513 วันที่ 13-16 ตุลาคม 2562

 

เสียงเรียกร้องปฏิรูประบบภาษีให้มีความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมลํ้าที่มีมาอย่างยาวนาน เริ่มมีสัญญาณเชิงบวกหลังเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศอธิบดีกรมสรรพากร ออกมาส่งสัญญาณว่ากรม สรรพากรอยู่ระหว่างศึกษาปรับปรุงรายการลดหย่อนและค่ายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะให้นํ้าหนักลดภาระภาษีแก่ชนชั้นกลางมากขึ้น จากปัจจุบันผู้มีรายได้สูงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากกว่า

อธิบดีกรมสรรพากรยอม รับว่า ค่าลดหย่อนและยกเว้นทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดทุกรายการรวมเป็นวงเงินสูงสุดที่ 2 ล้านบาท แต่คนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากค่าลดหย่อนนั้น คือ คนรวย 20% แรกของประเทศ ดังนั้น การปรับปรุงของกรมสรรพากร จะพิจารณาว่าค่าลดหย่อนใดที่ยังจำเป็นและค่าลดหย่อนใดที่ไม่มีความจำเป็นแล้วก็อาจจะตัดออกไป หรือค่าลดหย่อนบางรายการอาจปรับวงเงินลดหย่อนให้น้อยลง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหลายตัวที่ใช้ในปัจจุบันเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐในขณะนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปค่าลดหย่อนต่างๆกลับเพิ่มขึ้นเหมือนดินพอกหางหมู

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เคยจัดทำวิจัยเกี่ยวกับแนวทางการจำกัดการให้สิทธิ หักค่าลดหย่อนในภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อม ลํ้าในระบบภาษี พบว่าในช่วงปี 2535-2539 มูลค่าการลดหย่อนรวมสูงสุดที่ผู้เสียภาษีสามารถใช้สิทธิได้อยู่ที่ 100,000 บาท จากนั้นมูลค่าการลดหย่อนรวมดังกล่าวเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2549 เป็นยอดรวมประมาณ 1.7 ล้านบาท และในปี 2558-2559 มูลค่าการลดหย่อนยกเว้นรวมดังกล่าวลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท

วัดใจ ‘เอกนิติ’  จำกัดวงเงินลดหย่อน  ลดเหลื่อมลํ้าภาษี


 

 

แน่นอนว่าวงเงินหักค่าลดหย่อนที่เพิ่มขึ้นย่อมกระทบต่อรายได้การจัดเก็บของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ที่สำคัญการหักค่าลดหย่อนภาษีของประเทศไทย มีรายการลดหย่อนบางรายการที่ผู้ที่มีเงินได้สูงจะได้รับประโยชน์สูงกว่าผู้ที่มีเงินได้น้อย เนื่องจากผู้มีรายได้สูงหรือผู้ที่มีรายได้เหลือใช้เท่านั้นที่สามารถขอลดหย่อนรายการลดหย่อนดังกล่าวได้

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบรูปแบบการหักลดหย่อนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพบว่า ในประเทศไทยในช่วงระหว่างปี 2552-2556 พบว่าผู้เสียภาษีที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 3 แสนบาท มีการใช้สิทธิในการหักค่าลดหย่อนเกี่ยวกับการออมสูงที่สุด รองลงมาคือ ค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว และค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยกู้ยืมซื้ออสังหาริมทรัพย์ ตามลำดับ

โดยผู้เสียภาษีที่มีเงินได้สุทธิสูงกว่า 80,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ใช้สิทธิในการหักค่าลดหย่อนเกี่ยวกับการออม ค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว และค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยกู้ยืมซื้ออสังหา ริมทรัพย์ของจำนวนเงินที่ใช้สิทธิในการหักค่าลดหย่อนทั้งหมด คิดเป็น 75.36, 14.58 และ 8.92% ตามลำดับ

ในขณะที่ผู้เสียภาษีที่มีเงินได้สุทธิเกิน 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 20 ล้านบาท ใช้สิทธิในการหักค่าลดหย่อนเกี่ยวกับการออมสูงที่สุด แต่มีการใช้สิทธิในการหักค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับการลงทุนรองลงมา โดยมีการใช้สิทธิในการบริจาคเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามขั้นเงินได้ที่เพิ่มขึ้น และมีการใช้สิทธิในการหักค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในครอบครัวเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุด

ส่วนผู้เสียภาษีที่มีเงินได้สุทธิเกิน 20 ล้านบาท มีการใช้สิทธิในการหักค่าลดหย่อนเกี่ยวกับการบริจาคสูงที่สุด รองลงมาคือค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับการออม และค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับการลงทุน ตามลำดับ โดยใช้สิทธิในการหักค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในครอบครัวเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุด และคิดเป็น 0.90% เท่านั้น

 

งานวิจัยชิ้นนี้ได้วิเคราะห์แนวทางในการปรับปรุงค่าลดหย่อนด้วยการจำกัดการให้สิทธิลดหย่อนภาษี 5 แนวทาง ได้แก่ 1. การจำกัดสิทธิการหักค่าลดหย่อนฯ ให้ไม่เกิน 1,000,000 บาท 2. การจำกัดสิทธิการหักค่าลดหย่อนฯ ให้ไม่เกิน 700,000 บาท 3. การจำกัดสิทธิการหักค่าลดหย่อนฯ ให้ไม่เกิน 500,000 บาท 4. การจำกัดสิทธิการหักค่าลดหย่อนฯ ให้ไม่เกิน 25%ของเงินได้พึงประเมิน และ 5. การจำกัดสิทธิการหักค่าลด หย่อนฯ ให้ไม่เกิน 20% ของเงินได้พึงประเมิน

ผลจากการวิเคราะห์พบว่าวงเงินลดหย่อนรวมสูงสุดที่ 700,000 บาท เป็นวงเงินที่เหมาะสมที่สุด

อย่างไรก็ตามมาตรการกำหนดรายการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ใช่ปัจจัยหลักปัจจัยเดียวที่ส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าในระบบโครงสร้างภาษี แต่มีอีกปัจจัยสำคัญคือ การกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันในแต่ละประเภทของเงินได้ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้เงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน ส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าของโครงสร้างภาษีเมื่อประเมินจากภาระภาษีเทียบเงินได้พึงประเมิน

กรมสรรพากรควรจะนำงานวิจัยชิ่้นนี้ไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงค่าลดหย่อนพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมลํ้าในระบบภาษี

อย่าปล่อยทิ้งไว้บนหิ้งเหมือนงานวิจัยหลายๆ เรื่อง

 

วัดใจ ‘เอกนิติ’  จำกัดวงเงินลดหย่อน  ลดเหลื่อมลํ้าภาษี