CEO ดุสิตฯ แนะปี 66 ฟื้นท่องเที่ยว รับมือความขัดแย้ง-สงครามการค้า

05 ม.ค. 2566 | 09:50 น.

“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” CEO ดุสิตธานี มองเศรษฐกิจปี 2566 จำเป็นต้องฟื้นท่องเที่ยว ปรับตัวให้ทันพฤติกรรมคนเปลี่ยน พร้อมแนะรับมือความขัดแย้ง-สงครามการค้า

ดุสิตธานี” ชื่อนี้คุ้นหูคนไทยมายาวนานกว่า 70 ปี สำหรับแบรนด์โรงแรมหรูแห่งหนึ่งของประเทศไทยที่ตั้งตระหง่านย่านถนนพระราม 4 แต่ล่าสุดได้มีการปรับโฉมครั้งใหญ่ โดยปิด “โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ” ชั่วคราวเมื่อต้นปี 2562 เพื่อทุบและสร้างใหม่บนพื้นที่เดิมเป็น “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มูลค่ากว่า 46,700 ล้านบาท

 

โดย “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” จะประกอบไปด้วย โรงแรม เรสซิเดนส์ รีเทล และอาคารสำนักงาน ดูแลโดยบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” เป็น CEO หรือดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดุสิตธานี ที่มีประสบการณ์ทางด้านธุรกิจการท่องเที่ยวมานาน

 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดมุมมองในด้านเศรษฐกิจในปี 2566 ฐานเศรษฐกิจ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงหลากหลายธุรกิจ เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก และทิศทางในการดำเนินธุรกิจในปีนี้ ภายใต้หัวข้อ CEO Outlook 2023 หนึ่งในนั้นคือ การสำรวจความคิดเห็นของ CEO แห่ง “ดุสิตธานี” ซึ่งสะท้อนมุมมองด้านเศรษฐกิจออกมา ดังนี้

 

“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” CEO บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)

ในเรื่องของปัจจัยบวก ปัจจัยลบที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก และการดำเนินธุรกิจในปี 2566 รวมถึงการแข่งขันทางธุรกิจ นั้น “ศุภจี” มองว่า ปัจจัยบวกที่เห็นชัด คือ

 

สถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติและนักท่องเที่ยวกลับมาเดินทางอีกครั้ง แต่รูปแบบการเดินทางอาจจะเปลี่ยนไปในลักษณะของการเที่ยวแบบพักนานมากขึ้น (long stay) เพื่อให้การเดินทางคุ้มค่า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงขึ้น 

 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากการประชุม APEC ที่ทำให้ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพในการรองรับการท่องเที่ยวในรูปแบบที่สอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ ล่าสุด คือ การกลับมาฟื้นสัมพันธ์กับประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งช่วยเปิดตลาดท่องเที่ยวใหม่สำหรับประเทศไทยเพิ่มขึ้น เป็นต้น

 

“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” CEO บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)

ส่วนปัจจัยลบที่อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยตรงนั่นคือ ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมบริการ ต่อเนื่องมาถึงปัญหาต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นที่มาจากทั้งในส่วนของค่าไฟ พลังงาน และเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัย และยังมีปัญหาจากการแข่งขันในด้านราคา เพื่อดึงดูดลูกค้าให้กลับเข้ามา ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจท่องเที่ยวทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพของนักท่องเที่ยวในระยะยาว

 

CEO แห่ง “ดุสิตธานี” ยอมรับว่า แนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในปี 2566 มีสิ่งที่จำเป็นต้องดูคือ บริบททั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า รวมถึงแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป 

 

สำหรับธุรกิจ “ท่องเที่ยว” นั้น พบว่า มี 5 เทรนด์ของธุรกิจที่เปลี่ยนไป และเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเพื่อเตรียมความพร้อม ได้แก่ Technology, Wellness, Sustainability, Work Anywhere และ Local Experience ซึ่งแนวทางการรับมือของกลุ่มดุสิตคือ การกำหนดอัตลักษณ์ในการให้บริการของดุสิตฯ ให้ครอบคลุมกลุ่มต่าง ๆ

 

ขณะที่มุมมองต่อนโยบายภาครัฐ และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปีหน้า โดยมาตรการที่ต้องการให้รัฐบาล ส่งเสริม สนับสนุน เพื่อช่วยดูแลภาคธุรกิจให้สามารถเดินหน้าอย่างต่อเนื่องนั้น มองว่า ธุรกิจท่องเที่ยว จำเป็นต้องฟื้นฟูการท่องเที่ยวผ่านแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ซึ่งประเทศไทยมีเอกลักษณ์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย อาหาร และศิลปวัฒนธรรม 

 

อย่างไรก็ตามเห็นว่าประเด็นท้าทาย คือ เรื่องความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ผู้บริโภคมองหา คือ ความสะดวกสบาย ประสบการณ์ที่แตกต่าง และความคุ้มค่า จึงต้องสร้างจุดสมดุลเพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจไปต่อได้ และผู้ประกอบการก็สามารถไปต่อได้ ต้อง Win-Win สำหรับทุกคน 

 

“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” CEO บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาครัฐได้ให้การสนับสนุนการท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ส่วนสิ่งที่ควรส่งเสริมเพิ่มเติมในภาวะที่อุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัว จะครอบคลุมถึงเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

  • Less is more : ทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวไทย “ทำน้อยได้แต่มาก”เน้นการท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์แบบไทยที่เรียบง่าย แต่สัมผัสได้ถึงความลุ่มลึกของเสน่ห์แห่งการท่องเที่ยว  
  • Quality VS Quantity : เราต้องสร้างสรรค์การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ควบคู่ไปกับปริมาณนักท่องเที่ยว  ซึ่งจะเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวไทยอย่างมีนัยสำคัญ 
  • STORY come first : ในหลายๆ ประเทศใช้ “เรื่องราว” ที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวเล่าเรื่อง และดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว เป็นโจทย์ที่เราต้องคิดว่า STORY come first จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
  • Sustainability is a MUST and it comes with high investment : การสร้างความยั่งยืนเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ และเป็นโจทย์ที่เราต้องคิด เพื่อเดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างแท้จริง 
  • Travel with PURPOSE : สุดท้ายคือ เราต้องสร้างความหมายให้กับทุกการเดินทางของนักท่องเที่ยวและผู้คนทั่วโลก ซึ่งหมายรวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว การบริการ จะต้องตอบโจทย์ความต้องการหรือเป้าหมายในการเดินทางของผู้คนได้อย่างน่าประทับใจ