20 อุตสาหกรรม ผวาซ้ำรอยหมูเถื่อน นำเข้าทะลัก-ทุบราคาโหด

29 พ.ย. 2566 | 05:33 น.

20 กลุ่มอุตฯ ร้องยังถูกสินค้านอกถล่มตลาดหนัก ทั้งสำแดงเท็จ ไม่มีมาตรฐาน ลอบนำเข้า ขายราคาถูกกว่า 10-20% สภาอุตฯ ผวาซ้ำรอย “หมูเถื่อน” และต้องทยอยปิดตัวตามโรงงานเหล็ก จี้รัฐเร่งแก้ ด้านค้าออนไลน์ สินค้าจีนครองตลาดกว่า 50% ประมงร้อง สัตว์น้ำเพื่อนบ้านทะลัก ทุบราคาร่วง

เป็นกระแสข่าวครึกโครมหลังจากบริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด (BISW) ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 380 คน ผลจากหลายปีที่ผ่านมาบริษัทมีปัญหาขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนในวงการทราบกันดีว่าเป็นผลกระทบหลักจากสินค้าเหล็กราคาถูกจากหลายประเทศ ถูกส่งเข้ามาขายในราคาดัมพ์ตลาด จนเหล็กไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ต้องพากันลดกำลังผลิต ซึ่งปัจจุบันแม้กระทรวงพาณิชย์จะต่ออายุการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ออกไปอีก 5 ปี แต่ก็ช่วยไม่ได้มาก เพราะสินค้าเหล่านี้ใช้วิธีการหลายรูปแบบเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องชำระอากรเอดี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ยังมีสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศทะลักเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าเหล่านี้มีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศ 10-20% เป็นอย่างน้อย โดยนำเข้ามาทั้งที่ถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมายในลักษณะสำแดงเท็จ โดยไม่ต้องเปิดตู้สินค้า เป็นสินค้าที่คุณภาพต่ำ ไม่มีมาตรฐานเพราะไม่ต้องผ่านมาตรฐาน มอก. หรือมาตรฐานใด ๆ ของไทย สุ่มเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“ที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมเดียว แต่มีมากกว่า 20 อุตสาหกรรมตามที่เคยเป็นข่าว ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งจากที่เราได้มีการวิเคราะห์และพูดคุยกัน จะเป็นลักษณะเดียวกับการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ที่สำแดงเท็จเป็นสินค้าอื่น ใส่ตู้เข้ามาแล้วไม่มีการตรวจสอบ หรือตรวจสอบไม่รัดกุมและปล่อยเล็ดลอดเข้ามาถล่มตลาดในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยเสียหาย และสู้ไม่ไหวจนต้องปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งหมูเถื่อนที่นำเข้ามาจากหลายประเทศ พบส่วนใหญ่สินค้าหมดอายุ เลยเวลาบริโภคแล้ว และเสี่ยงไม่ปลอดภัยจากมีเชื้อโรคปนเปื้อน”

20 อุตสาหกรรม ผวาซ้ำรอยหมูเถื่อน นำเข้าทะลัก-ทุบราคาโหด

  • 20 กลุ่มอุตฯ ร้องระงม

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้รับการร้องเรียนความเดือดร้อนจากกรณีดังกล่าว จากสมาชิกมากกว่า 20 อุตสาหกรรมเข้ามาจำนวนมาก จึงอยากให้ผู้ที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ทั้งด่านศุลกากร ด่านชายแดน และอื่น ๆ ได้กวดขันดูแลการนำเข้าอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้เล็ดลอดนำเข้ามาได้ รวมทั้งการบังคับหรือตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ก่อนนำออกจำหน่ายในกรณีที่นำเข้าสินค้ามาแล้ว ในเรื่องนี้ต้องรีบเร่งเพราะไม่เช่นนั้นสินค้าเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทยในด้านการใช้กำลังการผลิตที่ลดลง ด้านยอดขายที่ลดลง และขาดทุนจนแบกภาระไม่ไหว และต้องปิดกิจการดังโรงงานผลิตเหล็กรายล่าสุด

 “ในส่วนของโรงงานผลิตเหล็กที่ปิดตัว เป็นสมาชิกเก่าแก่ของสภาอุตสาหกรรมฯ ที่ต้องปิดเพราะแข่งขันกับเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศที่เข้ามาตีตลาดจำนวนมากไม่ไหว ทำให้ขาดทุนสะสมมานาน ดังนั้นถ้าไม่รีบแก้ไขปัญหาตรงนี้ สินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศจะทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปีหน้าอาจจะมีผู้ประกอบการโรงงานต่าง ๆ ที่สายป่านไม่ยาวพอต้องปิดตัวลงด้วยสาเหตุเดียวกัน และจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างหนักในอนาคตได้”

ก่อนหน้านี้ ส.อ.ท.เผยว่า มีอย่างน้อย 20 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิกจาก 45 กลุ่มของ ส.อ.ท.ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าราคาต่ำเข้ามาถล่มตลาด ปัจจุบันผลกระทบก็ยังไม่ได้คลี่คลายลง โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าขยายตัวมากกว่า 10% ได้แก่ เครื่องจักรกลโลหะการ, เครื่องจักรกลการเกษตร, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องมือแพทย์, เคมี, แก้วและกระจก, อาหารและเครื่องดื่ม (เนื้อสัตว์), อัญมณีและเครื่องประดับ, เยื่อและกระดาษ, การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, ยานยนต์, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, ไม้อัด ไม้บาง, เซรามิก,หัตกรรมสร้างสรรค์, หล่อโหละ และเหล็ก ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่ขยายตัวระดับ 5-10% ได้แก่ พลาสติก และปิโตรเคมี

  • สินค้าจีนยึดตลาดออนไลน์

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.com กล่าวว่า มีการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากการขนส่งสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้พ่อค้าแม่ค้าจีน ยังอาศัยช่องทางการค้าเสรีนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายโดยไม่เสียภาษี โดยนำสินค้าเข้ามาเก็บไว้ในฟรีโซน ทั้งนี้แม้ว่าภาครัฐ จะมีมาตรการควบคุม โดยนำมาตรฐานอาหารและยา (อย.) หรือมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เข้ามากำกับดูแล เพื่อควบคุมสินค้าจีนที่ไม่มีมาตรฐานดังกล่าว แต่ปริมาณก็ไม่ได้ลดลง เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าจีน มีการจ้างคนไทยไลฟ์ขายของผ่านช่องทาง TikTok Shop ที่กำลังได้รับความนิยม

การเข้าทะลักเข้ามาของสินค้าจีนในภูมิภาคนี้รุนแรง ในบางประเทศเริ่มมีแอ็คชันป้องกันบ้างแล้ว อย่างในอินโดนีเซีย สินค้าจีนขายผ่าน TikTok Shop มากกว่า 50% รัฐบาลจึงมีมาตรการห้าม TikTok เปิดให้บริการ TikTok Shop ในอินโดนีเซีย แต่สามารถให้บริการได้เฉพาะโซเชียลเท่านั้น ส่วนในไทยคาดว่าสินค้าเกิน 50% ที่ขายบนออนไลน์เป็นสินค้าจีน ซึ่งรัฐจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาควบคุม เพราะถือเป็นภัยคุกคามผู้ประกอบการในประเทศ

ด้าน นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากสินค้าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่มีคุณภาพและราคาต่ำจากต่างประเทศแล้ว ในส่วนภาคประมงไทยก็ได้รับผลกระทบจากสินค้าสัตว์น้ำนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจนนับตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มปลาหมึก และปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง โดยนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ส่งผลทำให้สัตว์น้ำในประเทศราคาตกต่ำอย่างรุนแรง ชาวประมงออกทำการประมงไม่คุ้มทุนต้องขาดทุนกันเป็นจำนวนมาก