เอกซเรย์ "อุตสาหกรรมเหล็กไทย" ไตรมาส 3 /66

25 พ.ย. 2566 | 07:46 น.

ฐานเศรษฐกิจ เอกซเรย์ อุตสาหกรรมเหล็กไทย ไตรมาส 3 /66 หลังจาก "โรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด (บลกท.)" ประกาศเลิกจ้างพนักงานยกบริษัท จะพาไปดูความต้องการใช้เหล็กของไทย เทียบกำลังการผลิตในประเทศ และยอดการนำเข้าเหล็ก ย้อนดูประวัติการตั้งโรงถลุงเหล็กของประเทศ

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด (บลกท.) ได้ออกประกาศเลิกจ้างพนักงานยกบริษัท จำนวน 382 คน เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการเลิกจ้างพนักงานครั้งใหญ่ ของบริษัทผู้ผลิตเหล็กแท่ง(Billet) และจำหน่ายเหล็กรายใหญ่ของไทย ในจังหวัดสมุทรปราการ อายุกว่า 59 ปี

อุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมพื้นฐาน เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็น จํานวนมาก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ อาหารกระป๋อง(บรรจุภัณฑ์) เครื่องจักรกลและอุตสาหกรรมก่อสร้าง ฯลฯ แต่สถานการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจเหล็กไทยจำนวนหนึ่ง กลับไม่สามารถทำกำไรได้

ประกาศเลิกจ้างพนักงาน บริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด (บลกท.)

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กไทยในไตรมาสที่ 3 (Q3/66)ปี พ.ศ. 2566 

ยอดการบริโภคเหล็กสำเร็จรูปของไทย Q3/66

รวมทั้งสิ้น 4.04 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน(YoY) โดยแบ่งแป็น

  • เหล็กทรงยาว มีปริมาณอยู่ที่  1.55 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 7.8 (YoY) 
  • เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ (Bar & HR section)  มีปริมาณอยู่ที่  0.95 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 21.8 (YoY)
  • เหล็กทรงแบน มีปริมาณอยู่ที่ 2.49 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 1.2 (YoY)

การบริโภคเหล็กสำเร็จรูปของไทย Q3/66

ยอดการผลิตเหล็กสำเร็จรูปของไทย Q3/66

มีปริมาณอยู่ที่ 1.64 ล้านตัน ขยายตัว ร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งแป็น

  • เหล็กทรงยาว มีปริมาณอยู่ที่ 1.09 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 7.2 (YoY) 
  • เหล็กเส้น และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ (Bar & HR section) มีปริมาณอยู่ที่ 0.91 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 18.1 (YoY)
  • เหล็กทรงแบน มีปริมาณอยู่ที่ 0.55 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 7.7 (YoY)

การผลิตเหล็กสำเร็จรูปของไทย Q3/66

ยอดการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็ก Q3/66
ปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 3.53 ล้านตัน หดตัว ร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน
ของปีก่อน จำแนกได้ดังนี้

  • วัตถุดิบ (Raw material) อยู่ที่ 0.32 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 33.6 (YoY)
  • เหล็กกึ่งสำเร็จรูป (Semifinished Steel) อยู่ที่ 0.44 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 3.9 (YoY)
  • เหล็กสำเร็จรูป (Finished Steel) อยู่ที่ 2.77 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 0.3 (YoY)

โดยเป็นเหล็กทรงยาว 0.69 ล้านตัน (+5.1%YoY) และเหล็กทรงแบน 2.1 ล้านตัน(-2% YoY) สินค้าที่มีการนำเข้ามากที่สุดได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบ (Coated steel) เหล็กแผ่นรีดร้อน (HR sheet/Coil) และเหล็กแผ่นรีดเย็น (CR sheet)

ยอดการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็ก Q3/66

ปริมาณการส่งออกรวมทั้งหมดอยู่ที่ 0.56 ล้านตัน หดตัว ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำแนกได้ดังนี้

  • วัตถุดิบ (Raw material) อยู่ที่ 0.19 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 83.1 (YoY)
  • เหล็กกึ่งสำเร็จรูป (Semi-finished Steel) อยู่ที่ 13,000 ตัน หดตัวร้อยละ 83.3 (YoY)
  • เหล็กสำเร็จรูป (Finished Steel) อยู่ที่ 0.36 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 9.2 (YoY)

โดยสินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุดได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (Bar & HR section) รองลงมาคือท่อเหล็กมีตะเข็บ (Welded pipe) และเหล็กแผ่นรีดเย็น (CR sheet)

ยอดการนำเข้า ส่งออก ผลิตภัณฑ์เหล็ก Q3/66

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมเหล็กขั้นกลาง และขั้นปลาย โดยไม่มี อุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น(การถลุงเหล็ก) แม้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามส่งเสริมให้ก่อตั้งกิจการมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายส่งเสริมให้ก่อตั้งอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นน้ำจากสินแร่เหล็ก และส่งเสริมให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ก่อสร้างเตาถลุงเหล็กขนาดเล็กแบบใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิง แต่ท้ายที่สุดต้องปิดตัวลงเนื่องจากกิจการมีขนาดเล็กมาก ทำให้มีต้นทุนในการผลิตสูง จึงไม่สามารถแข่งขันกับเหล็กที่นำเข้าจากต่างประเทศได้