พลิกโฉม “เซ็นทรัลแล็บ” ดันรายได้ทะลุ 500 ล้าน หนุนสินค้าไทยผงาดโลก

27 ม.ค. 2567 | 02:19 น.

เปิดตัว“ชาคริต เทียบเธียรรัตน์” แม่ทัพบริหาร “เซ็นทรัลแล็บ” ลุยพลิกโฉมใหม่ ล้างภาพลบ ดันรายได้ทะลุ 500 ล้าน หนุนสินค้าไทยผงาดเวทีโลก

ย้อนกลับไปประมาณ 20ปีที่แล้ว “เซ็นทรัลแล็บ” หรือ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิต ภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหาร (LCFA) เกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2546 โดยรัฐบาลถือหุ้น 100% แบ่งเป็น กระทรวงการคลัง 49% และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 51% เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “เซ็นทรัลแล็บไทย”

“เซ็นทรัลแล็บไทย” ในยุคนั้น มีเรื่องร้องเรียนเรื่องพนักงานมีพฤติกรรมส่อทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง มีการล็อกสเปกทีโออาร์เพื่อเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย กระทั่ง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบหลักฐานความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อจัดจ้าง และเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ “กฎหมายฮั้ว” จึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนมูลความผิด ทำให้องค์กรเหมือนตกอยู่ในแดนสนธยา

 

 

กระทั่ง 4 ปีให้หลัง เซ็นทรัลแล็บไทย ได้พลิกโฉมใหม่ในบทบาทการเป็นตัวช่วยผู้ประกอบการของไทยได้เข้าถึงมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารในระดับสากล และนำเงินตราเข้าประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

พลิกโฉม “เซ็นทรัลแล็บ” ดันรายได้ทะลุ 500 ล้าน หนุนสินค้าไทยผงาดโลก

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ชาคริต เทียบเธียรรัตน์” กรรมการผู้อำนวยการ เซ็นทรัลแล็บไทย คนปัจจุบัน ถึงแนวคิดการพลิกโฉมเซ็นทรัลแล็บไทยให้เป็นห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือและระบบมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 มากกว่า 2,000 รายการทดสอบและรองรับงานทดสอบได้มากกว่า 4 แสนตัวอย่าง เป็นหนึ่งในผู้นำห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สินค้าให้กับกลุ่มผู้ประกอบการผู้ส่งออก กลุ่มธุรกิจการเกษตร SMEs OTOP วิสาหกิจชุมชน โดยมีสาขาให้บริการครอบคลุมทุกภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร สงขลา และกรุงเทพ (สำนักงานใหญ่)

 

ปรับภาพลักษณ์องค์กรโปร่งใส

นายชาคริต กล่าวว่า ในอดีต “เซ็นทรัลแล็บไทย” ถูกสังคมมองว่าเป็นแดนสนธยา ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องที่โกหก แต่ตนไม่ได้อยู่ในยุคนั้นจึงตอบไม่ได้ แต่ถ้ามองจากคนยุคนี้กลับไป แล้วมองคนที่อยู่ใกล้ตัว จะไม่ใช้คำว่าโกง แต่ถือว่าอ่อนการสื่อสาร เช่นการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ไม่สามารถบอกได้ว่าทำไมซื้อยี่ห้อนี้ ทำไมไม่ซื้อยี่ห้อนี้ที่ถูกกว่า แต่ถ้ามีที่มาที่ไปโดยเขียนอธิบายเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ได้ เชื่อว่าจะตอบโจทย์ หรือตอบคำถามได้

 

“ผมเข้ามาในช่วงปี 2563 ประวัติของเซ็นทรัลแล็บที่ได้ยินเป็นหน่วยงานที่มีภาพลักษณ์ที่น่ากลัว จำได้ว่าตอนสัมภาษณ์แสดงวิสัยทัศน์ มีคนถามว่าคุณรู้ใช่ไหมว่าจะต้องเข้ามาเจออะไร แล้วคุณทำใจไว้หรือยัง ซึ่งวันนั้นด้วยความที่เราเองก็อยากพิสูจน์ว่าเราทำงานได้ ก็บอกไปว่า “พอทราบ” และอยากทำ เพราะมีความรู้สึกท้าทายก็เป็นการพิสูจน์ทั้งตัวผมเอง บอร์ด และพนักงาน ที่ให้โอกาสผมตั้งแต่วันแรก จนถึงปัจจุบัน ก็มีความต้องการอยากช่วยกันทำให้องค์กรเดินไปข้างหน้า

 

 

ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 4 ปีที่เข้ามาบริหารงานก็เคลียร์ทุกอย่าง สตง. ก็ให้การรับรองงบฯ ดังนั้นในช่วงครบรอบ 21 ปีของเซ็นทรัลแล็บไทยในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ สามารถพูดได้เต็มปากว่า องค์กรนี้มีความโปร่งใสในระดับดีมาก คดีความต่าง ๆ ก็แทบไม่มีให้เห็นแล้ว วันนี้เซ็นทรัลแล็บสามารถเปลี่ยนสภาพจากจำเลย กลายเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาให้ข้อมูลกับศาลได้ในฐานะพยานให้กับผู้ประกอบการ เป็นอีกภาพหนึ่งที่ผมมองแล้วรู้สึกภาคภูมิใจ

พลิกโฉม “เซ็นทรัลแล็บ” ดันรายได้ทะลุ 500 ล้าน หนุนสินค้าไทยผงาดโลก

อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งส่วนตัวก็มีความเสียใจอยู่บ้าง จากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้เสียบุคลากรที่มีความสามารถไปหลายคน จากกลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต บางคนไม่อยากอยู่ต่อ ยอมรับว่ามีเลือดไหลออก ซึ่งก็ไม่โทษพนักงานที่ไม่อดทน แต่วันนี้บริษัทมีความมั่นคง เชื่อว่าปิดยอดขายปี 2566 น่าจะสูงเป็นอันดับ 2 ตั้งแต่ตั้ง “เซ็นทรัลแล็บ” มา โดยมีรายได้ทะลุ 500 ล้านบาท และจะต้องไปต่อให้ถึง 1,000 ล้านบาทให้ได้

 

เปิดรายได้หลัก-ลุยสู่ปีที่ 21

สำหรับรายได้หลักของเซ็นทรัลแล็บฯ ณ ปัจจุบัน มาจากการให้บริการตรวจรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 มากกว่า 2,000 รายการทดสอบ รองรับงานทดสอบได้มากกว่า 400,000 ตัวอย่างต่อปี สามารถให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์มาตรฐานสินค้าให้กับกลุ่มผู้ส่งออก แยกเป็นสินค้ากลุ่มอาหารสัดส่วน 71.16% และสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร 28.84% โดยได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากบริษัทมหาชนด้านการส่งออกอาหารจำนวนมาก รวมถึงให้บริการงานถ่ายโอนจากภาครัฐ

 

พลิกโฉม “เซ็นทรัลแล็บ” ดันรายได้ทะลุ 500 ล้าน หนุนสินค้าไทยผงาดโลก

ทั้งนี้ในปี 2567 ที่เซ็นทรัลแล็บไทยจะก้าวสู่ปีที่ 21ยังคงตอกยํ้าพันธกิจหลักในการสร้างมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ การสอบเทียบเครื่องมือด้วยความถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว สร้างความเชื่อมั่น และเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ด้วยผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือขั้นสูง ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์มาตรฐานสินค้าให้กับกลุ่มผู้ส่งออก รวมถึงผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งเซ็นทรัลแล็บไทยเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยประสบความสำเร็จและเติบโตในตลาดโลก

 

 

เซ็นทรัลแล็บไทยจะใช้ศักยภาพทางห้องปฏิบัติการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและเติบโตของโลกในรูปแบบ BCG (Bio-Circular-Green) รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร และสร้างรายได้ โดยมุ่งสร้างสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น อาทิ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายในต่างประเทศ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผ่านเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ โดยในวันงานครบรอบที่จัดขึ้นจะมีการจัดแพ็กเกจส่วนลดให้กับลูกค้า จะมีการพาชมห้องแล็บ พร้อมกับจะมีงานสัมมนาย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนในเรื่องนิวบิสซิเนส อาทิ เทรนด์สุขภาพ เป็นต้น” นายชาคริต กล่าวตอนท้าย

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,961 วันที่ 28-31 มกราคม พ.ศ. 2567